‘ปิ่นเพชร’ อิงวิจัยสร้างมูลค่าขยะเมล็ดมะขาม

‘ปิ่นเพชร’ อิงวิจัยสร้างมูลค่าขยะเมล็ดมะขาม

ผู้ผลิตและแปรรูปมะขามหวานรายใหญ่ในเพชรบูรณ์ จับมือ สกว.วิจัยสร้างมูลเพิ่มให้เมล็ดมะขามเหลือทิ้ง เผยสามารถนำมาสกัดผงเยลลี่ ฟิล์มเคลือบผิวผลไม้เพื่อการส่งออก ฟิล์มแปะแผลชีวภาพ เพิ่มมูลค่าการส่งออกวัตถุดิบเท่าตัว

ผู้ผลิตและแปรรูปมะขามหวานรายใหญ่ในเพชรบูรณ์ จับมือ สกว.วิจัยสร้างมูลเพิ่มให้เมล็ดมะขามเหลือทิ้ง เผยสามารถนำมาสกัดผงเยลลี่ ฟิล์มเคลือบผิวผลไม้เพื่อการส่งออก ฟิล์มแปะแผลชีวภาพ เพิ่มมูลค่าการส่งออกวัตถุดิบเท่าตัว

นางวรัชยา จันจิตร กรรมการผู้จัดการบริษัท ปิ่นเพชร จำกัด เปิดเผยว่า ได้พัฒนาโครงการวิจัยใช้ประโยชน์เมล็ดมะขามโดยการสกัดเจลโลสจากแป้งเมล็ดมะขามเพื่อใช้ทดแทนเพคตินในผลิตภัณฑ์อาหาร ร่วมกับ รศ.วุฒิชัย นาครักษา อาจารย์ประจำคณะอุตสาหกรรมเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.)และฝ่ายอุตสาหกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

บริษัทผลิตและจำหน่ายมะขามหวานในรูปแบบมะขามหวานทั้งฝัก มะขามเปียกทั้งมีเมล็ดและแกะเมล็ดออก มะขามแปรรูป เช่น มะขามแก้ว มะขามกวน ทอฟฟี่มะขามและน้ำมะขาม แต่ละปีมีปริมาณเมล็ดมะขามที่เหลือจากการแปรรูป 150-200 ตัน ซึ่งส่งออกไปจีนและญี่ปุ่นเพื่อสกัดเป็นวัตถุดิบใช้ในอุตสาหกรรมสีเดือนละ 5 ตัน ในราคากิโลกรัมละ 2-3 บาท ขณะที่ประเทศไทยนำเข้าเพคตินปีละกว่า 300 ล้านบาท และมีแนวโน้มมากขึ้นทุกปี โดยมูลค่าเพคตินในตลาดโลกปี 2560 คาดการณ์ที่ 950 ล้านดอลลาร์

โครงการวิจัยเริ่มจากการศึกษากรรมวิธีการสกัดเจลโลสจากแป้งเมล็ดมะขาม พบว่า เนื้อเจลมีลักษณะคล้ายเพคติน แต่ความแข็งแรงมาก จึงใช้ในปริมาณน้อย มีเส้นใยอาหารมาก ต้นทุนการผลิตน้อย จากนั้นได้ทดลองนำไปประยุกต์ใช้ในผลิตภัณฑ์ต่างๆ ทำให้ผู้ประกอบการเชื่อมั่นและลงทุนสายการผลิตเจลโลส จากแป้งเมล็ดมะขามในเชิงพาณิชย์ในวงเงิน 1.5 ล้านบาท เพื่อเพิ่มขนาดการผลิต เป็นวันละ 150-200 กิโลกรัม โดยเน้นการจัดจำหน่ายเป็น ส่วนประกอบสำหรับประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมอาหารชนิดต่างๆ

ปัจจุบันในตลาดจำหน่ายเจลโลสกิโลกรัมละ 5,000-12,000 บาท ราคาผันแปรตามสเปคและคุณภาพ เพราะผลิตได้หลายเกรด ขณะนี้ได้ส่งตัวอย่างเจลโลสที่ผลิตได้ไปยังบริษัทในอุตสาหกรรมอาหาร เช่น เจเล่ บิวตี้ ทดลองใช้ พบว่า ลูกค้าตอบรับเป็นอย่างดี และ ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาธุรกิจ

“เดิมเรามีปริมาณเมล็ดมะขามเหลือทิ้งถึง 500 ตันต่อปี จากการผลิตมะขามแปรรูป จึงมองหานวัตกรรมที่จะนำมาใช้ประโยชน์ จึงเป็นที่มาของงานวิจัยที่อยู่ระหว่างการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพิ่มเติมอย่างต่อเนื่องกับฝ่ายอุตสาหกรรม สกว. เช่น เยลลี่มะขาม ไอศกรีมมะขามเจลาโต ฟิล์มเคลือบผิวผลไม้เพื่อการส่งออก ฟิล์มแปะแผลชีวภาพ เพื่อให้การผลิตเจลโลสจากแป้งเมล็ด มะขามและสามารถต่อยอดทางธุรกิจได้” นางวรัชยา กล่าว

ด้าน รศ.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ ผู้อำนวยการฝ่ายอุตสาหกรรม สกว. กล่าวว่า แนวคิดในการทำงานวิจัยในโครงการนี้เป็นการพัฒนาเพื่อเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์มะขาม โดยนำของที่เหลือจากกระบวนการผลิตมาพัฒนาให้เกิดมูลค่าเพิ่มในเชิงพาณิชย์ ถือเป็นโมเดลต้นแบบในการใช้งานวิจัยเป็นเครื่องมือในการสร้างสินค้านวัตกรรมอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง จะช่วยเสริมสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการระดับเอสเอ็มอีที่ไม่มีความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้เห็นถึงความสำคัญและเข้าใจกระบวนการวิจัยและพัฒนา นำองค์ความรู้มาปรับใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ของตนเองอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างจุดขายและความแตกต่าง