“มะเร็ง รู้เร็ว หายได้” เดิน-วิ่ง สนับสนุนงานวิจัยรักษา

“มะเร็ง รู้เร็ว หายได้” เดิน-วิ่ง สนับสนุนงานวิจัยรักษา

เป็นครั้งแรกที่ผู้ป่วยเป็นมะเร็งจะเดิน-วิ่งเพื่อคนทั่วไป เพื่อเป็นการรณรงค์ในการช่วยสนับสนุนงานวิจัยเพื่อการรักษามะเร็งในอนาคตในงาน “มะเร็ง รู้เร็ว หายได้ เดิน-วิ่ง 2017” รายได้มอบให้มูลนิธิมหาวิทยาลัยมหิดล

มหิดล แชแนล (Mahidol Channel) สถานีโทรทัศน์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดกิจกรรม “มะเร็ง รู้เร็ว หายได้ เดิน-วิ่ง 2017” เป็นครั้งแรกที่ผู้ป่วยเป็นมะเร็งจะเดิน-วิ่งเพื่อคนทั่วไป เพื่อเป็นการรณรงค์ในการช่วยสนับสนุนงานวิจัยเพื่อการรักษามะเร็งในอนาคต ผู้ที่เข้าร่วมวิ่งหลักๆ จะเป็นผู้ป่วยที่หายจากโรคมะเร็งแล้ว และผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับความยินยอมจากแพทย์ประจำตัว พร้อมทั้งคณะผู้บริหาร อาจารย์ แพทย์ บุคลากร มหาลัยมหิดล รวมทั้งบุคคลทั่วไป กว่า 500 คน เข้าร่วม ณ สวนป่าเบญจกิติ การร่วมงานในครั้งนี้จะไม่คิดค่าสมัคร แต่รับเป็นเงินบริจาค โดยเงินบริจาคทั้งหมด ไม่หักค่าใช้จ่ายใดๆ มอบให้มูลนิธิมหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อสมทบกองทุนการวิจัยเซลล์บำบัดเพื่อการรักษาโรคมะเร็ง (ศิริราชมูลนิธิ) และกองทุนโครงการผู้ป่วยมะเร็งในเด็ก (มูลนิธิรามาธิบดี)

หนึ่งในผู้ร่วมวิ่ง ที่เคยป่วยเป็นโรคมะเร็งและปัจจุบันโรคสงบแล้วแล้ว คือ คุณพิมพ์ - สุวพร ดำรงสุกิจ สาวสวยหน้าตาสดใส ปัจจุบัน อายุ 31 ปี ได้ตรวจพบมะเร็งต่อมน้ำเหลืองระยะ 2 เมื่อปีที่แล้ว คุณพิมพ์ เล่าว่า รู้ว่าตัวเองเป็นมะเร็งครั้งแรกเมื่อเดือนกันยายน ปี 2559 เริ่มจากเรารู้สึกแปลกใจและไม่สบายใจที่เราไอตลอด พร้อมทั้งมีอาการแน่นหน้าอก เวลานอนก็รู้สึกอึดอัดเหมือนหายใจไม่สะดวก รู้สึกร่างกายผิดปกติจึงไปหาหมอแล้วคุณหมอก็แจ้งผลว่าเราเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ระยะที่ 2 ครั้งแรกที่รู้ เรารู้สึกตกใจมากตัวชาไปหมด แต่เราได้กำลังใจที่ดีมากๆ จากครอบครัว และคนรอบข้าง จึงฮึดสู้ต่อ พร้อมทั้งรักษาตัวตามอาการ และมีการใช้คีโม จากกำลังใจที่ดีและการออกกำลังกายเป็นประจำ ทำให้การรักษาของเราได้ผลดี อาการดีขึ้นตามลำดับจนโรคสงบแล้ว

