‘สยามทบพัน’พลิกตัวรับดิจิทัล

‘สยามทบพัน’พลิกตัวรับดิจิทัล

QR Translator เทคโนโลยีบนบรรจุภัณฑ์ช่วยให้ผู้บริโภคเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายยิ่งขึ้น หรือบรรจุภัณฑ์มีกลิ่น Scent-Packaging เป็นเทคโนโลยีและเทคนิคใหม่ๆ

QR Translator เทคโนโลยีบนบรรจุภัณฑ์ช่วยให้ผู้บริโภคเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายยิ่งขึ้น หรือบรรจุภัณฑ์มีกลิ่น Scent-Packaging เป็นเทคโนโลยีและเทคนิคใหม่ๆ ที่ “สยามทบพันฯ” นำมาให้บริการคู่ค้า ย้ำบทบาทบรรจุภัณฑ์กลายเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างแบรนด์ให้กับสินค้านั้นๆ ไม่ใช่แค่ความสวยงามเท่านั้น เทคโนโลยีบนบรรจุภัณฑ์ หนึ่งในกลยุทธ์การปรับตัวของ “สยามทบพันแพกเกจจิ้ง” พร้อมๆ กับการโฟกัสลูกค้ากลุ่มอาหารเพิ่มเติมจากกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า และขยายฐานลูกค้าสู่เอสเอ็มอี/ธุรกิจอีคอมเมิร์ซจากภาคอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ตั้งเป้ารายได้ปีนี้ 1,500 ล้านบาท

จับฟู้ดส์-เอสเอ็มอีลดเสี่ยง

บริษัท สยามทบพันแพคเกจจิ้ง จำกัด ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ประเภทกล่องออฟเซทสำหรับอุตสาหกรรมรายใหญ่ โดยเฉพาะเครื่องใช้ไฟฟ้า มีสัดส่วนรายได้เป็นอันดับต้นๆ ต่อมาคู่ค้าในกลุ่มนี้เริ่มย้ายฐานการผลิตไปประเทศเพื่อนบ้านที่ค่าแรงราคาถูก ส่งผลให้รายได้ลดลง จึงต้องเปลี่ยนแผนการตลาดมาโฟกัสกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารซึ่งมีศักยภาพสูงในไทย ขณะเดียวกันในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา กลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็กที่จำหน่ายผ่านการค้าออนไลน์หรืออีคอมเมิร์ซเติบโตอย่างรวดเร็ว และเริ่มมาใช้บริการบรรจุภัณฑ์มากขึ้น จึงเป็นกลุ่มเป้าหมายใหม่ของบริษัท ล่าสุดชิมลางตลาดเซกเมนต์นี้โดยมีลูกค้า 30 ราย คิดเป็นสัดส่วนรายได้ 1% จากรายได้รวม แม้จะไม่มากแต่ถือเป็นสัญญาณที่ดีเพราะเป็นกลุ่มที่มีโอกาสเติบโตในอนาคต อาทิ ขนมเปี๊ยะ ข้าวแต๋น จากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนต่างๆ


"แนวโน้มการแข่งขันที่รุนแรงในทุกอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็น รายเล็กรายใหญ่ นอกจากการมีผลิตภัณฑ์ดีมีคุณภาพแล้ว บรรจุภัณฑ์ก็มีส่วนสำคัญในการสร้างมูลค่าให้กับสินค้านั้นๆ ได้อีกทางหนึ่ง” รัชนี ชัยชาติ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท สยามทบพันแพคเกจจิ้ง จำกัด กล่าว
ทั้งนี้ สยามทบพันฯ เป็นการร่วมทุนกันระหว่างบริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) (49%) กับบริษัท ทบพัน พริ้นติ้ง จำกัด (51%) ปัจจุบันสัดส่วนรายได้ของบริษัทจากลูกค้ากลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร 35% คอนซูเมอร์โปรดักส์ 20% เครื่องใช้ไฟฟ้า 15% ตั้งเป้ารายได้ปีนี้ประมาณ 1,500 ล้านบาท


