บูมหลักสูตรผู้ประกอบการยุคไทยแลนด์ 4.0

บูมหลักสูตรผู้ประกอบการยุคไทยแลนด์ 4.0

ท่ามกลางบรรยากาศที่ “สตาร์ทอัพ” กำลังได้รับการกล่าวถึงอย่างมาก ด้วยจุดเด่นการสร้างมูลค่าให้กับสินค้าและบริการ รวมถึงกระบวนการทำงานอย่างประสิทธิภาพโดยใช้เทคโนโลยีเป็นตัวขับเคลื่อน 

ในมุมของ “มหาวิทยาลัย” ผู้ผลิตบุคลากรออกสู่ตลาดแรงงาน แม้วันนี้จะยังคงยึดตัวชี้วัดการได้งานทำของบัณฑิตจบใหม่อยู่เช่นเดิม แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าการสร้างผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการเทคโนโลยีจะเป็นอีกหนึ่งภารกิจที่ให้ความสำคัญ

มหิดล มหาวิทยาลัยที่โดดเด่นในการผลิตบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และการแพทย์ ประกาศมุ่งหน้าสู่ Entrepreneurial University ขานรับนโยบาย “ไทยแลนด์ 4.0”  ของรัฐบาล

ขณะที่ มหาวิทยาลัยพะเยา เร่งเครื่องกิจกรรมการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยแห่งการประกอบการ ภายใต้โครงการพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมเกิดใหม่ที่มีการเติบโตสูง (Innovative Startup) หวังปั้นผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่ใช้นวัตกรรมมาสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าและบริการ

คณะกรรมการสร้างเจ้าของธุรกิจและบริหารกิจการ (BUSEM) จาก มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ที่ร่วมมือกับ Babson College มาตั้งแต่ปี 2556 ในการร่วมกันสร้างดีเอ็นเอในการเป็นผู้ประกอบการ

สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (ฟีโบ้) จาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เปิดสอนหลักสูตรระดับปริญญาโท สาขาวิชาธุรกิจเทคโนโลยี ที่เน้นผสานองค์ความรู้ด้านการจัดการเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ และวิศวกรรมศาสตร์ เข้ากับการบริหารจัดการเชิงธุรกิจ

ศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจพระจอมเกล้าลาดกระบังและคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ที่มุ่งพัฒนาศักยภาพให้กับผู้ประกอบการได้สร้างโอกาสทางธุรกิจด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ ซึ่งได้จับมือกับ C asean- Dream Office, สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และ บริษัท ที.ซี.ซี.เทคโนโลยี จำกัด เปิดโครงการ DATATHON แข่งขันบ่มเพาะสตาร์ทอัพขึ้นในหัวข้อ “Agriculture and Food Technology”

รวมถึง IDE Center จาก มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ที่หวังจะผลักดันให้เกิด “S curve” โดยใช้นวัตกรรมเป็นตัวขับเคลื่อน ทั้งในกลุ่ม “เอสเอ็มอี” และ “สตาร์ทอัพ”

การขับเคลื่อนของแต่ละมหาวิทยาลัยกับการสร้าง “ผู้ประกอบการ” บนถนนสายเทคโนโลยีเริ่มเด่นชัดขึ้นมาในปีนี้ ซึ่งแต่ละแห่งก็มีกลยุทธ์และแนวทางที่ต่างกันออกไป

“มหิดล กำลังเร่งขับเคลื่อนตนเองเพื่อก้าวสู่ Entrepreneurial University ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาสู่การเป็น World Class University” ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์อุดม คชินทร อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัย

การจะเดินไปสู่จุดนั้นได้ มหิดล ต้องเริ่มทำตั้งแต่ การปรับทัศนคติ (Mindset) และพัฒนาทักษะของการใช้ความคิดสร้างสรรค์ให้กับบัณฑิต การแก้ไขปัญหาเชิงนวัตกรรมอย่างยั่งยืน และออกแบบระบบนิเวศ (Ecosystem) ที่ล้วนเป็นทักษะสำคัญของการเป็นผู้ประกอบการยุคใหม่

ระบบนิเวศ ที่มหิดล เตรียมการอยู่ในชื่อ MU Innovation space รวม 5 แห่งด้วยกัน ได้แก่ 1.คณะวิทยาศาสตร์ วิทยาเขตพญาไท 2.วิทยาลัยนานาชาติ 3.คณะวิศวกรรมศาสตร์ 4.อาคารเจรจานวัตกรรม และ 5. ศูนย์พัฒนาเครื่องมือแพทย์และนวัตกรรมทางสุขภาพ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี เพื่อก้าวสู่ความเป็น Entrepreneurial University อย่างแท้จริง