สิ่งที่ทำให้ พิมพ์ ฟื้นตัวได้เร็ว ส่วนหนึ่งมาจากการออกกำลังกายเป็นประจำ ทำให้ร่างกายเราแข็งแรง และต่อสู้กับโรคร้ายได้ดี เพราะก่อนที่จะป่วย พิมพ์ ออกกำลังกายโดยการปีนหน้าผา และว่ายน้ำ แต่ช่วงที่ให้คีโมไม่สามารถว่ายน้ำได้ จึงเน้นไปทางการปืนหน้าผา แต่ก่อนไปก็ต้องเช็คร่างกาย ตรวจเลือดก่อนทุกครั้งว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติไหม เราสู้มาเรื่อยๆ มีครอบครัวและเพื่อนที่ปีนหน้าผาด้วยกันมาเยี่ยมมาให้กำลังใจ ทำให้เราอยากที่จะอยู่ต่อเพื่อเป็นกำลังใจกับพวกเค้าบ้าง มันเลยทำให้รู้สึกว่าการออกกำลังกายเป็นสิ่งสำคัญนอกจากเราจะได้สุขภาพที่ดีแล้วเรายังได้มิตรภาพบวกกับความรักจากเพื่อนๆ อีกด้วย

สุดท้ายนี้คุณพิมพ์ ได้ฝากกำลังใจถึงผู้ป่วยที่เริ่มเป็นโรคมะเร็ง ไว้ว่า ไม่อยากให้ผู้ที่ป่วยท้อแท้ โรคมะเร็งมีทางหายได้ พิมพ์ผ่านมาแล้วทุกคนก็สามารถผ่านมาได้เหมือนกัน เพียงแค่ว่าเราอย่าไปเครียดกับมัน เราป่วยได้เราไม่ได้เลือกป่วย โรคนั้นเลือกเรา เราก็แค่ทำใจยอมรับให้ได้ปล่อยให้เรื่องรักษาเป็นหน้าที่ของคุณหมอเพราะคงไม่มีคุณหมอท่านไหนต้องการให้คนไข้เสียชีวิตจากโรคนี้ ส่วนตัวเราเองมีหน้าที่เตรียมร่างกายให้พร้อม หมั่นออกกำลังกาย ดูแลตัวเองให้ดี อย่าให้ร่างกายติดเชื้อ เพื่อรับการทำคีโมรักษาต่อไป

ผู้ป่วยหรือใครที่กำลังท้อแท้ สามารถเติมกำลังใจดีๆ และติดตามคุณพิมพ์ได้ที่ facebook page ชื่อ สู้หว่ะพิมพ์ SuwaPym

งาน เดิน – วิ่ง การกุศล “มะเร็ง รู้เร็ว หายได้ เดิน-วิ่ง 2017” ในครั้งนี้ได้นำรายได้โดยไม่หักค่าใช้จ่ายใดๆ สมทบทุนการวิจัยเซลล์บำบัดเพื่อการรักษาโรคมะเร็ง ศิริราชมูลนิธิ และกองทุนโครงการผู้ป่วยมะเร็งในเด็ก มูลนิธิรามาธิบดี การวิจัยนี้มีความสำคัญเป็นอย่างมาก และสามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยมะเร็งในไทยได้อีกนับล้าน ซึ่งถือเป็นก้าวใหม่ของวงการแพทย์ไทยกับผลงานวิจัย "เซลล์บำบัด อนาคตการรักษามะเร็ง

นพ.กิติพงศ์ สุนทราภา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาลัยมหิดล แพทย์นักวิจัย กับผลงาน "เซลล์บำบัด อนาคตการรักษามะเร็ง" กล่าวว่า งานในครั้งนี้มีความสำคัญกับทีมวิจัยเป็นอย่างมาก เพราะสามารถช่วยสนับสนุนงานวิจัยให้มีความก้าวหน้าเพิ่มขึ้น เรากำลังพัฒนาวิธีใหม่ในการรักษาโรคมะเร็ง โดยนำเซลล์เม็ดเลือดขาวของผู้ป่วยออกมาพัฒนาให้แข็งแรงและใส่กลับคืนให้ผู้ป่วย เพื่อให้เซลล์ไปทำลายมะเร็ง ซึ่งวิธีนี้ผู้ป่วยจะได้รับผลข้างเคียงน้อยมากเมื่อเทียบกับการรักษาด้วยเคมีบำบัด

