แมงมุมลายตัวนั้น...

แมงมุมลายตัวนั้น...

ผศ.ดร.ปรียาสิริ ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาฟื้นฟูสำหรับเด็กพิเศษ ยกเคสละครเรื่อง Side by side พี่น้องลูกขนไก่ ว่าเป็นละครที่ดีและให้แง่คิดมากมายเกี่ยวกับเด็กออทิสติก พร้อมอธิบายกระบวนการทำงานของเซลล์สมองกระจกเงาในเด็กกลุ่มนี้ด้วย

เชื่อว่าผู้อ่านคงได้ชมละครน้ำดีเรื่อง “Side by side พี่น้องลูกขนไก่” ที่เกี่ยวกับพี่น้องนักแบดมินตันโดยที่พี่ชายเป็นเด็กออทิสติก กันมาบ้างใช่ไหมคะ และก็เชื่ออีกว่า ตอนที่ผ่านมาอาจทำให้หลายคนต้องเสียน้ำตาไปกับฉากซึ้งๆ กับการปลอบใจพี่ชาย (หรือในกรณีนี้คือทำให้ใจเย็นลง) ที่กำลังอารมณ์เสียจากการถูกล้อเลียนที่สนามแข่งขัน ด้วยการร้องเพลง “แมงมุมลายตัวนั้น...”

ในฐานะที่ผู้เขียนเรียนมาทางด้านเด็กพิเศษแล้ว ต้องบอกว่า เรื่องนี้เป็นละครที่ดีและให้แง่คิดมากมายเลยทีเดียวค่ะ มากมายจนกระทั่งมีคุณแม่ถามมาว่า เด็กออทิสติกมักเป็นเหยื่อในการถูกล้อเลียน (bully) หรือจริงๆ แล้วเด็กออทิสติกเองเป็นคนที่ล้อเลียนหรือทำร้ายคนอื่นกันแน่

ผู้เขียนก็ตอบไปว่า ตั้งแต่พบเคสเด็กออทิสติกมา ไม่เคยจะได้ยินว่าเด็กออทิสติกเป็นคนเริ่มหาเรื่องใครก่อนจริงๆ ค่ะ
ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่า เด็กออทิสติกมักจะมีปัญหาด้านการคิดเชิงนามธรรมหรือแนวสะท้อน เช่น เมื่อบอกว่า ให้ลองจินตนาการว่า “หมูบินได้” ก็มักจะบอกว่า “หมูบินไม่ได้” นั่นก็เป็นเพราะว่า เด็กเหล่านี้มีความสามารถในการเรียนรู้ได้ดีจากการมองเห็น สิ่งที่มองเห็นทำให้เขาเข้าใจว่า เกิดอะไรขึ้นรอบตัว แล้วจึงนำไปโยงกับสิ่งที่เคยได้เรียนรู้ (นั่นคือการมองเห็นมาก่อน) จากประสบการณ์เดิม การให้คิดในสิ่งที่ไม่เคยเห็นจึงเป็นเรื่องยาก

อีกทั้งเมื่อคิดย้อนกลับมาเรื่องการล้อเลียน (หรือแม้แต่การเห็นใจ การเข้าอกเข้าใจ การเอาใจใส่ การเอาใจเขามาใส่ใจเรา) ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องนามธรรม จับต้องไม่ได้ สัมผัสไม่ได้ จึงเป็นเรื่องลำบาก ทำให้พบว่าเด็กออทิสติกมักมีปัญหาด้านอารมณ์ที่ดูเหมือนเพิกเฉยคนอื่น และอยู่แต่ในโลกของตัวเองนั่นเองค่ะ

เรื่องเหล่านี้ไม่ใช่เป็นเรื่องใหม่ เมื่อปี 2548 Oberman ศาสตราจารย์แห่ง Brown University และทีมนักวิจัยได้ตีพิมพ์เรื่องเกี่ยวกับเซลล์สมองกระจกเงา (mirror neurons) ซึ่งส่งผลโดยตรงกับความสามารถในการเห็นอกเห็นใจ เข้าใจ เลียนแบบ ลอกเลียนและสะท้อนอารมณ์ของผู้อื่น ลงในวารสาร Cognitive Brain Research (สนใจอ่านเรื่องของ mirror neurons ในเด็กออทิสติกเพิ่มเติมได้ที่ Oberman, LM., Hubbard, EM., McCleery, JP., Altschuler, EL., Pineda, JA.,& Ramachandran, VS. (2005). EEG evidence for mirror neuron dysfunction in autism spectrum disorders. Cognitive Brain Research, Vol.24, 190-198.)

