'หุ้นทรู' แตะนิวโลว์ 4ปี

'หุ้นทรู' แตะนิวโลว์ 4ปี

หุ้นทรูแตะ "นิวโลว์" 4ปี เล็งขายสินทรัพย์เข้าอินฟราฯเพิ่ม

วานนี้ (16ส.ค.2560) ราคาหุ้นทรูคอร์ปอเรชั่น (TRUE) ปรับตัวลดลงแรง จนแตะระดับต่ำสุดรอบ 4 ปีที่ราคา 5.15 บาท ล่าสุดปิดตลาดที่ราคา 5.20 บาท ลดลง 5.45% มูลค่าการซื้อขายรวม 1}287 ล้านบาท หลังจากบริษัทรายงานผลประกอบการขาดทุนเพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันปีก่อน และไตรมาสแรกของปีนี้

จากการสำรวจความคิดเห็นของนักวิเคราะห์ประเมินว่า บริษัททรู มีภาระหนี้สินเพิ่ม และการเติบโตลูกค้าลดลง และคาดการณ์ว่า บริษัทเตรียมแผนขายสินทรัพย์เข้ากองทุนเพิ่มในเร็วๆนี้ อย่างไรก็ตาม ราคาหุ้นในปัจจุบันยังต่ำกว่ามูลค่าพื้นฐานหรือมูลค่าเป้าหมายที่โบรกเกอร์ประเมินไว้

บล.ทิสโก้ ระบุว่า การที่บริษัททรูรายงานผลประกอบการขาดทุน 1.24 พันล้านบาท ขาดทุนเพิ่มขึ้นจากขาดทุน 82 ล้านบาทในไตรมาส 2ปีก่อนและขาดทุน 1.15 พันล้านบาทในไตรมาสแรกของปีนี้โดยผลประกอบการดีกว่าตลาดคาดที่ขาดทุน 1.82 พันล้านบาท แต่แย่กว่าที่ฝ่ายวิจัยคาดที่ขาดทุน 691 ล้านบาท เนื่องจากจำนวนลูกค้าใหม่ลดลง ซึ้ง True Mobile มีลูกค้าเพิ่มขึ้น 4.24 แสนราย ลดลงจากไตรมาสก่อนที่เพิ่มขึ้น 1.23 ล้านราย แม้ว่าลูกค้า Postpaid จะเพิ่มขึ้น 2.35 แสนราย เทียบกับไตรมาสก่อนที่ 1.99 แสนราย แต่ ARPU รวมยังคงที่ แต่ ARPU ของ Postpaid ลดลงเป็น 486 บาท/เดือน จากเดิมที่ 500 บาท

ส่วนTrue Online รายได้ลดลง, แต่True Vision เพิ่มขึ้น ซึ่งรายได้ของ True Online ลดลง 1%จากงวดเดียวกันปีก่อนจากรายได้ของ fixed Voice ที่ลดลง แต่ชดเชยจากรายได้ของบรอดแบนด์ที่เพิ่มขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ARPU ของบรอดแบนด์ยังคงที่ 600 บาท/ราย/เดือน และลูกค้าเพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลง (8 หมื่นรายเทียบกับ 1.14 แสนรายในไตรมาสแรกของปีนี้) ด้าน True Vision มีรายได้เพิ่มขึ้น 3.5% แม้ว่าฐานลูกค้าจะได้รับผลกระทบจากการยกเลิก HBO สำหรับค่าเสื่อมและหนี้สินกดดันผลประกอบการ โดยแม้ว่ารายได้และ EBITDA จะเพิ่มขึ้น 37.8%จากงวดเดียวกันปีก่อน แต่ OPEX และค่าเสื่อมราคาที่เพิ่มขึ้นจากการขยายธุรกิจรวมถึง หนี้สินที่เพิ่มขึ้นเป็น 1.34 แสนล้านบาท เป็นปัจจัยกดดันผลประกอบการ ฝ่ายวิจัยคาดว่าทรูจะมีการขายสินทรัพย์เข้ากองทุนโครงสร้างพื้นฐานในเร็วๆนี้

