‘คอนเทนท์ครีเอเตอร์’สูตรรอด‘อมรินทร์’

‘คอนเทนท์ครีเอเตอร์’สูตรรอด‘อมรินทร์’

สถานการณ์“นิตยสาร” มักถูกประเมินความอยู่รอดจากเม็ดเงินโฆษณา ซึ่งพบว่าช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง นับจากปี2550 มูลค่าโฆษณาอยู่ที่ 5,900 ล้านบาท  ส่วนปีที่ผ่านมาลดลงเหลือ 2,900 ล้านบาท ขณะที่ตัวเลขครึ่งปีแรก 2560 ยังติดลบ 37%

สภาพตลาดที่มูลค่าลดลงเท่าตัว  ช่วง5 ปีที่ผ่านมาจึงเห็นนิตยสาร ประกาศลาแผงอย่างต่อเนื่อง พร้อมปรับตัวสู่แพลตฟอร์มออนไลน์ตอบสนองพฤติกรรมเสพสื่อของผู้คนในยุคนี้ 

ระริน อุทกะพันธุ์ ปัญจรุ่งโรจน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ของ บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าทั้งภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อชะลอตัว รวมทั้ง การพัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์ที่เข้ามาเป็น“ตัวเลือก”เสพสื่อในยุคดิจิทัล ล้วนส่งผลให้โฆษณากลุ่มสื่อดั้งเดิมลดลงและกระทบสื่อสิ่งพิมพ์และนิตยสาร

ขณะที่กลยุทธ์ของเครืออมรินทร์ ที่อยู่ในอุตสาหกรรมสื่อสิ่งพิมพ์มากว่า 40 ปี วันนี้ไม่ได้ไปด้วยคำว่า“นิตยสาร”เพียงอย่างเดียว แต่ที่ผ่านมาทุกหัวแมกกาซีนไปพร้อมคำว่า "ดอทคอม”และงานแฟร์

แม้ภาพรวมสื่อโฆษณาสิ่งพิมพ์ลดลง แต่เมื่อรวมกับสื่อออนไลน์ที่อมรินทร์ทำได้ดีเป็น“เท่าตัว” ส่งผลให้ครึ่งปีแรกทุกแบรนด์นิตยสารยังเติบโต

ปัจจุบันสื่อออนไลน์ของอมรินทร์ได้ก้าวมาเป็นอันดับหนึ่งในกลุ่ม“ออนไลน์ ไลฟ์สไตล์ พับลิชเชอร์โดยคอนเทนท์ทุกประเภทมียอดวิวกว่า 100 ล้านวิวต่อเดือน ทำให้สื่อเครืออมรินทร์สามารถเชื่อมโยงแบรนด์สินค้าให้เจอกับผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายได้ดี

ในยุคที่สื่อมีความหลากหลาย ผู้บริโภคเสพคอนเทนท์หลายแพลตฟอร์ม แต่กว่าที่ผู้บริโภคจะตัดสินใจซื้อสินค้า 1 อย่าง สื่อๆ เดียวไม่สามารถโน้มน้าวการตัดสินใจได้อีกต่อไป ดังนั้นสิ่งที่แบรนด์ต้องทำ คือไปอยู่ในทุกจุดของไลฟ์สไตล์ผู้บริโภค เพื่อทำให้เกิดการรับรู้ จดจำ สร้างแรงจูงใจ ทดลองใช้และนำไปสู่การซื้อ 

กลยุทธ์ของอมรินทร์จึงปรับตัวสื่อในเครือให้อยู่ในฐานะ“คอนเทนท์ ครีเอเตอร์” นำเสนอครบทุกแพลตฟอร์มที่เชื่อมโยงไลฟ์สไตล์ผู้บริโภค ทั้งสิ่งพิมพ์ ออนไลน์ และงานแฟร์ เพื่อเป็น“ช่องทาง”ให้แบรนด์เข้าไปอยู่ในทุกจังหวะการตัดสินใจซื้อของกลุ่มเป้าหมาย 

ต้องยอมรับว่า“ออนไลน์” คือ อีกช่องทางสำคัญที่เข้าถึงคนจำนวนมาก จากผู้ใช้อินเทอร์เน็ตสัดส่วนกว่า 67% ของประชากร หรือ 46 ล้านคน

