ไทยออยล์คาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมัน 14 - 18 ส.ค. 60

ไทยออยล์คาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมัน 14 - 18 ส.ค. 60

ราคาน้ำมันดิบคาดจะทรงตัว หลังปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐ คาดจะปรับลดลงต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 7

ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 47-52 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 49-54 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล


แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (14 – 18 ส.ค. 60)

ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้คาดจะทรงต่อเนื่องจากสัปดาห์ก่อนหน้า หลังปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐ มีแนวโน้มปรับตัวลดลงเป็นสัปดาห์ที่ 7 ติดต่อกัน โดยคาดว่าโรงกลั่นอาจคงกำลังการกลั่นในระดับสูง ประกอบกับ การนำเข้าน้ำมันดิบที่มีแนวโน้มปรับลดลงโดยเฉพาะจากซาอุดิอาระเบีย นอกจากนี้ ราคายังได้รับแรงหนุนจากการประกาศลดการส่งออกของซาอุดิอาระเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ในเดือนหน้า ประกอบกับยังต้องติดตามปริมาณการขุดเจาะน้ำมันดิบของสหรัฐ ที่คาดว่าจะชะลอตัวลงหลังผู้ผลิตปรับลดงบลงทุนในปีนี้ ตลอดจนแรงกดดันจากปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของลิเบียและไนจีเรียที่คาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:

- ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐ คาดจะปรับลดลงต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 7 ติดต่อกัน หลังโรงกลั่นในสหรัฐ เพิ่มกำลังการกลั่นขึ้นมาอยู่ที่ระดับสูงสุดในรอบ 12 ปี เพื่อรองรับความต้องการใช้น้ำมันในประเทศและภูมิภาคที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการนำเข้าน้ำมันดิบที่คาดจะปรับลดลง โดยสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐ สำหรับสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 4 ส.ค. ปรับลดลง 6.5 ล้านบาร์เรลมาอยู่ที่ระดับต่ำสุดในรอบ 11 เดือนที่ระดับ 475.4 ล้านบาร์เรล ซึ่งมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะปรับลดลง 2.7 ล้านบาร์เรล

- การผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐ มีแนวโน้มทรงตัวจากสัปดาห์ก่อนหน้า หลังผู้ผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐ เพิ่มการขุดเจาะอย่างต่อเนื่อง โดยเพิ่มแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบ 3 แท่นสำหรับสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 11 สค.ที่ผ่านมา มาอยู่ที่ 768 แท่น ซึ่งนับเป็นการปรับเพิ่มขึ้นเป็นครั้งที่สองในรอบสามสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่จัดเป็นการปรับเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ เนื่องจากผู้ผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐ ได้มีการปรับลดงบลงทุนในปีนี้ อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบที่ปรับเพิ่มขึ้นใกล้ระดับ 50 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล อาจจะส่งผลให้ผู้ผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐ เริ่มกลับมาเพิ่มการขุดเจาะน้ำมันดิบและส่งผลกดดันต่อราคาน้ำมันดิบอีกครั้ง

- ตลาดยังคงได้รับแรงหนุนต่อเนื่องจากการประชุมของผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปคในวันที่ 7-8 ส.ค. ที่ผ่านมา หลังกลุ่มประเทศสมาชิกในข้อตกลงได้แก่ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อิรัก คาซัคสถาน และมาเลเซียแสดงเจตจำนงพร้อมที่จะเพิ่มความร่วมมือในการปรับลดกำลังการผลิตให้เป็นไปตามข้อตกลง นอกจากนี้ ซาอุดิอาระเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ยังประกาศลดการส่งออกน้ำมันดิบในเดือน ก.ย.60 โดยซาอุฯ คาดจะปรับลดการส่งออกลง 520,000 บาร์เรลต่อวัน ในขณะที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์จะปรับลดการส่งออกลงร้อยละ 10 ของการส่งออกทั้งหมด

- ปริมาณน้ำมันเบนซินคงคลังสหรัฐ คาดจะปรับเพิ่มขึ้นและส่งผลกดดันต่อราคาน้ำมันดิบ หลังความต้องการใช้น้ำมันเบนซินมีทิศทางชะลอตัวลงหลังสิ้นสุดฤดูกาลขับขี่ของสหรัฐ ประกอบกับ ปริมาณการนำเข้าน้ำมันเบนซินของสหรัฐ มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นจากยุโรป หลังโรงกลั่น Shell ในเนเธอร์แลนด์ กำลังการผลิต 404,000 บาร์เรลต่อวัน คาดจะสามารถกลับมาดำเนินการได้ในเร็วนี้ โดย EIA รายงานปริมาณน้ำมันเบนซินคงคลังสหรัฐ สำหรับสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 4 ส.ค. ปรับเพิ่มขึ้น 3.4 ล้านบาร์เรล สวนทางกับการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ว่าจะปรับลดลง 1.5 ล้านบาร์เรล

- ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ยอดค้าปลีกและผลผลิตภาคอุตสาหกรรมจีน ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมยูโรโซน ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมและยอดค้าปลีกสหรัฐ 

สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (7 ส.ค. – 11 ส.ค. 60)

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลง 0.76 ดอลลาร์ มาอยู่ที่ 48.82 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ในขณะที่ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับลดลง 0.32 ดอลลาร์ มาอยู่ที่ 52.10 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 49.69 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล  หลังได้รับแรงหนุนจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐ ที่ปรับลดลง 6.5 ล้านบาร์เรลจากสัปดาห์ก่อนหน้า ซึ่งมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะปรับลดลง 2.6 ล้านบาร์เรล เนื่องจากโรงกลั่นในสหรัฐ ปรับเพิ่มกำลังการกลั่นขึ้นมาอยู่ที่ระดับสูงสุดในรอบ 12 ปี นอกจากนี้ราคาน้ำมันดิบยังได้รับแรงหนุนจากการประกาศลดการส่งออกน้ำมันดิบของซาอุดิอาระเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ในเดือน ก.ย.