คราวด์ฟันดิงสไตล์ ‘ยักษ์โรโบติกส์’

คราวด์ฟันดิงสไตล์ ‘ยักษ์โรโบติกส์’

“เซ็นเซอร์นิกส์” พลิกกลยุทธ์สร้างนวัตกรรมภายใต้แบรนด์ "ยักษ์โรโบติกส์” รองรับความต้องการผลิตชิ้นงานต้นแบบของสตาร์ทอัพ

“เซ็นเซอร์นิกส์” พลิกกลยุทธ์สร้างนวัตกรรมภายใต้แบรนด์ "ยักษ์โรโบติกส์” รองรับความต้องการผลิตชิ้นงานต้นแบบของสตาร์ทอัพ เผยใช้หลักวิศวกรรมย้อนรอยลดไซส์เครื่องจักรผลิตแผ่นวงจรพิมพ์และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ขณะที่ราคาหลักสิบล้านเหลือไม่ถึงหลักล้าน ส่งไอเดียเข้าระดมทุนผ่านคราวด์ฟันดิงผลิตเครื่องจักรป้อนโรงงานอาหารที่ต้องการพึ่งพาระบบอัตโนมัติแทนแรงงานคน


วิศวกรรมย้อยรอยสู่นวัตกรรม


อนุชิต นาคกล่อม ผู้จัดการ บริษัท เซ็นเซอร์นิกส์ จำกัด ประกอบธุรกิจรับจ้างออกแบบและประกอบเครื่องจักรระบบอัตโนมัติ รวมถึงปรับปรุงระบบงานเครื่องจักร กล่าวว่า ได้เข้าร่วมโครงการวิศวกรรมเพื่อการสร้างสรรค์คุณค่าหรือวิศวกรรมย้อนรอย เพื่อสร้างเครื่องจักรสำหรับผลิตแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ใช้ในกลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมขนาดเล็กและ หุ่นยนต์ประกอบชิ้นส่วนนาฬิกา


บริษัทสนใจที่จะสร้างเครื่องจักรติดแบรนด์ของตนเอง โดยอาศัยกระบวนการวิศวกรรมย้อนรอยที่ปรับเพิ่มความสร้างสรรค์ให้มีความแตกต่างด้วยประสิทธิภาพที่ดีกว่า ยกตัวอย่างเช่น จากเดิมที่ทำเครื่องจักรผลิตแผ่นวงจรพิมพ์ เป็น 3 โมดูลมี 3 เครื่องจักรแยกกัน ซึ่งทำเลียนแบบเครื่องจักรขนาดใหญ่ แต่ย่อสเกลเพื่อทดแทนเครื่องจักรราคาแพง ซึ่งในอดีตมีราคา 10 ล้านบาทขึ้นไป แต่บริษัทสามารถผลิตรุ่นแรกได้ในราคาไม่ถึงหลักล้าน ฟังก์ชั่นเหมือนกันเพียงแค่ลดสเกลแล้วราคาก็ถูกลง ต่อมายุบรวม 3 เครื่องให้เหลือเครื่องเดียวในลักษณะทรีอินวัน เมื่อเครื่องมีขนาดเล็กลง ราคาจึงถูกลงและทำงานเร็วขึ้น รองรับกับเทรนด์อินเฮ้าส์แฟคเตอรี่ เมคเกอร์และสตาร์ทอัพ ที่ไม่ต้องการผลิตปริมาณมาก หรือต้องการผลิตชิ้นงานต้นแบบแค่ 1 -5 ชิ้น แต่มีมูลค่าสูง โดยไม่ต้องพึ่งพาโรงงานผลิต