งานออนไลน์ “ไม่มีสูตรสำเร็จ” เป็นสิ่งที่ต้องเรียนรู้ตลอดเวลาและวันนี้ต้องยอมรับว่าเราใช้เทคโนโลยีและแพลตฟอร์มของคนอื่น ไม่ว่าจะเป็น เฟซบุ๊ค กูเกิล จึงเป็นความท้าทายในการเรียนรู้และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันมองหาโอกาสที่จะพัฒนาแพลตฟอร์มของตัวเอง รวมทั้งงานออนกราวด์

"ไม่ว่ายุคสมัยจะเปลี่ยนไปอย่างไร แต่เชื่อว่าคนยังอ่านสิ่งพิมพ์ เพียงแต่วันนี้มีสื่ออื่นๆ ให้อ่านมากขึ้น คนทำสื่อสิ่งพิมพ์ต้องยอมรับกับการเปลี่ยนแปลงนี้ อาชีพของคนทำสื่อสิ่งพิมพ์ คือ คอนเทนท์ ครีเอเตอร์ ดังนั้นการสร้างสรรค์คอนเทนท์ ต้องวิ่งไปหาแพลตฟอร์มที่มีคนอยู่"

คนทำสื่อต้องไม่ติดยึดกับแพลตฟอร์ม พร้อมปรับตัวเป็นผู้ผลิตคอนเทนท์ เมื่อถึงวันที่สื่อสิ่งพิมพ์ต้อง“ปิด”ก็เป็นเพียงการ“เปลี่ยน”ไปอยู่ในแพลตฟอร์มอื่นแต่สิ่งสำคัญคือ “เราต้องเปลี่ยนก่อนปิด”

วันนี้ อมรินทร์ เป็นคอนเทนท์ ครีเอเตอร์ สิ่งที่เรามี คือ ออมนิ มีเดีย และออมนิ แชนแนล เป็นสิ่งที่เราต้องปรับตัวตอบสนองทั้งผู้บริโภคสื่อและผู้ใช้งบโฆษณาในยุคนี้”

พูดได้ว่ากลยุทธ์ของอมรินทร์มีความชัดเจน เป็นสื่อครอบคลุมทุกแพลตฟอร์ม เพื่อตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงในยุคนี้

ปัจจุบันสื่อสิ่งพิมพ์ที่เป็นรูปเล่มอมรินทร์  เช่น นิตยสารกลุ่มบ้านยังมีผู้ใช้งบโฆษณาต่อเนื่อง เช่นเดียวกับ งานรับจ้างพิมพ์ในกลุ่มซัพพลิเมนท์ เล่มพิเศษ  หนังสือรายงานประจำปีของบริษัทในตลาด ซึ่งอมรินทร์มุ่งนำเสนองานสร้างสรรค์และนวัตกรรมใหม่  

อีกหมวดของสิ่งพิมพ์ คือ หนังสือเล่ม กลุ่มนิยาย ฮาวทู หนังสือสำหรับเด็กและครอบครัว ก็เติบโตเช่นกัน แม้จะเป็นตัวเลขหลักเดียว แต่ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวและ พฤติกรรมผู้บริโภคเสพคอนเทนท์หลายช่องทาง การขยายตัวเพียงหลักเดียว ถือว่าน่าพอใจ  เชื่อวสื่อสิ่งพิมพ์ยังตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้ แต่ต้องมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบตอบโจยท์ผู้บริโภค

จากการสำรวจ พบว่า 1ใน3 กิจกรรมหลักที่พ่อแม่ยังให้ความสำคัญและทำเป็นประจำ คือ การอ่านหนังสือกับลูก  เชื่อว่าทุกคนรู้ว่าการให้ลูกอยู่กับแทบเล็ต หรือจอมือถือเร็วเกินไป จะส่งผลเสียต่อพัฒนาการของเด็ก ปัจจุบันเด็กมีปัญหาติดจอและสมาธิสั้น ที่เป็นหนึ่งในปัญหาหลักของพ่อแม่ยุคนี้

ระริน กล่าวว่าอมรินทร์มีทุกสื่อที่อยู่ในไลฟ์สไตล์ผู้บริโภค  ทั้งสิ่งพิมพ์ ออนไลน์ และที่เติบโตสูงสุด คือ  งานแฟร์ ที่เห็นตัวเลขเติบโตทุกปี ทั้งพื้นที่งาน ผู้ร่วมงานและผู้ออกบูท โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอี ที่เติบโตไปพร้อมกับอมรินทร์