กระบวนการทำงานของเซลล์สมองตัวนี้ ก็เช่น เมื่อเราเห็นคนอื่นกำลังรับประทานส้มตำของโปรด ทันใดนั้นตาของเราจะส่งข้อมูลไปยังส่วนเซลล์สมองกระจกเงา และไม่ทันรู้ตัวนั้นข้อมูลจะส่งกลับมาที่กล้ามเนื้อปาก กราม และฟัน ซึ่งส่งผลให้บางครั้งเราทำท่าเคี้ยวโดยไม่รู้ตัว

นั่นเท่ากับว่า เราทำอย่างเดียวกับที่คนอื่นกำลังทำ และนอกเหนือไปจากเรื่องพฤติกรรมแล้ว เรื่องของความรู้สึกก็เช่นเดียวกัน ในงานวิจัยนี้ยังสรุปด้วยว่า ในขณะที่คนทั่วไปใช้ความเข้าใจและการมองสะท้อนกลับเพื่อที่จะเข้ากับผู้อื่นในสังคมให้ได้นั้น เด็กออทิสติกส่วนใหญ่มักจะมีความบกพร่องในส่วนของเซลล์สมองกระจกเงา ซึ่งส่งผลต่อความสามารถในการคิดเชิงนามธรรม และเมื่อความคิดสะท้อนเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นได้เองแล้ว ผลต่อมาคือ เด็กบางส่วนมักจะตีความหรือเข้าใจผิด แล้วจึงนำไปสู่การแยกตัวเองออกจากสังคมในเวลาต่อมา

นอกเหนือไปจากนั้น เมื่อเด็กออทิสติกไม่สามารถคิดสะท้อนกลับหรือใช้จินตนาการ ก็มักจะมีปัญหาตามมาคือเรื่องของการปรับกระบวนการคิด หรือความคิดยืดหยุ่นที่อยู่นอกเหนือจากสิ่งที่เห็น เพราะเมื่อเกิดปัญหาใหม่ๆ สิ่งที่คนเราทำตามปกติก็คือ การคิดจินตนาการว่าถ้าเกิดแบบนี้แล้วจะต้องรับมืออย่างไร แต่สำหรับเด็กออทิสติกแล้ว การเผชิญกับปัญหาไม่ว่าจะเก่าหรือใหม่ นำไปสู่ความกระวนกระวายใจ เราจึงพบว่า เด็กออทิสติกชอบทำอะไรซ้ำๆ รูปแบบเดิมๆ และไม่ชอบการเปลี่ยนแปลงนั่นเอง

คำถามสุดท้ายคือ เมื่อเกิดการโวยวาย ไม่ได้ดั่งใจ แล้ว คุณพ่อคุณแม่ควรจะรับมืออย่างไร Dr.Jed Baker ผู้เขียนหนังสือเรื่อง Social skill training ได้ให้ข้อแนะนำไว้ว่า
1. ให้ใช้การเบี่ยงเบนความสนใจเมื่อเด็กมีอาการโกรธเกรี้ยวจนควบคุมไม่ได้ รวมถึงเมื่อการให้เหตุผล การขู่และการให้รางวัล ใช้ไม่ได้ผลแล้ว 
2. การเบี่ยงเบนความสนใจใช้ได้แค่บางครั้งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ได้ทุกครั้งที่เด็กมีอารมณ์ และส่วนใหญ่มักจะใช้กับเด็กโตไม่ค่อยได้ผล
3. เมื่อไหร่ก็ตามที่เด็กมีอารมณ์โกรธเกรี้ยวซ้ำๆ เรื่องเดิมๆ คุณพ่อคุณแม่ควรจะคิดแผนการแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม เช่น ตกลงกันล่วงหน้าว่าถ้าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้น ให้ลูกเดินออกไปเลย หรือให้ลูกเดินไปหาใคร

ท้ายที่สุดแล้ว จากละครเรื่องนี้ เพลงแมงมุมลายตัวนั้น อาจทำให้พี่ยิมใจเย็น และหันกลับมาฉุกคิดอะไรได้ แต่ในสถานการณ์จริง คุณพ่อคุณแม่ควรที่จะเตรียม back up plan ในกรณีที่การเบี่ยงเบนความสนใจใช้ไม่ได้ผล (และส่วนใหญ่มักจะใช้ไม่ได้ผล) จะดีที่สุดค่ะ

*บทความโดย ผศ.ดร.ปรียาสิริ วิฑูรชาติ ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาฟื้นฟูสำหรับเด็กพิเศษ รองผู้อำนวยการศูนย์นโยบายและการจัดการสุขภาพ อาจารย์ประจำคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี