อีอีซีไอเดินหน้าเฟสแรกดัน6อุตสาหกรรมมุ่งเป้า

อีอีซีไอเดินหน้าเฟสแรกดัน6อุตสาหกรรมมุ่งเป้า

สวทช. เร่งยกร่างแผนแม่บท “อีอีซีไอ” ควบคู่ พ.ร.บ.อีอีซี "เฟสแรก" เน้นวางโครงสร้างพื้นฐาน ชุดอาคาร-โรงงานต้นแบบ-สนามทดสอบ รับ 6 อุตสาหกรรมมุ่งเป้าใช้งานร่วมกัน พร้อมส่งผู้เชี่ยวชาญพัฒนา 55 ชุมชนรอบวังจันทร์วัลเลย์

นางจุฬารัตน์ ตันประเสริฐ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดเผยว่า แผนพัฒนาเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซีไอ จะผ่านการพิจารณาอนุมัติจากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท. ) ในเร็วๆ นี้ และพร้อมดำเนินการเฟส 1 ทันที ที่เริ่มปีงบประมาณ 2561 เป็นการออกแบบจัดวางโครงสร้างพื้นฐาน ประกอบด้วย ชุดอาคารวิจัยและพัฒนา โรงงานต้นแบบรวมถึงสนามทดสอบต่างๆ จากนั้นเริ่มก่อสร้างในปีงบประมาณ 2562

การออกแบบชุดอาคารโครงสร้างพื้นฐานจะตอบโจทย์ 6 สาขาอุตสาหกรรมมุ่งเป้าของอีอีซีไอ ที่สามารถใช้งานร่วมกันได้มากที่สุด ได้แก่ อุตสาหกรรมแบตเตอรี่และยานยนต์สมัยใหม่  อุตสาหกรรมระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์และอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ  อุตสาหกรรมการบินและอวกาศ  อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์  อุตสาหกรรมเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ และอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงและเคมีชีวภาพ โดยคัดเลือกจาก 10 อุตสาหกรรมมุ่งเป้าที่มีความพร้อมทั้งความต้องการจากภาคเอกชนละมีการลงทุนสูง

“ระหว่างรอโครงสร้างพื้นฐาน คณะทำงานอีอีซีไอจะดำเนินกิจกรรมพัฒนาชุมชนรอบพื้นที่อีอีซีไอ ซึ่งอยู่ในพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ อ.วังจันทร์ จ.ระยอง รวมถึงชุมชนอื่นๆ 55 แห่งในระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา โดยนำเทคโนโลยีและงานวิจัยจาก สวทช. และ วท. 11 เทคโนโลยีไปถ่ายทอดให้ 55 ชุมชนในพื้นที่อีอีซี”

ในส่วนการกระตุ้นการลงทุน มีสำนักงานอีอีซี หรือ สำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (สกรศ.) ดูแล โดยทำโรดโชว์คู่ไปกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ในขณะที่อีอีซีไอต้องเร่งทำแผนแม่บท 5 ปีแรกให้ชัดเจนก่อน ซึ่งต้องแล้วเสร็จภายในปีงบประมาณนี้ หลังจากนั้นจะโรดโชว์นำร่องบริษัทใหญ่ในประเทศ จากนั้นไปจีนและญี่ปุ่น ตามด้วยเกาหลีและยุโรป มุ่งไปที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาเพื่อชักชวนให้มาลงทุนห้องปฏิบัติการในอีอีซีไอ นอกจากจะมีเทคโนโลยีและผู้เชี่ยวชาญมาตอบโจทย์ผู้ประกอบการไทย ยังอาจมีลูกค้าของศูนย์เหล่านี้ตามมาลงทุนด้วยก็จะนำเม็ดเงินเข้าประเทศอีกด้วย

สำหรับการพัฒนากำลังคน ช่วงแรกมีการดึงผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศเข้ามา หรือซื้อเทคโนโลยีที่จำเป็นเพื่อชอร์ตคัทการทำงานในระยะแรก ระหว่างนั้นจะเร่งสร้างกำลังคนไปพร้อมกัน อย่างไรก็ดี กรณีผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศอยู่ระหว่างขั้นตอนรอ พ.ร.บ.อีอีซี ที่จะมีสิทธิประโยชน์ทางภาษีแบบฟิกซ์เรท 17% คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปีนี้เช่นกัน

ทั้งนี้ อีอีซีไอ ประกอบด้วย 3 ส่วน คือ ศูนย์กลางและฐานในการรังสรรค์นวัตกรรมจากเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (Space Krenovapolis) อยู่ที่พื้นที่อุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ ของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (สทอภ.) หรือ จิสด้า อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี เนื้อที่ 120 ไร่ อีก 2 ส่วนอยู่ในวังจันทร์วัลเลย์ ประกอบด้วย 2 เขตนวัตกรรมพิเศษคือ แอริโพลิส (ARIPOLIS) ศูนย์กลางระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และระบบอัจฉริยะ, ไบโอโพลิส (BIOPOLIS) ศูนย์กลางอุตสาหกรรมชีวภาพ

ไบโอโพลิสจะเริ่มในปีงบประมาณ 2561 จัดทำแผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของพื้นที่เฉพาะหรือ Specific Area จากนั้นจัดทำโมเดลธุรกิจ (Biopolis Business Model) หรือแผนบริหารไบโอโพลิส ตามด้วย การจัดทำแผนแม่บทและแผนปฏิบัติการของไบโอโพลิส

แอริโพลิส มุ่ง 3 อุตสาหกรรมที่ไทยมีความเข้มแข็ง ได้แก่ ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และเกษตรกรรม นายสุธี ผู้เจริญชนะชัย รองผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) กล่าวว่า ปีงบประมาณ 2561 เป็นการออกแบบอาคาร โรงงานต้นแบบ และสนามทดสอบ แบ่งเป็น 2 ระบบหลัก คือ System Integration Testing และระบบการคำนวณทางอุตสาหกรรมที่สามารถวิเคราะห์การไหลของสินค้าอุตสาหกรรมเพื่อประสิทธิภาพในกระบวนการผลิต

ทั้งสองระบบนี้มีให้ภาคเอกชนใช้แล้วที่อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี เฟสแรก (2560-2564) เป็นช่วงที่ต้องเร่งสร้างโชว์เคสให้เอกชนมาทดลองใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต เช่น เกษตรกรที่ต้องการทำเกษตรอัจฉริยะ หรือเกษตรแม่นยำ