นอกจากนี้ ปัจจุบันการพัฒนาอย่างรวดเร็วของดิจิทัลเทคโนโลยี ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในหลายมิติรวมถึงการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและทัศนคติของผู้บริโภค ที่ทำให้เทรนด์บรรจุภัณฑ์เปลี่ยนไป โดยยอดการสั่งผลิตต่อครั้งเล็กลงเนื่องจากความต้องการที่หลากหลายและมีขนาดเล็กลง อีกทั้งมีการเปลี่ยนดีไซน์บ่อยขึ้นหรือเฉลี่ย 6 เดือน-1ปี จากเดิม 4-5 ปี โดยเฉพาะสินค้าคอนซูเมอร์ หรือแม้กระทั่งเครื่องใช้ไฟฟ้า พร้อมกับใช้เทคโนโลยีในการบรรจุสินค้าแทนแรงงานคน ทำให้ลดเวลาและปลอดภัยมากขึ้น

เทคโนโลยีเปลี่ยนตลาด

ยกตัวอย่าง QR Translator (GRT) เทคโนโลยีที่ปรากฏอยู่บนบรรจุภัณฑ์ ทำหน้าที่อ่านและแปลข้อความในคิวอาร์โค้ดผ่านสมาร์ทโฟนให้เป็นภาษาที่ต้องการได้ถึง 15 ภาษารวมถึงภาษาไทย อีกทั้งสามารถช่วยกลุ่มผู้สูงอายุที่มีปัญหาสายตาเนื่องจากมีเสียงออกมาได้ด้วย
เทคโนโลยีนี้สามารถทำให้เจ้าของสินค้าสื่อสารกับผู้บริโภคได้สะดวกรวดเร็วขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องใช้พนักงานแนะนำผลิตภัณฑ์ รวมทั้งสาธิตผลิตภัณฑ์ หรือแม้แต่แนะนำบริษัทในกรณีที่มีผู้บริโภคหรือคู่ค้าสนใจอยากทราบประวัติความเป็นมาของบริษัทผู้ผลิตสินค้า เป็นต้น
ทุกวันนี้บรรจุภัณฑ์ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการจัดจำหน่ายสินค้า นอกจากจะทำหน้าที่ในการปกป้องสินค้าภายในแล้วยังช่วยในการส่งเสริมการขายอีกด้วย บรรจุภัณฑ์ที่มีรูปแบบที่น่าสนใจจะช่วยดึงดูดให้ผู้บริโภคเกิดความต้องการที่จะซื้อสินค้า ความต้องการของบรรจุภัณฑ์จึงมีมากขึ้นทั้งในด้านปริมาณ รูปแบบ และคุณภาพ


ความท้าทายของการผลิตบรรจุภัณฑ์ต่อจากนี้คือ การบริหารจัดการออเดอร์ของคู่ค้าที่มีขนาดเล็กลงทั้งปริมาณและขนาด เพื่อตอบโจทย์พฤติกรรมและกำลังซื้อที่เปลี่ยนแปลงไปให้มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยสร้างความแตกต่าง อาทิ การพัฒนาการตรวจสอบการลอกเลียนแบบบรรจุภัณฑ์ ซึ่งปัจจุบันผู้ผลิตสามารถตรวจสอบได้ แต่ผู้บริโภคยังไม่สามารถตรวจสอบได้ด้วยตนเอง แต่ในอนาคตมีความเป็นไปได้ที่ทำให้ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบได้โดยผ่านสมาร์ทโฟน เป็นต้น


สยามทบพันมุ่งพัฒนาสินค้าโดยเน้นการผลิตสินค้าที่สวยงาม แข็งแรงโดดเด่น ด้วยการนำเทคโนโลยีและเทคนิคในการผลิตใหม่ๆ มาใช้ในการผลิตสินค้า อาทิ การพิมพ์บน Metallized Paper พลาสติก ทำให้บรรจุภัณฑ์มีความโดดเด่น หรือสามารถเพิ่มการรับรู้ของผู้บริโภคด้วยประสาทสัมผัส โดยใช้เทคนิคการพิมพ์ที่ทันสมัยแบบ Emboss Look หรือบรรจุภัณฑ์มีกลิ่น ที่สร้างความแตกต่างจากบรรจุภัณฑ์ทั่วไปที่เชิญชวนให้ผู้ซื้อได้ทดลองกลิ่นและเร่งการตัดสินใจซื้อให้เร็วขึ้นอีกด้วย

...................

สำหรับผู้สนใจบรรจุภัณฑ์ สามารถไปชมงาน แพ็ค พริ้นท์ อินเตอร์เนชั่นแนล 2017 ระหว่างวันที่ 20 – 23 ก.ย.นี้ ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค