ความรักที่หล่นหายไป วัฒนีพร ปั้นมณี

ความรักที่หล่นหายไป  วัฒนีพร ปั้นมณี

ผู้หญิงธรรมดาๆ ที่ผันตัวจากก็อปปี้ไรเตอร์มาเป็นแม่บ้าน และเธอเลือกที่จะเรียนรู้ตนเองและผู้อื่น

............

คนเราคิดและทำอย่างไร ชีวิตก็เป็นอย่างนั้น เหมือนเช่น แป๋ว-วัฒนีพร ปั้นมณี เจ้าของเพจ ตาแป๋วมองโลก ปัจจุบันเธอมีผลงานหนังสือสองเล่มคือ แม่บ้านตะกอนคะนอง และ 16คนผู้เปลี่ยนโลก (สำนักพิมพ์โพสต์ พับลิชชิ่ง จำกัด)

เธอไม่ใช่คนดัง ไม่ได้เป็นนักคิด แต่เป็นนักเรียนรู้ที่พยายามทำความเข้าใจตนเองและผู้อื่น โดยเฉพาะการใคร่ครวญชีวิต และการทำความเข้าใจกับผู้สูงวัยคือ บุพการี นอกจากดูแลทางกาย ยังต้องดูแลทางใจ ขณะที่หลายคนบอกว่า คนเราต้องตายดี เธอบอกว่า ต้องอยู่ดีด้วย

ก่อนหน้านี้ วัฒนีพร เคยเป็นครูสอนเปียโน เลขานุการ และก็อปปี้ไรเตอร์อยู่ 12 ปี จากนั้นออกมาเป็นแม่บ้านเลี้ยงลูก ว่างก็บันทึกเรื่องราว จนกลายเป็นหนังสือสองเล่ม

เธอมาร่วมเล่าประสบการณ์การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายในงาน Happy death day เพราะมีโอกาสดูแลพ่อที่ป่วยระยะสุดท้ายและแม่ในยามแก่เฒ่า

 

1.

จากก็อปปี้ไรเตอร์ผันตัวมาเป็นแม่บ้าน มองดูใบไม้ร่วง ทำความสะอาดบ้าน คิดเมนูให้ลูกๆ กินในแต่ละวัน และนั่นทำให้เธอต้องตั้งคำถามกับชีวิต

 “ตอนเป็นแม่และแม่บ้าน ไม่มีอะไรยืนยันคุณค่าในตัวเรา แต่ลูกได้เวลาจากเราเต็มที่ ตอนนั้นไม่แน่ใจว่า คุณค่าของเรายังอยู่หรือเปล่า เพราะการยอมรับของคนทั่วไป น่าจะมาจากนามบัตร ” แป๋ว เล่า

แม้จะเข้าใจดีว่า สถานภาพเป็นเพียงเปลือกนอก แต่ก็อดหวั่นไหวไม่ได้ เธอจึงเรียนรู้ในสิ่งที่อยากรู้ โดยเฉพาะเรื่องภายใน และมีโอกาสเข้าคอร์สการเผชิญหน้ากับความตายในช่วงทำงาน

กับคุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์ในบริษัทชีวามิตร วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด 

“ความรู้สึกตอนเป็นแม่บ้านว่างเปล่า เพราะเรายอมให้สิ่งภายนอกกำหนดคุณค่าตัวเรา ไม่ว่าเรื่องเงินเดือน ตำแหน่งหรือการทำงานในองค์กรดีๆ เมื่อคิดแบบนี้ เลยรู้ว่าตัวเองกำลังทุกข์ ไปปฎิบัติธรรม ซึ่งถือว่าเป็นที่พึ่งสุดท้าย ต้องยอมรับ พระพุทธเจ้ามีทางให้เราจริงๆ “

ใช่ว่าธรรมะจะปลดล็อคให้ชีวิตได้ทันทีี คนเราต้องเรียนรู้เรื่องอื่นๆ ด้วย ยกตัวอย่าง ตอนเธอไปเรียนรู้ในโรงเรียนพ่อแม่ลูก เธอบอกว่า วิทยากรให้ออกมาขอบคุณและขอโทษคนที่มีความหมายกับชีวิตเรา เธอนึกถึงพ่อ

“เราเคยเข้าใจว่า พ่อไม่รัก พ่อไม่ดีที่มีภรรยาหลายคน เราพบว่า เรามีปมกับพ่อ วิทยากรก็บอกว่าให้โทรไปคุยกับพ่อ ให้ขอบคุณที่เลี้ยงดูและขอโทษที่เราดื้อกับพ่อ พอคุยกับพ่อ ปรากฎว่า พ่อไม่ได้เกลียดเรา เราอยู่กับความไม่รักพ่อมาเป็นสิบๆ ปี “

 

2.

เพราะเธอไม่ปล่อยให้สิ่งที่ค้างคาในใจ กลายเป็นแผลใหญ่ จนยากจะเยียวยา เธอเลือกฟื้นฟูความสัมพันธ์กับพ่อ ในช่วงพ่อของเธอชราภาพและป่วย

 “ตอนพ่อป่วย ไม่ยอมบอกลูกๆ คนไหนเลย เราก็ไปเยี่ยมพ่อ กอดเขา ครั้งนั้นรู้สึกถึงความรัก ตอนพ่อเข้าโรงพยาบาลอายุ 86 แล้ว เพื่อนๆ ก็บอกว่าปล่อยให้เขาไปเถอะ แต่เรามองว่าแม้เขาจะแก่ แต่ยังมีแววตาที่อยากจะมีชีวิตอยู่ต่อไป”

เมื่อเรียนรู้เรื่องการเผชิญหน้ากับความตายและการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย ก็ต้องสังเกต ใส่ใจ จังหวะที่พ่อของเธอกำลังจะเข้าห้องผ่าตัด เป็นหรือตาย ไม่อาจคาดเดาได้ วินาทีนั้นเธอรู้ว่า พ่อต้องการลูก

“ครั้งนั้นพ่อรอดมาได้ ลูกๆ ก็ช่วยกันดูแลพ่อที่บ้าน จนพ่อได้ฉลองวันเกิดปีที่ 87 เราสู้เพื่อให้เขาอยู่ จะเรียกว่ายื้อก็ได้ แต่ไม่ได้มีคุณภาพชีวิตที่แย่ เพราะเมื่อพ่อชรามาก ปอดก็มีปัญหา จากพ่อที่เข้มแข็งแบบตำรวจกลายเป็นพ่อที่อ่อนโยน พ่อเคยบอกว่า แป๋วช่วยเอาศีรษะมาไว้ที่หัวใจของพ่อด้วย แล้วเขาก็ลูบหัว”

เธอบอกว่า ความรักที่ยิ่่งใหญ่ได้หล่นหายไปในช่วงหนึ่งของชีวิต

“พี่ๆน้องๆ จากแม่ 6 คนที่บางคนไม่รู้จักกันเลย มาช่วยกันดูแลพ่อ กลายเป็นพี่น้องที่รักกัน เพราะทุกคนต่างเจ็บช้ำคนละนิด คนละหน่อย บรรดาภรรยาพ่อน่าจะไม่ถูกกัน พอพ่อป่วยก็มาเป็นพี่น้องกัน”

3.

เธอย้อนถึงตอนที่ทำงานให้บริษัทชีวามิตร วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด เกือบปีในช่วงหนึ่งว่า การทำงานที่่นั่นจะเน้นเรื่องคุณภาพการแก่ การตาย และวาระสุดท้ายของชีวิต

“คนเราไม่ใช่แค่ตายดี ต้องอยู่ดีด้วย เมื่อพ่อกลับมาป่วยอีก เรารู้แล้วว่า ชีวิตต้องมีการสิ้นสุด และเรารู้ว่า คราวนี้จะไม่ยื้อ หลังจากเข้าคอร์สเผชิญหน้ากับความตาย และการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย เราก็เอามาใช้กับพ่อ คุยกับพ่อเรื่องความตาย

เมื่อถึงระยะสุดท้าย พ่อปัสสาวะเป็นเลือด ตอนนั้นเราได้กลิ่นคีโตน ( สารเคมีปลายทางที่เกิดจากร่างกายเผาผลาญไขมันเพื่อให้ได้เป็นน้ำตาล ซึ่งกระบวนการนี้จะเกิดขึ้นในภาวะที่ร่างกายใช้พลังงานจากน้ำตาล/คาร์โบไฮเดตไม่ได้.) เป็นการหลั่งฮอร์โมนเพื่อลดความเจ็บปวด ก็คาดเดาว่าคงอีกสามวัน เพราะพ่อทรมาน กินยากันชัก สลบ พูดกับเราไม่ได้แล้ว”

จังหวะตอนนั้น เธอตั้งใจว่าจะทำหน้าที่ลูกส่งพ่อให้ดีที่สุด และจะไม่ส่งพลังงานลบให้พ่อมากเกินไป

“ตอนนั้นลูกๆ ตัดสินใจว่า จะไม่มาเยี่ยมพ่อสามวัน ผ่านไปไม่ถึง 24 ชม. พ่อจากไปโดยไม่รอใครเลย นี่คือ สารของความตาย ที่พ่อทิ้งไว้ให้ลูก เพราะก่อนหน้านี้ เราคุยกันว่าจะให้พ่ออยู่โรงพยาบาลหรือบ้าน พวกเราตัดสินใจไม่ได้

พอพวกเราละวางความกังวล ปล่อยให้พ่ออยู่สงบๆ ไม่รบกวน เขาก็จากไป โดยไม่รอเจอใคร ในความคิดของเรา เขาส่งสารความตาย จะไม่ยอมให้ใครมากำหนดชีวิตหรือเลือกให้ พ่อเด็ดเดี่ยวเข้มแข็งแบบไหน ก็จากไปแบบนั้น”

 ทั้งๆ ที่ตอนนั้นสมองไม่อยู่ในสภาวะที่รับรู้ แต่พลังงานที่สื่อถึงกันและกัน แป๋ว บอกว่าสำคัญมาก มีบางอย่างที่มนุษย์สามารถส่งถึงกันได้

 “สารที่ได้ หลังจากความตาย คือ อยู่อย่างไร ก็ตายอย่างนั้น ส่วนสารที่แม่ส่งให้ก่อนตาย คือความเข้มแข็ง เราเชื่อว่าทุกความตายมีสารที่ส่งถึงคนเป็น สารที่พ่อส่งให้ลูกๆ คือ เลือกในสิ่งที่ตัวเองเป็น  ส่วนวันที่แม่จากไปอย่างฉับพลัน บางครั้งเรางอนแม่ ไม่สนิทกับแม่ เราแก้ตัวไม่ได้แล้ว อาจเกิดความรู้สึกผิดบ้าง แต่กับพ่อ เราจะไม่เหลือความรู้สึกผิดเลย เราได้ทำหน้าที่ลูกอย่างเต็มที่แล้ว

       เราเคยเป็นพวกโลกสวย พยายามผลักไสความทุกข์และสิ่งไม่ชอบ อันไหนไม่อยากก็หลีกเลี่ยง รับความสุขอย่างเดียว แต่มันไม่ใช่ เมื่อเผชิญความทุกข์ พ่อกำลังจะเสียชีวิต หรือมีปัญหาชีวิต พอนิ่งๆ กับตัวเอง ความทุกข์ทำให้เราเห็นสัจธรรม” แป๋ว เล่า

 

((((โลกของตาแป๋ว))))

อีกมุมหนึ่งของชีวิตตาแป๋ว ผู้หญิงธรรมดาๆ ที่น่าจะเป็นบทเรียนให้ใครได้บ้าง...

เมื่อเธอรู้สึกว่า งานโฆษณาเอาเวลาไปทั้งชีวิต ก็เลยลาออกมาเลี้ยงลูก และรับงานฟรีแลนด์

“งานโฆษณาเป็นงานที่กดดันมาก ตอนที่ท้องลูกคนแรก เราก็เขียนไดอารี่เล่าให้ลูกฟัง เมื่อมีแรงเสียดทานในการทำงาน เราก็พยายามเปลี่ยนเป็นพลังเพื่อลูก ลูกคนแรกเราให้ความอดทนและความสำเร็จ จนท้องลูกคนที่สองอายุ 7 เดือน เราไปปฎิบัติธรรมเพื่อมอบให้ลูก”

 

อย่าคาดหวังมากไป

 “ในยุคที่พ่อแม่เพาะบ่มความคาดหวังในตัวลูก เราก็เป็นเหมือนกัน อยากให้ลูกเก่ง เคยจองตัวครูสอนพิเศษที่ใครก็อยากได้ วันหนึ่งลูกบ่นปวดคอ เพราะนั่งก้มหน้าทำข้อสอบ เคยแม้กระทั่งติวให้ลูกตั้งแต่เช้ายันค่ำ จนมารู้สึกว่า ลูกไม่ค่อยมีชีวิตชีวา เพราะเด็กที่อยู่ในระบบมากเกิน ถูกวัดคุณค่าด้วยคะแนน จนเราคิดได้ว่าความคาดหวังของเราทำร้ายลูกได้เหมือนกัน”

ให้ลูกมีความสุขเถอะ

ถึงเวลาที่ตาแป๋วต้องปรับตัว เปลี่ยนพฤติกรรม เมื่อสังเกตว่า ลูกชอบอะไร ก็สนับสนุน 

“ลููกชอบปิงปองก็พาไปเรียน จนตอนนี้เป็นนักกีฬา”

ส่วนตัวเธอหันมาเรียนรู้เรื่องต่างๆ เคยไปเข้าคอร์สหนึ่ง เรื่องการทำอาหารด้วยความรักและเมตตา

“ตอนนั้นก็คิดว่าจะได้สูตรอาหารมาทำที่บ้าน จริงๆ แล้วเป็นการเรียนรู้ภายใน ซึ่งทำให้เราค้นเจอว่าเรามีภาวะเศร้าลึกๆ และการไม่ยอมรับ จนค้นพบบางอย่างในตัวเรา ก็เลยไปร่ำเรียนโค้ชชิ่ง ศิลปะบำบัด ละครบำบัด คอร์สธรรมะที่จะชวนแม่ของเราไปด้วย “

ปลดล็อคความคิด

“เราได้ใคร่ครวญแล้วว่า ชีวิตเราไม่ได้ต้องการตามหาความสำเร็จ แต่เป็นเรื่องภายใน เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ เคยเจอเพื่อนที่มีนิสัยบางอย่างที่เราไม่ชอบ ก็คิดว่า ลาออกแล้ว ก็จากกันไป แต่ชีวิตคนเราก็ต้องเจอคนแบบนี้อีก เราไปเข้าใจเรื่องนี้ ตอนเรียนจิตวิทยารู้เท่าทันตัวตนจากครูฝรั่ง ช่วยเปิดโลกทัศน์ อย่างเราไม่ชอบคนขี้โกรธ แต่เผลอเมื่อไหร่ เราก็โกรธยิ่งกว่าสิ่งที่เราเกลียดอีก ถ้าเราไม่คลี่คลาย เราคงก้าวต่อไปไม่ได้”