ตึกเก่า เล่าเรื่อง ย่านพระอาทิตย์

ตึกเก่า เล่าเรื่อง  ย่านพระอาทิตย์

หลายคนอาจไม่รู้ว่า ตึกเก่าที่สวยงามในกรุงเทพมหานคร ส่วนใหญ่เป็นฝีมือออกแบบโดยสถาปนิกชาวอิตาเลี่ยน

......................

หากใครมีโอกาสเดินย่ำเท้าดู ‘ตึกเก่า’ ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล อาจไม่รู้ว่า ตึกเหล่านี้เป็นทรัพย์สินของ ‘สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์’ บางส่วนปล่อยให้ประชาชนเช่าอยู่ บางส่วนให้ส่วนราชการและองค์กรในต่างประเทศเช่า 

      ตึกเก่าเหล่านี้สร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6  เนื่องจากเป็นยุคที่วัฒนธรรมตะวันตกเริ่มเข้ามาในเมืองไทย มีการจ้างช่างและสถาปนิกชาวตะวันตกก่อสร้างเป็นที่พักอาศัยของราชนิกูลหรือเจ้านายชั้นสูง


หากย้อนไปช่วงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) ช่วงที่การบริหารแผ่นดินยังไม่เป็นรูปเป็นร่าง ได้พระราชทาน คลังข้างที่ หรือเงินถุงแดง ข้างพระแท่นบรรทม เป็นทุนสำรองให้แ่ผ่นดินสำหรับใช้ในยามบ้านเมืองอยู่ในภาวะคับขัน 

กระทั่งเกิดวิกฤติ ร.ศ.112 ปีพ.ศ.2426 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 5 ประเทศสยามเกิดกรณีพิพาทกับฝรั่งเศส จึงนำ ‘คลังข้างที่’ มาสมทบชดใช้ค่าเสียหายและค่าประกันให้ฝรั่งเศส เพื่อไถ่บ้านเมือง และปีพ.ศ.2433 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทำงบประมาณแผ่นดิน และตั้ง ‘กระทรวงการคลัง’ ขึ้นเป็นครั้งแรก 

ส่วนปี พ.ศ.2479 ได้ตราพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ เพื่อบริหารจัดการอสังหาริมทรัพย์และการลงทุนต่างๆ อันเกี่ยวเนื่องกับทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ 

ด้วยเหตุผลดังกล่าว ตึกเก่าเหล่านี้จึงมีการบูรณะซ่อมแซมอยู่เรื่อยๆ เพื่ออนุรักษ์เอาไว้ เพราะเห็นคุณค่าทางสถาปัตยกรรมและประวัติศาสตร์

อาคารโค้ง 34 คูหา

เมื่อไม่นานนี้ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ได้จัดทำโครงการพานักศึกษาศิลปะ จากมหาวิทยาลัยศิลปากร มาทำกิจกรรม วาดตึกเก่า เล่าเรื่องกรุง โดยมีอาจารย์ด้านศิลปะ และผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์และสถาปัตยกรรม เป็นผู้เล่าเรื่องตึกเก่าและป้อมพระสุเมรุ ย่านถนนพระอาทิตย์

“ตึกเก่าในกรุงเทพฯ เกือบทั้งหมด 80 เปอร์เซ็นต์เป็นผลงานของสถาปนิกชาวอิตาเลียน อาคารโค้งๆ แบบนี้ นอกจากตึกแถวย่านถนนพระอาทิตย์ ยังสามารถเห็นตึกแถวแบบนี้ย่านเสาชิงช้า” สุวิชญ์ รัศมิภูติ ที่ปรึกษาด้านงานอนุรักษ์ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เล่า ขณะยืนอยู่บนชั้นสองป้อมพระสุเมรุ เพื่อดูความโค้งมนของอาคาร 34 คูหา