นอกจากนี้ ยังปรับวิธีการเรียนการสอนด้วยการบูรณาการศาสตร์ครอบคลุมวงจรผู้ประกอบการ(Entrepreneur Life Cycle) โดยออกแบบให้สอดคล้องและเหมาะสมกับความเชี่ยวชาญของภาควิชาต่างๆ การทำวิจัยร่วมกันระหว่างองค์กร การสร้างเครือข่ายศิษย์เก่าและชุมชนนวัตกรรม เป็นต้น

โดยการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยเพื่อก้าวสู่ความเป็น Entrepreneurial University มหาวิทยาลัยได้รับงบประมาณในการพัฒนาสนับสนุนทั้งสิ้นกว่า 670 ล้านบาท

ด้าน มหาวิทยาลัยพะเยา .(พิเศษ) ดร.มณฑล สงวนเสริมศรี อธิการบดี กล่าวว่า เพื่อเป็นการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศและใช้วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ผ่านมา มพ.ได้จัดตั้งอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา (University of Phayao Science Park : UPSP) และศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจ (University of Phayao Business Incubator : UPBI) ขึ้นซึ่งเป็นการยกระดับเป็นนวัตกรรม การเตรียมความพร้อมในการพัฒนาบุคลากรด้านการจัดการเทคโนโลยี นวัตกรรม และทรัพย์สินทางปัญญา การปรับรูปแบบการเรียนการสอนและกิจกรรมเสริมหลักสูตรให้ สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะการเร่งเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันเพื่อยกระดับเศรษฐกิจของภาคเหนือ

ปีนี้ มหาวิทยาลัยได้ขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยแห่งการประกอบการ ภายใต้โครงการพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมเกิดใหม่ที่มีการเติบโตสูง (Innovative Startup) อาทิ กิจกรรมการจัดการเรียนการสอนด้านความเป็นผู้ประกอบการแก่นิสิต, กิจกรรมการปรับปรุงและเตรียมพร้อมพื้นที่พัฒนานวัตกรรมร่วมกัน (Co-innovating space)

โดยใช้พื้นที่ขนาด 1,000 ตร.ม.  ในอาคาร 99 ปี  จัดกิจกรรมสร้างแรงบันดาลใจ (UP Startup Inspiration Talk) ด้านความเป็นผู้ประกอบการ และโครงการ Research Commercialization for Startup (RC4S) ถ่ายทอดเทคโนโลยีของมหาวิทยาลัยและพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมใหม่ให้กับผู้ประกอบการและส่งเสริมให้มีการนำผลงานวิจัยไปสู่เชิงพาณิชย์

กระบวนการบ่มเพาะความรู้และมุมมองการเป็นผู้ประกอบการยุคใหม่ไม่ว่าจะมุ่งแนวทางใด สิ่งสำคัญอยู่ที่ "Think Big"

ดร.เอ็ดเวิร์ด รูเบช  ผู้อำนวยการหลักสูตร ศูนย์สร้างผู้ประกอบการที่ขับเคลื่อนโดยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า “การเริ่มต้นความคิดด้วยการ Think Big เป็นเรื่องที่สำคัญมาก

“ทั่วโลกมีเงินหมุนเวียนในการลงทุนมากถึง 700,000 ล้านดอลลาร์ ราว 24.5 ล้านล้านบาท  หากว่านี่คือโอกาสอันยิ่งใหญ่ที่จะนำเสนอเรื่องของการ Think Big แล้วมองหาแหล่งเงินทุนเหล่านี้ให้มาสนับสนุนนวัตกรรมที่เกิดจากความคิดของเรา”

Think Big, Act Big หรือ คิดใหญ่ ทำใหญ่ได้ หากธุรกิจนั้นพร้อมด้วยทรัพยากรด้านคน ทุน และ นวัตกรรม

ในกรณีของรายกลางถึงเล็ก ก็สามารถทำได้ด้วยการ Think Big, Act Small การคิดนอกรอบ คิดแปลก คิดสร้างสรรค์ จากนั้นก็ทดสอบกับกลุ่มตัวอย่างจริง ๆ เพื่อดูว่าแนวคิดนั้นตอบโจทย์ให้กับตลาดได้ตรงจุดแค่ไหน 

เมืื่อผลิตภัณฑ์ของเรานั้นตอบสนองการใช้งานของตลาดได้จริง ๆ จึงค่อยก้าวแบบ Step by Step ไป