บาท 'แข็งค่า' หนุน บจ.กำไร

บาท 'แข็งค่า' หนุน บจ.กำไร

บาทแข็งค่าหนุน "บจ.กำไร" ไตรมาส2กระเตื้อง

การที่บริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่รายงานผลประกอบการงวดไตรมาส 2 ปี 2560 มีกำไรที่ดีกว่าคาดและต่ำกว่าคาด ซึ่งนอกเหนือจากกำไรที่มาจากการดำเนินงาน หรือกำไรจาก   ธุรกิจหลักแล้วนั้น ยังมีกำไรพิเศษเกิดขึ้น โดยมีทั้งกำไรจากเงินลงทุน และกำไรจากการรับรู้จากอัตราแลกเปลี่ยน ทั้งนี้ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาเงินบาททยอยแข็งค่าขึ้นจนทุบสถิติในรอบหลายปี และเมื่อปิดงบการเงินไตรมาส2ที่ผ่านมาพบว่า บริษัทจดทะเบียนหลายแห่งได้รับอานิสงส์จากเงินบาทที่แข็งค่าและช่วยสนับสนุนกำไรปรับตัวเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ บริษัทจดทะเบียนรายใหญ่ที่ได้รับประโยชน์มากบ้างน้อยบ้าง โดยจากการสำรวจข้อมูลบริษัทที่รายงานงบการเงินมาพบว่าบริษัทที่มีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนสนับสนุนกำไรรวม อาทิ บริษัทปตท.จำกัด (มหาชน) PTT ในไตรมาส2 ปีนี้มีกำไรสุทธิรวม 3.13 หมื่นล้านบาท ขณะที่มีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 3.31 พันล้านบาท บริษัทผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) EGCO มีกำไรไตรมาส2 อยู่ที่ 3.53 พันล้านบาท มีกำไรอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 406 ล้านบาท บริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชนSPRC กำไรไตรมาส2 ปีนี้อยู่ที่ 1.59 พันล้านบาท มีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน 173 ล้านบาท และบริษัทผลิตไฟฟ้าราชบุรี โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) RATCH กำไรไตรมาส2ปีนี้ 2.2 พันล้านบาท มีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน 48 ล้านบาท เป็นต้น

ทั้งนี้ บล. โนมูระ พัฒนสิน ระบุในบทวิเคราะห์ว่า หุ้นกลุ่มที่ได้รับประโยชน์จากเงินบาทแข็งค่าเทียบดอลลาร์โดยทุกๆ 5% ที่แข็งค่าจะทำให้ฝ่ายวิจัยจะต้องปรับประมาณการกำไรของหุ้นกลุ่มสายการบินเพิ่มขึ้นและสูงกว่าที่คาดการณ์ นำโดย หุ้นBA เพิ่ม 65% และ AAV เพิ่มขึ้น 56% ตามมาด้วย TVO ที่มีสัดส่วนนำเข้าสูง กำไรจะดีขึ้นราว 2.5% และสุดท้ายกลุ่มนิคมอุตสาหกรรม จะได้รับประโยชน์เพราะมีเงินกู้เป็นเงินต่างประเทศ คือ AMATA, WHA สัดส่วนราว 10% และ 7%

ขณะที่บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง(ประเทศไทย)มีความเห็นว่า บริษัทปตท.มีกำไรสุทธิดีกว่าคาด ซึ่งรายงานกำไรสุทธิ 31,317ล้านบาท เพิ่ม 25.9%จากงวดเดียวกันปีก่อน ลดลงจากไตรมาสแรกปีนี้ 32.2% ซึ่งดีกว่าคาดส่วนใหญ่เป็นผลจากกำไรอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ( FX) และอัตราภาษีจ่ายที่ต่ำกว่าคาด หากไม่รวมรายการพิเศษ ส่วนใหญ่เป็นผลจาก FX 3,321ล้านบาท ทำให้กำไรจากการดำเนินงานเท่ากับ 28,413 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 7.9%จากงวดปีก่อน, ลดลง17.0%จากไตรมาสแรก) ใกล้เคียงคาดการณ์ของตลาดที่เฉลี่ย 27,640 ล้านบาท