ในอดีตเคยมี ‘วัง’ ริมป้อมพระสุเมรุ ซึ่งเป็นที่ตั้งพระตำหนักสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ต่อมาพระราชทานให้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงจักรเจษฏา พระอนุชา เพื่อทรงช่วยดูแลรักษาพระนครทางด้านเหนือ และอาคาร 34 คูหาก็อยู่หน้าวังดังกล่าว ปัจจุบันอยู่ในความดูแลของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

ว่ากันว่า อาคารแนวโค้งต่อเนื่องระหว่างถนนพระอาทิตย์และถนนพระสุเมรุ (ถนนทั้งสองสายตัดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5)สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในช่วงที่ขยายเมืองได้มีการสร้างอาคารเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ และสร้างรากฐานความมั่นคงให้กรุงรัตนโกสินทร์

อาคาร 34 คูหา หลังคามุงกระเบื้องว่าว บานประตูไม้เป็นบานเฟี้ยม บานหน้าต่าง 2 ช่อง บานไม้แบบลูกฟักกระดานดุน มีช่องแสงเหนือขอบบนของหน้าต่างบานเกล็ดไม้ ผนังชั้นบนเรียบไม่มีเสาฝาผนัง ส่วนชั้นล่างมีชายคาปูนเป็นกันสาดคลุมทางเท้ายาวไปตลอดแนวอาคาร

ป้อมพระสุเมรุ

ถ้าจะพูดถึงตึกเก่าย่านถนนพระอาทิตย์ โบราณสถานอีกแห่งที่ต้องพูดถึง ก็คือ ป้อมพระสุเมรุ สร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เพื่อใช้เป็นป้อมปราการป้องกันเมืองสำหรับข้าศึกที่มาทางน้ำ

ป้อมในพระนครยุคดั้งเดิมมีทั้งหมด 14 ป้อม คือ พระสุเมรุ ยุคนธร มหาปราบ มหากาฬ มหาไชย มหาฤกษ์ มหายักษ์ จักรเพชร ผีเสื้อ พระอาทิตย์ พระจันทร์ วิสันธร เสือทะยาน และหมู่ทะลวง ปัจจุบันเหลือไว้เป็นอนุสรณ์เตือนใจคนไทย 2 แห่ง คือ ป้อมพระสุเมรุ และป้อมมหากาฬ

”เมื่อจะสร้างป้อมพระสุเมรุ ได้มีการเอาอิฐจากอยุธยาใส่เรือมาสร้างกำแพงเมืองด้วย เป็นอิฐที่แข็งแรงมาก ตอนนี้หาไม่ได้แล้ว กระทั่งมีการรื้อกำแพงเมืองในกรุงเทพฯ ออก และรื้อป้อมปราการออกไป เหลือสองแห่งเท่านั้น คือ ป้อมมหากาฬ และป้อมพระสุเมรุ“ คุณสุวิชญ์ เล่า

ส่วนถนนพระสุเมรุ สร้างสมัยรัชกาลที่ 5 เริ่มต้นจากป้อมพระสุเมรุริมแม่น้ำเจ้าพระยา ยาวขนานไปกับคลองรอบกรุง ไปถึงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ตลอดถนนพระสุเมรุ มีสถาปัตยกรรมที่สำคัญหลายแห่ง

ตึกเก่า เล่าเรื่อง

ในช่วงเปิดประเทศสมัยรัชกาลที่ 5 การก่อสร้างอาคาร บ้านเรือน วัดวาอาราม เริ่มมีการใช้ ‘คอนกรีตเสริมเหล็ก’ โดยช่วงแรกใช้ก่อสร้างเสา คาน และพื้นชั้นล่าง ส่วนพื้นชั้นบนยังคงใช้พื้นไม้ ตอนนั้นรูปทรงอาคารไม่ได้แตกต่างจากอาคารที่ใช้ระบบผนังรับน้ำหนักมากนัก กระทั่งช่างมีความเชี่ยวชาญมากขึ้น จึงสามารถทำโครงสร้างและรูปทรงซับซ้อนมากขึ้น เพราะได้เรียนรู้การออกแบบก่อสร้างแบบสากลจากช่างชาวตะวันตก ทั้งอิตาลี เยอรมนีและฝรั่งเศส