“ผมเป็นแพทย์ที่รักษาคนไข้ การรักษาเราใช้ตำราแพทย์และสิ่งที่มีอยู่ทั้งหมดเป็นมาตรฐาน แต่ในปัจจุบันมาตรฐานที่ใช้อยู่ไม่อาจรักษาได้ทั้งหมด จึงต้องมีการวิจัยและคิดค้นวิธีใหม่ๆ ซึ่งการวิจัยถือเป็นอีกหนึ่งความท้าทายของแพทย์ หากสำเร็จเราสามารถเปลี่ยนแปลงวิธีการรักษาไปสู่วิธีที่ดีกว่า และช่วยให้ผู้ป่วยได้รอดชีวิตจากโรคร้ายได้มากขึ้น” นพ.กิติพงศ์ กล่าว


ด้าน ผศ.นพ.อุษณรัสมิ์ อนุรัฐพันธ์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล แพทย์นักวิจัยอีกท่านได้กล่าวถึง "เซลล์บำบัด อนาคตการรักษามะเร็ง" ว่า เราได้ทำการวิจัยโดยนำเซลล์เม็ดเลือดขาวจากผู้ป่วยมาดัดแปลงเพื่อให้เซลล์สามารถกำจัดมะเร็งได้ โดยในปีนี้จะมีผู้ป่วยมะเร็งเด็กรายแรกเข้าโครงการเพื่อรักษาด้วยวิธีใหม่นี้

การรักษาด้วยเซลล์บำบัดเป็นการรักษาด้วยวิธีใหม่ เป็นการใช้เซลล์ภูมิคุ้มกันบำบัด การวิจัยแบบนี้ต่างประเทศมีการนำเซลล์ภูมิคุ้มกันคนไข้ออกมาเพื่อนำมาพัฒนามาดัดแปลงบางส่วนเพราะว่าคนไข้ที่เป็นโรคมะเร็งนั้นเราเชื่อว่าระบบภูมิคุ้มกันคนไข้ซึ่งปกติทำหน้าที่ทำลายสิ่งแปลกปลอม เซลล์มะเร็ง เซลล์ติดเชื้อต่างๆ ทำงานไม่ดี เรานำเซลล์เม็ดเลือดขาว ซึ่งเป็นเซลล์ภูมิคุ้มกันออกมาพัฒนาทำให้เซลล์นั้นสามารถทำหน้าที่ฆ่าเซลล์มะเร็งนั้นได้แล้วนำกลับมาให้คนไข้ใหม่ วิธีการนี้จะช่วยทำให้คนไข้ลดการได้รับยาเคมีบำบัด

เราคาดหวังว่าจะสามารถดำเนินการรักษาคนไข้กลุ่มโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันคนแรกได้ภายในปีนี้ และในอีก 10 ปีข้างหน้าคนไทยก็น่าจะสามารถรับการรักษาในวิธีนี้ได้โดยไม่ต้องเดินทางไปต่างประเทศสามารถที่จะเข้าถึงการรักษาได้ง่ายขึ้นโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายสูง มันเหมือนเป็นความภูมิใจอย่างหนึ่งที่เราสามารถทำให้เด็กที่ป่วย ไม่สบาย กลับมาใช้ชีวิตตามปกติและทำอย่างที่เค้าอยากทำ เป็นอย่างที่เค้าอยากเป็น มีอาชีพอย่างที่เค้าอยากทำได้

ร่วมสมทบทุนเพื่องานวิจัยได้ที่ กองทุนโรคมะเร็งในเด็ก มูลนิธิรามาธิบดี โทร 02-201-1111 , กองทุนการวิจัยเซลล์บำบัดเพื่อการรักษาโรคมะเร็ง ศิริราชมูลนิธิ (รหัสกองทุน D-003658) โทร 02-419-7658-60 ต่อ 101-104 หรือติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.facebook.com/mahidolchannel