บริษัทจีนเร่งซื้อกิจการชาติ 'เส้นทางสายไหมใหม่'

บริษัทจีนเร่งซื้อกิจการชาติ 'เส้นทางสายไหมใหม่'

บริษัทจีนเร่งเข้าซื้อกิจการและควบรวมกิจการกับบริษัทอื่น ๆ ในประเทศที่เป็นส่วนหนึ่งของแผนริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” มากขึ้น ถึงแม้รัฐบาลจีนพยายามควบคุมเงินทุนไหลออกก็ตาม

ข้อมูลของทอมสัน รอยเตอร์ระบุว่า บริษัทจีนได้เข้าครอบครองกิจการในประเทศ 68 ประเทศที่เกี่ยวข้องกับแผนริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” เป็นมูลค่า 33,000 ล้านดอลลาร์นับตั้งแต่ต้นปีนี้จนถึงวันที่ 15 ส.ค. โดยยอดรวมนี้อยู่สูงกว่ายอดรวมของช่วงตลอดทั้งปี 2559 ที่ 31,000 ล้านดอลลาร์ แผนริเริ่มนี้ถือเป็นนโยบายต่างประเทศที่สำคัญของประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีน

แผนริเริ่มนี้ได้รับการเปิดเผยในปี 2556 และตั้งเป้าที่จะสร้าง "เส้นทางสายไหมยุคใหม่" โดยเชื่อมจีนทั้งทางบกและทางทะเลเข้ากับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้, ปากีสถาน, เอเชียกลาง, ตะวันออกกลาง, ยุโรป และแอฟริกา

ในการประชุมสุดยอดในเดือนพ.ค.ปีนี้ ประธานาธิบดีสีได้ให้สัญญาว่าจะจัดสรรเงิน 124,000 ล้านดอลลาร์ในการดำเนินแผนริเริ่มนี้ แต่นักลงทุนในโลกตะวันตกตั้งข้อสงสัยว่า แผนนี้อาจจะมีจุดประสงค์เพื่อขยายอิทธิพลของจีน แทนที่จะเป็นการกระจายความมั่งคั่งเหมือนอย่างที่รัฐบาลจีนระบุไว้

ถึงแม้บริษัทจีนเข้ามาลงทุนในประเทศต่าง ๆ ในแผนริเริ่มนี้มากยิ่งขึ้น ปริมาณเงินที่บริษัทจีนใช้ในการเข้าควบรวมกิจการในต่างประเทศกลับลดลง 42% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อน โดยตัวเลขนี้ครอบคลุมประเทศที่อยู่นอกแผนริเริ่มนี้ด้วย

รัฐบาลจีนดำเนินมาตรการเข้าหนุนค่าเงินหยวนในช่วงที่ผ่านมา โดยใช้วิธีจำกัดเงินทุนไหลออก และสกัดกั้นการซื้อกิจการโดยใช้เงินกู้ โดยมีจุดประสงค์เพื่อรับประกันเสถียรภาพทางการเงิน ดังนั้นผู้ซื้อกิจการจึงประสบความยากลำบากมากขึ้นในการขออนุมัติการเข้าซื้อกิจการในต่างประเทศ

ผู้ควบคุมกฎระเบียบของจีนได้เพิ่มความเข้มงวดนับตั้งแต่เดือนมิ.ย. โดยได้พิจารณาทบทวนข้อตกลงซื้อกิจการต่าง ๆ อย่างละเอียด และสั่งให้ธนาคารบางแห่งประเมินความเสี่ยงของตนเองที่เกิดจากการปล่อยกู้เพื่อเข้าซื้อกิจการในต่างประเทศ โดยเฉพาะการปล่อยกู้ต่อบริษัทขนาดใหญ่ ซึ่งรวมถึงบริษัทเอชเอ็นเอ กรุ๊ป, ต้าเหลียน แวนด้า กรุ๊ป และฝอซุน กรุ๊ป

