ทุนไทยลงทุนนอกพุ่ง คาดปีนี้ทะลุ3.5แสนล.

ทุนไทยลงทุนนอกพุ่ง คาดปีนี้ทะลุ3.5แสนล.

"บีโอไอ" เผยปี 2559 ทุนไทยแห่ลงทุนนอก 4.9 แสนล้าน คาดปี 2560 ลดลงเหลือ 3.5 แสนล้านบาท เหตุมีโครงการขนาดใหญ่ออกไปลงทุนลดลง อาเซียนเนื้อหอมทุนไทยลงทุนมากสุด 2 แสนล้าน

นอกจากการดึงดูดการลงทุนต่างประเทศ ให้เข้ามาลงทุนในไทยแล้ว สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ยังมีภารกิจสร้างแรงจูงใจให้ทุนไทยออกไปลงทุนนอกประเทศ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับธุรกิจไทย วกกลับมาที่การสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยพบว่าที่ผ่านมามีอัตราเติบโตต่อเนื่องมูลค่าการลงทุนหลักหลายแสนล้านบาท โดยเฉพาะการลงทุนในภูมิภาคอาเซียน

นายโชคดี แก้วแสง รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยถึงสถานการลงทุนของไทยไปต่างประเทศ ว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ยอดการลงทุนของไทยไปต่างประเทศเพิ่มขึ้นจากหลักพันล้านดอลลาร์ เป็นกว่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์ โดยในปี2559 นักลงทุนไทยออกไปลงทุนต่างประเทศ14,277 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ4.9แสนล้านบาท (อัตราแลกเปลี่ยน 35 บาทต่อดอลลาร์) ซึ่งสูงกว่าปี2558ที่มีมูลค่าลงทุนประมาณ9,000 ล้านดอลลาร์ หรือ 3.1 แสนล้านบาท

ส่วนในปี2560ในรอบ5เดือนแรก (ม.ค.-พ.ค.) ทุนไทยออกไปลงทุนในต่างประเทศแล้วประมาณ6,000 ล้านดอลลาร์ คาดว่าทั้งปีจะมีมูลค่าการลงทุนประมาณ1หมื่นล้านดอลลาร์ หรือประมาณ3.5แสนล้านบาท ลดลงจากปีที่ผ่านมา เนื่องจากในปีก่อนมีโครงการขนาดใหญ่หลายโครงการออกไปลงทุน ทำให้มีตัวเลขสูงขึ้นมาก โดยไทยมียอดการลงทุนในอาเซียนเป็นอันดับ3รองจากสิงคโปร์ และมาเลเซีย

ทุนไทยแห่ลงทุนอาเซียนสูงสุด

โดยในปี2559 กลุ่มประเทศที่ไปออกไปลงทุนมากที่สุด คือ อาเซียน มีสัดส่วนเกือบ50%ของมูลค่าลงทุนทั้งหมด มีมูลค่า5,865ล้านดอลลาร์ หรือ2แสนล้านบาท แบ่งเป็น สิงคโปร์2,434ล้านดอลลาร์ ซึ่งสาเหตุที่เข้าไปลงทุนในสิงคโปร์มาก ก็เพราะมีความสะดวกในเรื่องของกฎหมาย และการทำธุรกรรมทางการเงินต่างๆ เพื่อใช้เป็นฐานเข้าไปลงทุนในประเทศอื่นๆ รองลงมาเป็นเวียดนาม1,197ล้านดอลลาร์ อินโดนีเซีย587ล้านดอลลาร์ เมียนมา 525 ล้านดอลลาร์ สปป.ลาว 412 ล้านดอลลาร์ กัมพูชา365ล้านดอลลาร์ มาเลเซีย216ล้านดอลลาร์ ฟิลิปปินส์125ล้านเดอลลาร์ อุตสาหกรรมไทยที่ออกไปลงทุนส่วนใหญ่จะเป็นกิจการผลิตในอุตสาหกรรมอาหาร เคมีภัณฑ์ ชิ้นส่วนยานยนต์ และเครื่องดื่ม รองลงมาเป็นธุรกิจค้าปลีก ค้าส่ง การเงินและการประกันภัย การทำเหมืองแร่ และก่อสร้าง

แนะเอสเอ็มอีลงทุนตามรายใหญ่

"ประเทศที่ทุนไทยน่าจะเข้าไปลงทุนมากที่สุด จะเป็นกัมพูชา เมียนมา สปป.ลาว และอินโดนีเซีย เพราะได้มีนักลงทุนรายใหญ่ของไทยเข้าไปลงทุนเป็นจำนวนมาก จึงเหมาะที่เอสเอ็มอีไทยจะเข้าไปขยายตลาดต่อยอดจากนักลงทุนไทยที่ได้เข้าไปก่อนแล้ว รองลงมาเป็นประเทศฟิลิปปินส์ เพราะยังมีอุปสรรคต่อการลงทุนในบางเรื่อง ส่วนมาเลเซียยอดการลงทุนไปมาระหว่าง2ประเทศใกล้เคียงกัน" 

ในส่วนของ บีโอไอ ได้เปิดอบรมหลักสูตร“สร้างนักลงทุนไทยในต่างประเทศ”มาแล้ว11รุ่น มีนักลงทุนผ่านการอบรมกว่า400ราย ปัจจุบันมีผู้ประกอบการ89รายไปลงทุนในต่างประเทศแล้ว และคาดว่าในปีนี้จะออกไปลงทุนอีกไม่ต่ำกว่า100ราย ซึ่งในสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็ได้นำนักลงทุนไทยรุ่น12และ13อีก70ราย เดินทางไปศึกษาโอกาสและลู่ทางการลงทุนในสปป.ลาวและเวียดนาม