"ยกตัวอย่าง แผงวงจรควบคุมในธุรกิจอาหาร มีปริมาณการผลิตต่ำหรือ 20-30 บอร์ดต่อครั้ง แม้จะต่ำกว่า 100 บอร์ด แต่กำไรดี ซึ่งบริษัทสามารถทำได้ดีกว่าโรงงานขนาดใหญ่ที่ต้องการออเดอร์ต่ำสุด 100 บอร์ดขึ้นไปและต้องเสียค่าปรับตั้งระบบการทำงานขั้นต่ำ 50,000 บาท ซึ่งไม่คุ้มสำหรับสตาร์ทอัพ แต่เราสามารถทำได้ ส่วนอีกเหตุผลหนึ่งคือ การทำต้นแบบครั้งแรกไม่รู้ว่าจะประสบความสำเร็จหรือไม่ อาจจะดีไซด์ผิดพลาดหรือรูปแบบอาจไม่ถูกใจ ทำให้ขาดทุนจากการผลิตมากแล้วขายไม่ได้ แต่เราสามารถผลิตให้ได้แค่บอร์ดเดียวแล้วทดลองประสิทธิภาพได้ทันที ถ้าทดสอบแล้วผ่านก็สั่งผลิตปริมาณมากๆ ได้ โดยที่ไม่ต้องไปเสียค่าเซตอัพเครื่อง”


อนุชิตอยู่ระหว่างการเสนอไอเดียเพื่อการระดมทุนในรูปแบบคราวด์ฟันดิง ภายใต้ชื่อยักษ์โรโบติกส์ (yakrobotics) ส่วนในเวอร์ชั่นสองของเครื่องจักร จะไม่ใช้หลักวิศวกรรมย้อนรอยแต่เป็นการถ่ายทอดเทคโนโลยี โดยฟังก์ชันยังคงเหมือนเดิมทั้งทรีอินวัน ขนาดเล็ก ราคาถูก ทำงานเร็วขึ้น เพื่อตอบโจทย์ผู้ใช้ให้ใช้งานง่ายได้ด้วยตัวเอง ไม่จำเป็นต้องเป็นวิศวกร เหมาะสำหรับนักประดิษฐ์ บริษัทขนาดเล็ก


โอกาสของระบบอัตโนมัติ


นอกจากนี้ บริษัทยังเตรียมเจาะกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารขนาดใหญ่ ที่ต้องการใช้ระบบการผลิตอัตโนมัติทดแทนแรงงานคน ซึ่งมีราคาแพง ด้วยขนาดที่เล็กจึงไม่คุ้มที่รายใหญ่จะเข้ามาเซกเมนต์อาหาร จึงเป็นโอกาสของบริษัทที่จะออกแบบระบบอัตโนมัติในโรงงานอาหารแปรรูป ปัจจุบันได้ออกแบบและพัฒนาระบบให้กับโรงงานอาหารรายใหญ่ เช่น โรงงานตัดหัวกุ้งเดิมไม่เคยมีใครทำมาก่อน แต่เซ็นเซอร์นิกส์ สามารถคิดค้นพัฒนาได้สำเร็จ หรือบางโรงงานที่มีไลน์การเรียงกระป๋องต้องการให้บริษัทช่วยสร้างไลน์อัตโนมัติเข้ามาทดแทนแรงงานคน


อนุชิต กล่าวว่า 5 ปีที่ผ่านมา รายได้ของบริษัทขึ้นอยู่กับโปรเจคของลูกค้า โดยเคยมียอดขายสูงสุดเฉลี่ยต่อปี 80 ล้านบาท ส่วนยอดขายต่ำสุดอยู่ที่ 40 ล้านบาท จึงพยายามลดความเสี่ยงด้วยการสร้างนวัตกรรมและแบรนด์ของตนเอง คาดว่าหลังจากเปิดตัวชิ้นงานผ่านช่องทางคราวด์ฟันดิง จะทำให้มีรายได้ถึง 100 ล้านบาท ในปี 2561


ทั้งนี้ โครงการวิศวกรรมเพื่อการสร้างสรรค์คุณค่า โดยศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ร่วมกับสมาคมเครื่องจักรกลไทย พัฒนาเครื่องมือและเครื่องจักรกลที่ใช้เทคโนโลยีด้านการผลิต เพื่อช่วยให้กระบวนการผลิตสินค้ามีความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ช่วยพัฒนาและเพิ่มคุณค่าวัสดุ/วัตถุดิบที่มีในประเทศ และลดการนำเข้าจากต่างประเทศ