‘บ้านข้างวัด’ แลนด์คราฟท์แห่งเมืองเชียงใหม่

‘บ้านข้างวัด’ แลนด์คราฟท์แห่งเมืองเชียงใหม่

เปลี่ยนเช้าวันหยุดแสนงัวเงียให้เป็นการความคึกคักของตลาดเช้าชิคๆ คูลๆ ที่ 'บ้านข้างวัด'

คนที่ไปเชียงใหม่บ่อยจะรู้ดีว่าจังหวัดนี้คือศูนย์กลางของทุกสิ่ง ทุกด้าน ไม่ว่าจะต้องการสัมผัสธรรมชาติหรืออยากสนุกสนานไปกับแสงสี เรื่องอาหารการกินก็ไม่เป็นสองรองใคร และที่โดดเด่นมาก คือ เรื่องงานศิลป์ ความเก๋ไก๋ จนเรียกได้ว่าเป็นหัวเมืองเหนือแห่งความอาร์ต

            นั่นทำให้เชียงใหม่เป็นจุดหมายสำคัญของนักท่องเที่ยวทุกประเภท รวมถึงสายปั่นด้วย เพราะในสายตาของนักปั่น เชียงใหม่เหมาะสมกับการปั่นจักรยานที่สุดแห่งหนึ่ง คนชอบลุยก็เข้าป่า ชอบท้าแรงโน้มถ่วงก็ขึ้นเขาขึ้นดอย ชอบเที่ยวสบายๆ ก็ชิลในเมืองได้ และที่จะพาไปรู้จักกันวันนี้ก็เป็นนัดพบสุดชิคย่านวัดอุโมงค์

            จากโครงการบ้านจัดสรรสำหรับคนหัวศิลป์ ที่ ณัฐวุฒิ รักประสิทธิ์ หรือ บิ๊ก ริเริ่มขึ้นจนเกิดเป็น บ้านข้างวัด ทุกวันนี้บ้านทุกหลังและอาณาบริเวณทั่วโครงการกำลังถูกต่อยอดความคิดสร้างสรรค์ให้คนคอเดียวกันได้เข้ามาชม ชิม ช้อป และชิคไปกับสารพัดงานฝีมือที่ถือกำเนิดจากที่นี่

            ทุกเช้าวันอาทิตย์ ตั้งแต่ 8 โมงจนถึงบ่าย ที่ลานจอดรถของโครงการถูกปรับเป็นตลาด Morning Market @ Baan Kang Wat แม้ในย่านนี้จะมีชุมชนและอาหารการกินไม่น้อย แต่ตลาดเช้าแห่งนี้ก็มาช่วยเติมความสดใสยามเช้าได้อย่างดี

            เมย์ - ชลิตา เชาวน์วุฒิ สมาชิกโครงการบ้านข้างวัด และศิลปินผ้ามัดย้อม เล่าในฐานะผู้ดูแลตลาดคนหนึ่งว่า บิ๊ก (เจ้าของโครงการ) ต้องการให้ศิลปินแต่ละบ้านนำของมาขาย แต่สุดท้ายเปลี่ยนเป็นรับสมัครพ่อค้าแม่ค้าจากข้างนอกมาขาย ผสมผสานกับร้านของคนในบ้านข้างวัด

            นัยหนึ่งเพื่อให้คนในนี้ได้อาหารการกินดีๆ ยามเช้า เพราะทีแรกตั้งใจที่จะเป็นตลาดออแกนิค แต่เบนเข็มมาเป็นตลาดที่ใช้วัสดุเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ปลอดสารเคมีให้มากที่สุด เน้นอาหารปลอดภัย มีคุณภาพ ส่วนผลพลอยได้คือช่วยเรียกแขกให้รู้จักบ้านข้างวัดมากขึ้น

            แรกเริ่มเปิดตลาดมีร้านมากถึง 40 ร้าน ระยะเวลาราว 2 ปี ช่วยกลั่นกรอง มีร้านผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนมาจนบัดนี้มีประมาณ 35 ร้าน เกือบทั้งหมด (โดยเฉพาะร้านอาหาร) เป็นร้านผู้เหลือรอดตั้งแต่เริ่มเปิดตลาด ทำให้มั่นใจได้ว่าทุกร้านสะอาด ปลอดภัย และอร่อย

            อร - ศิริอร แซ่ล้อ เล่าให้ฟังว่ากระบวนการแบบนี้ครึ่งหนึ่งเกิดจากลูกค้าคัดกรอง ถ้าไม่ดีจริงก็อยู่ไม่ได้ อีกครึ่งหนึ่งคือสมาชิกผู้อาศัยในโครงการร่วมกันแสดงความคิดเห็น เรียกได้ว่าต้องอร่อยจริง เจ๋งจริง

            เมย์เสริมว่า “สำหรับเมย์ ทุกคนที่อยู่ที่นี่เจ๋งหมด เพราะถ้าเราได้คุยกับเขาจริงๆ บางร้านเป็นอาจารย์ มีเวิร์คชอป ทำเองทุกอย่าง เขาจะเจ๋งที่อื่นไหม หรือนสายตาคนอื่นไหม เมย์ไม่รู้ แต่ที่นี่ เขาทุกคนเจ๋งหมด”

            เมื่อส่วนมากเป็นร้านรุ่นบุกเบิก ตลาดกับร้านค้าจึงไม่ได้มีสถานะเพียงเท่านั้น แต่พวกเขายังเป็นเสมือนครอบครัว เสมือนเพื่อน เสมือนพี่น้อง เห็นคุณค่าซึ่งกันและกัน เป็นการเกื้อกูลกันไปมา ลำดับถัดไปจึงเกิดเป็นการพัฒนาสินค้าเพื่อยกระดับให้ตลาดดูดีมากขึ้น ส่วนตลาดก็พยายามเผยแพร่ข้อมูลให้คนมาเที่ยวที่นี่มากขึ้นๆ นับว่า ‘วิน-วิน’