สำหรับสถาปัตยกรรมบนถนนพระอาทิตย์อีกแห่งต้องกล่าวถึง ก็คือ ทำเนียบท่าช้าง ตึกสีขาวสองชั้น บ้านหมายเลข 19 เดิมเป็นที่พักอาศัยของ ‘เจ้าพระยามหาโยธา’ ที่ตกทอดมายังพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศรวรฤทธิ์  และในพ.ศ.2485-2490 ทางรัฐบาลได้จัดให้อาคารหลังนี้เป็นที่พักของนายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์และใช้เป็นที่ทำการของผู้สำเร็จราชการ ปัจจุบันเป็นทรัพย์สินของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ โดยใ้ช้เป็นที่ประชุมของผู้บริหารระดับสูงของสำนักงาน

ส่วนตีกเก่าอีกแห่งที่งดงามมาก ก็คือ วังมะลิวัลย์ กำลังอยู่ในช่วงบูรณะซ่อมแซม เนื่องจากอาคารทรุดและเอียง วังแห่งนี้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์สร้างเป็นตำหนัก อาคารทรงยุโรปก่ออิฐถือปูน 2 ชั้น สร้างเสร็จในปีพ.ศ.2460 

โดยยุคแรก กรมวังพระนเรศรวรฤทธิ์ ประทับอยู่จนสิ้นพระชนม์ (พ.ศ.2460-2469)ส่วนยุคที่ 2 เป็นโรงเรียนสืบราชการลับ และศูนย์บัญชาการเสรีไทย (พ.ศ.2484-2488 ) และยุคที่ 3 เป็นที่ตั้งสำนักงานองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (พ.ศ.2490-ปัจจุบัน) 

“ที่ต้องบูรณะเนื่องจากอาคารทรุดเอียง เพราะตัวอาคารสร้างทับป้อมอิสินธร (คลี่พื้นที่โบราณ) ที่ถูกรื้อไปในสมัยรัชกาลที่ 5 แต่เมื่อปรับอาคารพบว่า อาคารแบ่งออกมาเป็นสองส่วน จุดแตกหักที่เชื่อมท้องพระโรงกับพระตำหนัก จึงต้องปรับระดับอาคาร เพราะต่ำกว่าถนนพระอาทิตย์ และต้องดีดอาคารให้สูงกว่าถนน”  กิติศักดิ์ อัครโพธิวงศ์ เจ้าหน้าที่บริหารโครงการ สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ กล่าว และสันนิษฐานว่า

วังมะลิวัลย์แห่งนี้ก่อสร้างโดยสถาปนิกอิตาเลียน สภาพผนังก่ออิฐสองชั้น มีช่องว่างระหว่างอิฐ เพื่อถ่ายเทความร้อนระหว่างผนัง มีีการใช้คอนกรีตเสริมเหล็กสองชั้น การประดับตกแต่งภายในอาคารได้รับอิทธิพลจากศิลปะขอม สังเกตได้จากปูนปั้นลายประดับ

“ตอนสำรวจอาคารปี 2552 พบว่าอาคารทรุดเอียงในลักษณะมุมทแยง โดยจุดที่เอียงมากที่สุดเป็นบริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตอนนี้ขนย้ายสิ่งของน้ำหนักเยอะออกจากอาคาร และเริ่มบูรณะซ่อมแซม" เจ้าหน้าที่บริหารโครงการ กล่าว 

 และเชื่อว่า เมื่อบูรณะเสร็จ คงจะเป็นอาคารอีกหลังที่งดงามไม่แพ้ตึกเก่าย่านอื่น เพราะแค่เห็นโครงสร้างในท้องพระโรง ก็รู้สึกถึงความอลังการ และความละเมียดละไมในการก่อสร้าง