ก่อนหน้านี้ บริษัทจีนได้ใช้เงิน 220,000 ล้านดอลลาร์ในการเข้าซื้อสินทรัพย์ในต่างประเทศในปี 2559 ซึ่งถือว่าสูงเป็นประวัติการณ์ โดยเข้าซื้อสตูดิโอภาพยนตร์และสโมสรฟุตบอลในยุโรปด้วย

อย่างไรก็ดี การเพ่งเล็งนี้ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการที่บริษัทจีนเข้าซื้อกิจการในเขตระเบียงเศรษฐกิจหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง เพราะการลงทุนดังกล่าวถือเป็นการลงทุนที่มีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ทั้งต่อบริษัทจีนและต่อเศรษฐกิจจีน

นายฮิลารี เลา ทนายความและหุ้นส่วนของบริษัทเฮอร์เบิร์ต สมิธ ฟรีฮิลส์กล่าวว่า นักลงทุนพิจารณาแนวโน้มระยะยาวเมื่อตัดสินใจลงทุนในประเทศที่อยู่ในโครงการหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง และว่า การเข้าซื้อกิจการเหล่านี้เป็นการทำตามนโยบาย และใช้เงินทุนที่จัดสรรโดยธนาคารจีนและกองทุนของรัฐบาลสำหรับโครงการหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง

บริษัทจีนทำข้อตกลงเข้าซื้อกิจการในประเทศกลุ่มนี้เป็นจำนวน 109 ข้อตกลงนับตั้งแต่ปีนี้ โดยเทียบกับ 175 ข้อตกลงสำหรับช่วงตลอดทั้งปี 2559 และเทียบกับ 134 ข้อตกลงในปี 2558

บรรดาทนายความและบริษัทที่ทำข้อตกลงระบุว่า ข้อตกลงของบริษัทจีนในการเข้าซื้อกิจการในประเทศกลุ่มนี้ได้รับการอนุมัติอย่างราบรื่น เพราะผู้ควบคุมกฎระเบียบมีแนวโน้มที่จะมองว่า ข้อตกลงดังกล่าวจัดอยู่ในกลุ่มที่แตกต่างจากข้อตกลงซื้อกิจการในประเทศนอกโครงการ

"หากคุณลงทุนในหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง คุณก็ควรจะระบุถึงเรื่องนี้ไว้ในประโยคแรกในเอกสารที่ยื่นให้หน่วยงานควบคุมกฎระเบียบ" ที่ปรึกษาด้านการลงทุนในบริษัทจีนแห่งหนึ่งกล่าว

ข้อตกลงที่ใหญ่ที่สุดที่ทำไว้ในปีนี้ในประเทศกลุ่มหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง คือการที่บริษัทจีนกลุ่มหนึ่งเข้าซื้อบริษัทโกลบัล โลจิสติกส์ พร็อพเพอร์ตี้ในสิงคโปร์ในวงเงิน 11,600 ล้านดอลลาร์

ส่วนข้อตกลงสำคัญอื่น ๆ รวมถึงการที่บริษัทไชน่า เนชั่นแนล ปิโตรเลียม คอร์ป ของรัฐบาลจีน เข้าซื้อหุ้น 8% ในบริษัทน้ำมันในอาบู ดาบีในวงเงิน 1,800 ล้านดอลลาร์ และการที่บริษัทเอชเอ็นเอ กรุ๊ปของจีนเข้าซื้อบริษัทซีดับเบิลยูที ลิมิเต็ดที่ทำธุรกิจโลจิสติกส์ในวงเงิน 1,000 ล้านดอลลาร์ แต่ข้อตกลงนี้ยังไม่เสร็จสมบูรณ์

นายเลากล่าวว่า การเข้าซื้อกิจการส่วนใหญ่ในกลุ่มประเทศหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง เป็นการเข้าซื้อกิจการในภาคพลังงานและภาคโครงสร้างพื้นฐาน และว่า มีการทำข้อตกลงจำนวนมากในระยะนี้ในอินโดนีเซีย, มาเลเซีย และเมียนมา ในขณะที่ศรีลังกา, อินเดีย และบังคลาเทศก็ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก เพราะประเทศกลุ่มนี้เป็นเส้นทางเชื่อมโลกตะวันออกกับโลกตะวันตก