ทั้งนี้ ผลประกอบการปกติลดลงจากไตรมาสแรกตาม EBITDA รวมที่ลดลง 16.1% กดดันจากทุกธุรกิจ ยกเว้นถ่านหิน บริษัทปตท.สผ. มี EBITDA ลดลง 14%เป็น 23,954 ล้านบาท จากต้นทุนผลิตที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นและปริมาณขายที่ลดลง ธุรกิจก๊าซฯ EBITDA ลดลง 2.7% เป็น 21,884 ล้านบาท กดดันจากธุรกิจโรงแยกก๊าซฯ ที่ราคาผลิตภัณฑ์อ้างอิงปรับตัวลง แต่ได้ชดเชยบางส่วนจากธุรกิจจัดหาและจัดจำหน่ายก๊าซฯ มีกำไรเพิ่มตามปริมาณและราคาขายธุรกิจน้ำมันมี EBITDA 4,541ล้านบาทลดลง 23.4%ตามปริมาณขายที่ลดลง5.6% เป็น6,360ล้านลิตรอีกทั้งยังมีผลขาดทุนจากสต็อกเพิ่มขึ้นเป็น ลดลง466 ล้านบาท จาก ลดลง 183 ล้านบาทในไตรมาสแรก ธุรกิจปิโตรเคมีและโรงกลั่น EBITDA ลดลง31.3% เป็น22,355ล้านบาทตามAccounting GRM ที่ลดลง42.9% เป็น3.4 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลธุรกิจถ่านหิน EBITDA เพิ่มขึ้น 47%ไตรมาสแรกปีนี้เป็น1,809 ล้านบาทตามปริมาณขาย

แนวโน้มผลประกอบการไตรมาส3ปีนี้คาดทรงตัวจากไตรมาส2 แม้ผลประกอบการกลุ่มโรงกลั่นและปิโตรเคมีคาดปรับตัวดีขึ้นตามค่าการกลั่นและส่วนต่างปิโตรเคมี แต่กำไรธุรกิจสำรวจและผลิตมีแนวโน้มลดลง ตามราคาขายน้ำมันและก๊าซฯ และต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น ผลประกอบการปกติ ครึ่งปีแรกคิดเป็น 65.8% ของประมาณการ แต่เบื้องต้นยังคงประมาณการไม่เปลี่ยนแปลง

ขณะที่ บล.ฟินันเซียไซรัส ระบุว่ากำไรปกติไตรมาส 2ปีนี้ บริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยโดยรวมปรับลดลง19% จากไตรมาสแรกปีนี้ และลดลง12%จากงวดเดียวกันปีก่อน ส่วนใหญ่เพราะ Stock loss ของกลุ่ม Commodity (พลังงาน ปิโตรเคมี เหล็ก) ตรงข้ามกับไตรมาสแรกปีนี้ และไตรมาส 2ปี 2559 ที่มี Stock gain จำนวนมาก หากดูเฉพาะกำไรปกติของกลุ่ม Non-commodity พบว่าลดลง 26%จากไตรมาสแรก เพราะฝนมาเร็วกว่าปกติ และ ลดลง 7%จากงวดเดียวกันปีก่อน ฉุดโดยกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม สายการบิน อสังหาฯ มือถือ และโรงพยาบาลขนาดเล็ก เมื่อมองไปข้างหน้าเราพบ 3 กลุ่มเสี่ยงคือ อิเล็กทรอนิกส์ สายการบิน และเครื่องดื่ม ส่วน 3 กลุ่มแกร่งคือ โรงแรม โรงพยาบาล และมือถือ ทั้งนี้ ฝ่ายวิจัยยังชอบกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากการลงทุน (แบงก์ รับเหมา วัสดุก่อสร้าง)