นอกจากนี้ บีโอไอ ยังได้เข้าไปตั้งสำนักงานส่งเสริมการลงทุนไทยไปต่างประเทศที่กรุงจาการ์ต้า ประเทศอินโดนีเซีย และกรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักลงทุนไทยที่จะเข้าไปใน2ประเทศนี้ คาดว่าจะเริ่มดำเนงานได้ในช่วงต้นปี2561จากนั้นจะรวบรวมข้อมูลต่างๆ เพื่อกำหนดเป้าหมายการขยายตลาดใน2ประเทศนี้ต่อไป ส่วนประเทศต่อไปที่จะเข้าไปตั้งสำนักงานฯคือประเทศเมียนมา ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินงาน โดยจะส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปรวบรวมข้อมูลต่างๆก่อน โดยจะทำงานใกล้ชิดกับสถานทูตไทยในเมียนมา

ดันสินค้าไทยต้นทุนลดลง

นายโชคดี กล่าวว่า การเข้าไปลงทุนในอาเซียนจะทำให้สินค้าไทยมีต้นทุนการผลิตที่ลดลง เนื่องจากค่าแรงของไทยอยู่ระดับสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ขณะเดียวกันประเทศในอาเซียนมีอัตราการเติบโตสูงทำให้มีโอกาสทางธุรกิจมากขึ้น ซึ่งการลงทุนของไทยในอาเซียน จะนำผู้ประกอบการไทยไปสู่โอกาส 3 ด้าน ได้แก่ 1.โอกาสที่ธุรกิจไทยไปตั้งฐานการผลิต เพื่อแก้ปัญหาที่อุตสาหกรรมไทยมีอยู่ ทั้งด้านแรงงาน วัตถุดิบ และพลังงาน

2.โอกาสให้ธุรกิจไทยรุกเข้าถึงตลาดอาเซียนที่จะรวมกันเป็นตลาดเดียวในอนาคตซึ่งจะช่วยต่อยอดให้สินค้าไทยไปสู่ระดับอาเซียน และ3.โอกาสก้าวไปสู่ระดับภูมิภาค จากการที่อาเซียนจะเป็นศูนย์กลางของการรวมกลุ่มระดับภูมิภาค เช่น ความตกลงทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค ธุรกิจไทยก็จะได้รับประโยชน์จากอาเซียนในอนาคตได้อีก

แจงต้องเตรียมพร้อมลงทุนยาว

นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า ผู้ประกอบการที่ต้องการไปลงทุนในอาเซียน ต้องเตรียมพร้อมสำหรับการลงทุนระยะยาว เพื่อให้เข้าใจตลาดท้องถิ่นดีพอ ขณะเดียวกันธุรกิจควรมีสายป่านยาว และมีบริษัทแม่ที่ขายในไทยอยู่ก่อนแล้วเพื่อลดความเสี่ยงเนื่องจากกฎหมายของแต่ละประเทศเปลี่ยนแปลงบ่อย สิ่งสำคัญควรศึกษาตลาดของแต่ละประเทศที่จะไปลงทุนให้ดีเพราะพฤติกรรมของผู้บริโภคในการยอมรับสินค้าแต่ละชนิดแตกต่างกัน

เช่น อินโดนีเซีย จากการลงพื้นที่ศึกษาข้อมูลพบว่า ผู้ประกอบการไทยควรเข้าไปลงทุนเพื่อขายสินค้าในประเทศไม่ใช่เพื่อการส่งออกสินค้า เพราะตลาดในประเทศมีขนาดใหญ่และกำลังขยายตัวโดยเฉพาะในเกาะชวา อินโดนีเซียมีช่องทางจำหน่ายสินค้าที่ดี สามารถใช้ผู้แทนจำหน่ายในการช่วยกระจายสินค้าได้ กิจกรรมส่งเสริมการขายและทำการตลาด ควรใช้ช่องทางของสื่อโทรทัศน์เป็นหลัก สินค้าที่มีโอกาสเข้าไปลงทุนคือ ชิ้นส่วนยานยนต์

"เวียดนามใต้" การแข่งขันสูง

ตลาดเวียดนาม แบ่งออกเป็น3เขต คือ ภาคเหนือ กลาง และใต้ มีรูปแบบการทำตลาดที่ต่างกัน โดยมีการแข่งขันสูงในเวียดนามใต้ ผู้บริโภคเปลี่ยนแบรนด์สินค้าง่าย แต่เป็นตลาดใหญ่ที่สุด ขณะที่เวียดนามตอนกลางการแข่งขันยังไม่สูงมาก และมีตลาดขนาดใหญ่เนื่องจากชนชั้นกลางมีจำนวนมากขึ้น การเข้าไปลงทุน ควรมีพนักงานท้องถิ่นที่มีความสามารถในการประสานงานกับเจ้าหน้าที่รัฐท้องถิ่นเนื่องจากกฎระเบียบเปลี่ยนแปลงบ่อย ขณะที่เมียนมา เป็นประเทศที่นักลงทุนหลายชาติให้ความสนใจเข้าไปลงทุนเพราะมีการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ และเปิดเสรีมากขึ้น ปัจจุบันมีนักลงทุนมาก จึงมีความเสี่ยงสูง ซึ่งผู้ประกอบการที่จะเข้าไปลงทุนในเมียนมา ควรหาพันธมิตรทางการค้า โดยมุ่งไปที่ชนชั้นกลางในเมืองใหญ่