            แต่นอกจากพ่อค้าแม่ค้าและตลาดจะได้ประโยชน์ การเกิดขึ้นของบ้านข้างวัดและตลาดเช้า ช่วยพัฒนาพื้นที่ตรงนี้จากที่หินกรวดฝุ่นฟุ้ง เมื่อจะเกิดตลาดจึงเทพื้นและวางผังตลาดให้ดูดีมีสไตล์ ยิ่งระยะหลังร้านรวงไม่ได้มีแค่อาหาร แต่มีงานฝีมือ (craft) มากขึ้น จนปัจจุบันกลายเป็นจุดแข็งของตลาด ที่คนได้มาทั้งซื้อของกินและซื้อของใช้เก๋ๆ ด้วย

            เมื่อเดินผ่านตลาดเข้าไปยังตัวโครงการหลัก ที่นี่คือบ้านจัดสรรในฝันของคนหัวสร้างสรรค์เลยทีเดียว เพราะนี่ไม่ใช่หมู่บ้านปูนเหลี่ยมๆ เรียงแถวเหมือนๆ กัน ทว่าเป็นบ้านไม้บ้าง ครึ่งปูนครึ่งไม้บ้าง แต่มีหน้าตาแตกต่างกันไป ยิ่งถูกตกแต่งจากผู้เช่าแนวนี้ยิ่งกลายเป็นเมืองจำลองของความเท่ มีสไตล์สุดๆ

            “แต่ละบ้านมีความหลากหลาย เน้นงานคราฟท์ มีของกิน มีร้านกาแฟ แต่ร้านพวกนี้จะเปิดสายหน่อย ประมาณ 10 โมงครึ่ง ส่วนตลาดเช้าก็แยกจากกันชัดเจนคือพอตลาดเริ่มปิด ในนี้ก็เริ่มเปิด มันช่วยส่งเสริมกันและกัน คนที่ต้องการความหลากหลายก็มาเช้าหน่อย พอเที่ยงๆ ก็นั่งเล่นหรือเที่ยวข้างในต่อได้” อรบอก

            สำหรับงานฝีมือข้างใน มีทุกประเภท ทั้งงานผ้า งานเซรามิค งานไม้ งานสีน้ำ งานย้อมผ้า ฯลฯ ที่นี่มีทั้งผลงานและจัดเวิร์คชอปให้ผู้สนใจด้วย ใครใคร่ซื้อ ซื้อ ใครใคร่ทำ ทำ

            แต่กว่าจะเกิดเป็นโครงการและตลาดแบบนี้ได้ ลืมไม่ได้ว่าบริเวณรอบๆ คือชุมชนเก่าแก่ มีวัดวาอาราม พอเกิดสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ขึ้นสิ่งที่ตามมาคือคนจำนวนมาก และรถราที่ล้นไปจอดสองข้างทางสร้างความรำคาญใจให้ชาวบ้าน และเพื่ออยู่ร่วมกันฉันญาติมิตรโครงการบ้านข้างวัดจึงแก้ปัญหาโดยเช่าที่ข้างๆ เพื่อใช้จอดรถ และในปัญหาอื่นๆ ที่เกิดขึ้นก็พยายามแก้ไขอย่างเป็นมิตรต่อกัน สุดท้ายแล้วคนในพื้นที่ก็ได้รับประโยชน์ เช่น มีร้านค้าเกิดขึ้นรองรับนักท่องเที่ยว มีเงินสะพัดในชุมชน

            ส่วนความสัมพันธ์กับวัดซึ่งอยู่หน้าโครงการ เมื่อมีงานที่ต้องใช้เครื่องเสียง หรือเกิดเสียงดัง ทุกอย่างจะเงียบลงไม่เกินสามทุ่ม เพราะกุฏิพระอยู่ในระยะประชิดเลยทีเดียว

            “เวลามีงานประจำปี เช่น งานฉายหนังและงานสวัสดีคราฟท์ เราให้ชาวบ้านมาทำงานร่วมกับเรา มาอำนวยความสะดวกจราจร มีส่วนร่วมหลายอย่าง ทำให้เขามีรายได้ด้วย” อรเล่าให้ฟังถึงการปรับเข้าหากันระหว่างชุมชนเดิมกับชุมชนใหม่

            สำหรับนักท่องเที่ยวสายปั่นคือกลุ่มลูกค้าที่ทางโครงการใส่ใจมากทีเดียว เพราะที่นี่มีที่จอดจักรยานให้โดยเฉพาะ ด้วยความโชคดีที่บ้านข้างวัดอยู่ใกล้เมืองจึงเดินทางมาได้หลายทาง หลักๆ คือ จากหลังมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มาซอยวัดอุโมงค์ แต่พิกัดคือหลังวัดร่ำเปิง

          ตามซอกซอยที่ร่มรื่น และแดดอ่อนๆ ยามเช้า ทำให้การปั่นจักรยานมาแวะที่ตลาดเช้าและบ้านข้างวัด ช่วยทำให้เป็นเช้าที่แสนวิเศษ จอดจักรยานแล้วเดินหาซื้อของกินอร่อยๆ คุณภาพดีๆ แถมมีที่ให้นั่งเล่น หรือเดินดูงานคราฟท์ก็เพลินไม่หยอก

***ติดตามการเดินทางท่องเที่ยวด้วยจักรยานคู่ใจที่ 'หมุนโลกด้วยสองล้อ' www.facebook.com/2wheelsspinworld/