บล.ทรีนีตี้ ประเมินว่า บริษัทประกาศผลการดำเนินงาน ขาดทุนสุทธิต่อเนื่องไตรมาสนี้มีผลขาดทุนเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนประมาณ 100 ล้านบาท ถ้าไม่นับรวมไตรมาสก่อนที่มีกำไรจากการประเมินมูลค่าทรัพย์สินโครงสร้าง ถือว่าผลประกอบการของบริษัทดีขึ้นจากไตรมาสนี้รายได้จากการให้บริการรวม (Ex IC) อยู่ที่ 24,021 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายในขายและบริหารลดลงเหลือ 8,397 ล้านบาท จาก 10,089 ล้านบาทในไตรมาสก่อน แต่บริษัทยังมีความเสี่ยงในการสูญเสียลูกค้าจากการยกเลิกช่อง HBO ยังคงมองว่าบริษัทยังคงเผชิญผลการขาดทุนต่อเนื่องจากภาระค่าตัดจำหน่ายที่เพิ่มสูงขึ้น

ถึงแม้ว่าจะได้เงินเพิ่มทุนมาช่วยลดภาระดอกเบี้ย แต่บริษัทยังคงต้องลงทุนสูงอีกอย่างต่อเนื่อง รวมถึงภาระหนี้ที่จะเพิ่มขึ้นอีก 4 ปีข้างหน้า เนื่องจากกระแสเงินสดไม่เพียงพอต่อการชำระค่าใบอนุญาตคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ และ 1800 เฮิรตซ์รวมแล้วกว่า 70,000 ล้านบาท

บล.เคจีไอ มีความเห็นว่า ทรูมีผลขาดทุนสุทธิในไตรมาส 2ปี2560 อยู่ที่ 1.2 พันล้านบาท จากที่ขาดทุน 1.1 พันล้านบาทในไตรมาสแรก และ 82 ล้านบาทในไตรมาส 2ปี2559 แต่อย่างไรก็ตาม ผลประกอบการใน ไตรมาส2ปี2560 ก็ยังดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์ว่าจะขาดทุนถึง 1.8 พันล้านบาท

ทั้งนี้รายได้ที่โตขึ้นในไตรมาส 2ปี2560 ถูกหักล้างโดยต้นทุนและค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ถึงแม้ว่ารายได้จะโตอย่างน่าประทับใจถึง 14%จากงวดเดียวกันปีก่อน เป็น 3.49 หมื่นล้านบาท จากการเติบโตของทุกธุรกิจ (มือถือ, อินเทอร์เน็ต และโทรทัศน์แบบบอกรับเป็นสมาชิก) แต่ผลประกอบการยังคงถูกกดดันจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้น 13% จากงวดเดียวกันปีก่อนเป็น 2.63 หมื่นล้านบาท ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารที่เพิ่มขึ้น 18%จากงวดเดียวกันปีก่อน เป็น 8.2 พันล้านบาท รวมทั้ง ค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น 37%จากงวดเดียวกันปีก่อนเป็น 1.6 พันล้านบาท

สำหรับฝ่ายวิจัยยังคงประมาณการปี 2560-2561 เอาไว้เท่าเดิม โดยผลขาดทุนในครึ่งปีแรกที่ 2.4 พันล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 54% ของประมาณการผลขาดทุนทั้งปี 2560 ทั้งนี้คาดว่าผลประกอบการในครึ่งปีหลังจะดีขึ้นเล็กน้อยจากรายได้ที่เพิ่มขึ้น แต่โดยรวมยังจะมีผลขาดทุนอยู่ ดังนั้นจึงยังคงประมาณการผลขาดทุนสุทธิปีนี้เอาไว้ที่ 4.4 พันล้านบาท และคาดว่าจะลดลงเหลือ 1.6 พันล้านบาทในปี 2561 ทั้งนี้มองว่าผลประกอบการปีนี้จะถูกกดดันเพราะเป็นปีแรกที่บริษัททรูต้องบันทึกค่าตัดจำหน่ายใบอนุญาตคลื่น 900เมกะเฮิรตซ์ (5 พันล้านบาท/ปี) และค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารที่คาดว่าจะยังทรงตัวอยู่ในระดับสูงเพื่อดึงดูดลูกค้าใหม่เข้ามาใช้บริการ