สำหรับ“นิตยสาร”ที่จะไปต่อได้ในยุคนี้ ต้องปรับตัว ที่ผ่านมากลุ่มแมกกาซีนเด็กและครอบครัว “อมรินทร์ เบบี้แอนด์คิดส์” เปลี่ยนเป็นราย 2 เดือน นำเสนอ“หัวข้อ”แต่ละปกที่ชัดเจน เพราะจากการทำวิจัยกลุ่มเป้าหมาย พบว่าหญิงตั้งครรภ์ สิ่งแรกที่นึกถึง คือ ซื้อหนังสือมาอ่านเพื่อเตรียมความพร้อม เพราะการอ่านในสื่อออนไลน์ ถือเป็นการอ่านแบบผ่านๆ ช่วงสั้นๆ 

ขณะที่เว็บไซต์ตอบโจทย์คุณแม่ยุคใหม่เช่นกัน เพราะจะเข้ามาค้นหาข้อมูลความรู้ต่างๆ  ขณะที่ "งานแฟร์" ตอบโจทย์พฤติกรรมการช้อปของคุณแม่ ที่ช่วยสินค้าและแบรนด์ปิดการขาย

ปัจจุบันทุกแบรนด์นิตยสารของอมรินทร์ ทำหน้าที่“เซอร์วิส”ให้ผู้ใช้งบโฆษณา ซึ่งไม่ได้ใช้เงินกับสื่อใดสื่อเดียวอีกต่อไป ดังนั้นความครบถ้วนของสื่อและเครื่องมือสื่อสารในมือ จึงสามารถให้บริการลูกค้าได้ครบทุกช่องทางและมีประสิทธิภาพ 

อมรินทร์ ยังมุ่งพัฒนาเครื่องมือต่างๆ เพื่อเข้าถึงผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง “ไม่มีคำว่าอยู่ตัว” ในการทำธุรกิจยุคนี้ เพราะไม่ว่าจะเป็นธุรกิจไหน จะพบการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

ทีวีดิจิทัล’กระเตื้อง

ยุทธศาสตร์การปรับตัวของกลุ่มอมรินทร์ สู่บทบาท “คอนเทนท์ ครีเอเตอร์” ที่ดำเนินการมาต่อเนื่อง เริ่มสะท้อน“ผลบวก”จากตัวเลขผลประกอบการล่าสุด

ในไตรมาส 2 ปีนี้ ที่มีผลขาดทุนสุทธิ 72 ล้านบาท เปรียบเทียบไตรมาส 2 ปี 2559 ที่มีผลขาดทุนสุทธิ 171 ล้านบาท ถือเป็นการดำเนินงานดีขึ้น 58%  ขณะที่ครึ่งปีแรกมีผลขาดทุนสุทธิ 171 ล้านบาท เปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีผลขาดทุนสุทธิ 343 ล้านบาท ดีขึ้น 50% 

โดยไตรมาส2 อมรินทร์มีรายได้รวม 475 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันปีก่อน 92 ล้านบาท หรือคิดเป็น 24% จากการเติบโตของรายได้ธุรกิจทีวีดิจิทัล อมรินทร์ทีวี เอชดี ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนมาจากเรทติ้งที่เพิ่มขึ้นสูง

ส่วนรายได้ธุรกิจดิจิทัล ซึ่งเป็นการดำเนินการโฆษณาและรับจ้างผลิตงานประเภทดิจิทัลเพิ่มขึ้น 210%

ช่วง 6 เดือนแรกมีรายได้รวม 940 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 25% โดยเป็นการเพิ่มขึ้นจากส่วนงานพิมพ์ 7% งานแฟร์ 60% ธุรกิจออนไลน์ 90% และทีวีดิจิทัล เพิ่มขึ้น 144%

ผลประกอบการที่ออกมาถือเป็นความสำเร็จอีกขั้นของบริษัท ที่สามารถลดผลขาดทุนสุทธิได้อย่างมีนัยสำคัญ ไตรมาสต่อไปหวังว่าจะเติบโตต่อเนื่อง”