กทม.ไฟเขียวแบ่งค่าปรับผู้แจ้งเบาะแสคนทำผิด

กทม.ไฟเขียวแบ่งค่าปรับผู้แจ้งเบาะแสคนทำผิด

"กทม." ดีเดย์แบ่งค่าปรับครึ่งหนึ่งให้ผู้แจ้งเบาะแสขี่จักรยานยนต์บนทางเท้า - หาบเร่แผงลอยแอบทิ้งขยะลงคลอง

ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (กทม.) พล.ต.ท.อำนวย นิ่มมะโน รองผู้ว่าฯกทม. กล่าวถึงกรณี ข่าวถึงการให้รางวัลนำจับกึ่งหนึ่งของค่าปรับแก่ผู้แจ้ง กรณีพบเห็นผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535 ว่า ตามที่พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯกทม.ได้ลงนามในระเบียบกทม.ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการแบ่งค่าปรับ ที่ได้จากการเปรียบเทียบให้แก่ผู้แจ้งความนำจับตามกฎหมายว่าด้วยการรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2560 เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งระเบียบดังกล่าวจะครอบคลุมถึงการจอดหรือขับขี่รถจักรยานยนตร์บนทางเท้า การทิ้งขยะในแม่น้ำ คู คลองและพื้นที่สาธารณะ หาบเร่-แผงลอย การลักลอบติดป้ายโฆษณาอย่างผิดกฎหมาย

ทั้งนี้ หากประชาชนพบเห็นการกระทำความผิดดังกล่าว สามารถแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ได้ทันที ผ่านช่องทางดังนี้ 1.สายด่วนสำนักเทศกิจ 02-465-6644 2.ไปรษณีย์ ส่งถึงสำนักเทศกิจ เลขที่ 1 ถนนเทศบาลสาย 1 แขวงวัดวัดกัลยาณ์ เขตธนบุรี 10600 3.อีเมล์ [email protected] 4.ทางเฟซบุ๊กสำนักเทศกิจ กรุงเทพมหานคร 5.ทางแอพพลิเคชันไลน์ ในกลุ่ม http://line.me/R/ti/g/NM4UVW0C2 และ 6.ทางสำนักงานเขตทั้ง 50 เขต

สำหรับการแจ้งนั้นประชาชนจะต้องมีหลักฐาน อาทิ ภาพถ่ายหรือวิดีโอที่แสดงถึงการกระทำผิดที่ชัดเจน โดยให้มีภาพหมายเลขทะเบียนที่ทำผิด พร้อมระบวัน เวลา และสถานที่กระทำผิด และบุคคลที่กระทำผิด ซึ่งรางวัลนำจับที่ผู้แจ้งความจะได้รับรางวัลกึ่งหนึ่งของค่าปรับนั้น จะได้รับภายหลังจากที่ผู้ต้องหาได้ชำระค่าปรับตามที่เปรียบแล้ว โดยอายุความของหลักฐานจะมีอายุ 1 ปี ส่วนการรับเงินแบ่งค่าปรับกึ่งหนึ่งสามารถรับเงินค่าปรับได้ที่สำนักงานเขตที่รับแจ้งภายในวันที่เปรียบเทียบปรับหรือภายใน 60 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง หรือหากผู้กระทำความผิดได้ชำระค่าปรับในวันเดียวกันผู้แจ้งความก็จะได้รับรางวัลค่าปรับในวันเดียวกันทันที ทั้งนี้ หากไม่ขอรับภายในกำหนดถือว่าสละสิทธิ์ ซึ่งเงินจำนวนดังกล่าวจะส่งเป็นรายได้ของกทม. โดยการกระทำความผิดตามพ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ มีโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 10,000 บาท หลังจากนี้จะมีการประสานงานกับกองบัญชาการตำนวจนครบาล เพื่อให้การรักษากฎหมายทำได้ดียิ่งขึ้น

"ตนเชื่อว่าพลเมืองดีจะมีส่วนร่วมในกฎหมายนี้ ซึ่งโครงการนี้เป็นมาตรการหนึ่งในการจัดระเบียบสังคมให้เกิดความสะอาดเป็นระเบียบเรียบร้อย ความปลอดภัย โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามามีส่วนร่วม จะช่วยนั่งเฝ้าถนนคูคลองให้กทม. ซึ่งหากประชาชนพบเห็นสามารถถ่ายรูปได้ หรือโทรผ่านสายด่วนเทศกิจเพื่อให้มาปรับและสามารถรับส่วนแบ่งได้ในขณะนั้นทันที ซึ่งทางเจ้าหน้าที่จะเก็บข้อมูลส่วนตัวของผู้แจ้งไว้เป็นความลับ" พล.ต.ท.อำนวย กล่าว

เมื่อถามว่าได้มีการวางมาตรการรับมือในกรณีที่จะเกิดเหตุวุ่นวายหรือสร้างความขัดแย้งในการแจ้งประชาชนหรือไม่ พล.ต.ท.อำนวย กล่าวว่า สำหรับผู้ที่กระทำความผิด จะไม่มีสิทธิเรียกร้องใดๆ ทั้งสิ้น อย่างไรก็ตามสำหรับการเตรียมพร้อมเจ้าหน้าที่รองรับมาตรการดังกล่าว ตนได้เรียกหัวหน้าฝ่ายเทศกิจทั้ง 50 เขต มาซักซ้อมถึงแนวทางการปฎิบัติ ขณะที่ประชาชนสามารถส่งเบาะแสกระทำความผิดผ่านช่องต่างๆ ได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป