4 ปมร้อนหุ้น ‘เอิร์ธ’ บทพิสูจน์‘ธรรมาภิบาล’

4 ปมร้อนหุ้น ‘เอิร์ธ’ บทพิสูจน์‘ธรรมาภิบาล’

4 ปมร้อนหุ้น ‘เอิร์ธ’ บทพิสูจน์‘ธรรมาภิบาล’

สัปดาห์ที่ผ่านมาการประกาศออกมาตั้งโต๊ะแถลงครั้งแรกของผู้บริหาร บริษัท เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ จำกัด (มหาชน) EARTH ดึงดูดความสนใจจากคนในวงการตลาดทุนให้มาติดตามกันจำนวนมาก เพราะเป็นครั้งแรกที่ผู้บริหารฝ่ามรสุมข่าวลบต่างๆ นานา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการบริหารงานที่ผิดพลาด จนทำให้สถาบันการเงินตัดวงเงินสินเชื่อ กระทบเงินทุนหมุนเวียนของบริษัททำให้ขาดสภาพคล่อง จนต้องย่อมผิดนัดชำระหนี้ตั๋วเงินบี/อี

รวมไปถึงประเด็นการยื่นฟื้นฟูกิจการ ต่อศาลล้มละลายกลาง จากมูลหนี้ที่กระโดดเพิ่มขึ้นมาอย่างน่าประหลาดใจ จาก 21,480 ล้านบาท เป็น 47,480.01 ล้านบาท ก้อนหนี้ที่ปูดขึ้นมาถึง 26,000 ล้านบาท มาจากเจ้าหนี้ทางการค้าไม่ใช่เจ้าหนี้สถาบันการเงินอย่างในก้อนแรก จนทำให้เริ่มมีความสงสัยถึงฐานะการเงินที่มีอยู่จริง ไม่ว่าจะเป็นสินทรัพย์ สินค้าคงคลัง ลูกหนี้ มันมีอยู่จริงไหม และมีมูลค่าแท้จริงเท่าใด

ข้อมูลจากการแถลงข่าวในสัปดาห์ที่แล้ว โดย ขจรพงษ์ คำดี ประธานกรรมการบริหาร EARTH นำไปสู่ประเด็นที่น่าสนใจ 4 ประเด็น 

ประเด็นที่ 1 การยื่นฟ้องธนาคารธนชาต เนื่องจากทำให้บริษัทได้รับความเสียหายคิดเป็น มูลค่า 60,000 ล้านบาท จากการเปิดเผยข้อมูลความลับลูกค้าให้ธนาคารกรุงไทยทราบ จนเป็นเหตุทำให้บริษัทถูกตัดวงเงินสินเชื่อ

การชี้แจงวันนั้น ระบุว่า บริษัทมีเงินฝากอยู่ที่ธนาคารธนชาต 800 ล้านบาท เตรียมโอนเงินไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีน ทำธุรกิจถ่านหินที่เมือง ฉินหวงเต่า แต่ถูกอายัดบัญชีตามคำสั่งของศาล แต่ธนาคารกลับนำความลับไปบอกธนาคารกรุงไทย ทำให้บอร์ดขอดูเอกสารสัญญาดำเนินธุรกิจที่ว่า ซึ่งบริษัทไม่สามารถคัดลอกสำเนาส่งให้ได้ อ้างว่าเป็นความลับทางธุรกิจแต่ให้มาดูเอกสารจริงที่บริษัทแทน แต่ทางบอร์ดธนาคารพิจารณาตัดวงเงินสินเชื่อทันที โดยระบุใช้เงินผิดวัตถุประสงค์

เมื่อดูจากการชี้แจง EARTH และประกอบกับการตอบโต้ฝั่งธนาคารธนชาตที่ฟ้องกลับทันที ทำให้ต้องคิดต่อไปว่า เหตุใดถึงกลายมาเป็นการฟ้องธนาคารธนชาตแทนธนาคารกรุงไทย และเมื่อดูจากข้อมูลที่ทางผู้บริหาร EARTH อ้างว่าธนาคารกรุงไทยตัดวงเงินสินเชื่อเพียงแค่สาเหตุไม่ส่งเอกสารฉบับจริงและบอร์ดบริหารธนาคารมีการเปลี่ยนแปลงช่วงนั้นแค่นี้จริงหรือ

รวมไปถึงการฟ้องร้องหนี้กับธนชาตเพื่อชดใช้ความเสียหายสูงถึง 60,000 ล้านบาท ผู้บริหารชี้แจงว่าเข้าข่ายลักษณะเดียวกันกับเจ้าหนี้ปริศนา 26,000 ล้านบาท ที่มาเรียกร้องค่าความเสียหายจาก EARTH เรื่องนี้มองจากนักบัญชีเมื่อ EARTH กล้าตั้งหนี้ก้อนนี้รวมไว้เป็นหนี้สินรวม จนทำให้ต้องยื่นฟื้นฟูกิจการแล้ว ทำไมไม่ตั้งหนี้ที่ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายกับธนาคารธนชาตเป็นสินทรัพย์ไปด้วย

ประเด็นที่ 2 กลุ่มเจ้าหนี้ 26,000 ล้านบาท ที่เพิ่มขึ้นมานอกเหนือแจ้งในงบการเงินไตรมาส 1 ปี 2560 ได้รับการชี้แจงว่าเป็นกลุ่มคู่ค้า 6-7 ราย ที่ทำธุรกิจที่ประเทศจีนรวมกัน แต่เมื่อได้รับข่าวลบทางสื่อต่างๆ บวกกับสถาบันการเงินตัดวงเงินสินเชื่อ ทำให้คู่ค้าเหล่านี้ฟ้องศาลเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายเป็นจำนวนเงินดังกล่าว

หากแยกมูลค่าหนี้ออกมา ผู้บริหารแจงว่าเป็นกลุ่มสถาบันการเงินหลักๆ มีหนี้ 21,480 ล้านบาท ส่วนใหญ่แบ่งเป็น ธนาคารกรุงไทย 10,000 ล้านบาท ธนาคารกสิกรไทย 2,500-2,800 ล้านบาท ธนาคารกรุงศรี 1,800 ล้านบาท ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย 340-350 ล้านบาท รวมกันแล้วไม่ถึง 15,000 ล้านบาท ขณะที่เจ้าหนี้ทางการค้าฟ้องร้องหนี้ที่ยังไม่ได้เกิดขึ้นจริงถึง 26,000 ล้านบาท

ประเด็นที่ 3 การมีอยู่จริงของสินทรัพย์ ที่แท้เป็นสินทรัพย์อะไรมีมูลค่าเท่าใด ตามการชี้แจงของผู้บริหารตอบว่า สินทรัพย์บริษัทมีอยู่เป็นจำนวนเท่าเดิม คือ 35,725 ล้านบาท ประกอบไปด้วยเหมืองที่ได้รับสัมปทาน 12 แห่ง ลูกหนี้ทางการค้า สินค้าคงคลัง และอื่นๆ ทุกคนสามารถดูจากงบการเงินได้ไตรมาส 1 ปี 2560

หากเมื่อดูจากงบการเงินล่าสุดของบริษัท สินทรัพย์ที่มีอยู่ มูลค่าส่วนใหญ่แบ่งเป็นเงินสด 1,238 ล้านบาท ลูกหนี้ทางการค้า 5,733 ล้านบาท สินค้าคงเหลือ 1,972 ล้านบาท เงินจ่ายล่วงหน้า 8,460 ล้านบาท ที่ดินและอุปกรณ์ 1,821 ล้านบาท สิทธิในเหมืองแร่ 8,207 ล้านบาท เงินจองสิทธิซื้อสินค้า 8,607 ล้านบาท

โดยเรื่องนี้ ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ที่ผู้บริหารตอบไม่ชัดเจนพอ สอดคล้องกับความคิดเห็นของ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เห็นว่า จำนวนหนี้สินที่เพิ่มขึ้นสูงถึง 1.21 เท่า ประกอบกับสถานะของหนี้สินดังกล่าวยังคลุมเครือไม่ชัดเจน และอาจส่งผลกระทบต่อสิทธิประโยชน์ของผู้ถือหุ้นในวงกว้างหรือต่อการตัดสินใจลงทุนของผู้ลงทุนได้

...สั่งให้ EARTH นำส่งเอกสารที่เกี่ยวข้องกับหนี้สินที่เพิ่มขึ้นภายใน 5 วันทำการ รวมทั้ง ก.ล.ต. อาจเรียกผู้ที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูลหรือนำส่งเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนประสานงานกับ หน่วยงานต่างประเทศ เพื่อให้เกิดความชัดเจน รวมไปถึงต้องส่งจัดทำงบการเงินพิเศษ (special audit) เพิ่มเติมจากการสั่งให้จัดทำก่อนหน้านี้เกี่ยวกับความมีอยู่จริง และสถานะของหนี้สินข้างต้น เพื่อให้สามารถยืนยันได้ถึงยอดหนี้จำนวนดังกล่าว โดยให้ผู้สอบบัญชีที่ สังกัดสำนักงานสอบบัญชีขนาดใหญ่แห่งใดแห่งหนึ่ง (big 4) เป็นผู้ดำเนินการ และส่งผลการตรวจสอบต่อ ก.ล.ต. พร้อมทั้งเปิดเผยข้อมูลผ่านระบบสารสนเทศของตลาดหลักทรัพย์ฯ ภายใน 30 วัน ทั้งนี้ การไม่ปฏิบัติตาม หรือไม่เปิดเผยข้อมูลที่ตรงต่อความเป็นจริงจะเป็นผลให้ กรรมการและผู้บริหารของ EARTH อาจถูกดำเนินการตามกฎหมาย ซึ่งมีทั้งโทษอาญาและ ทางแพ่ง

ประเด็นที่ 4 การดำเนินการฟื้นฟูกิจการจะเป็นอย่างไรต่อไป ซึ่งเป็นที่แน่ชัดแล้วว่าผู้บริหารระบุถึงทางออกเดียวทีมองเห็นว่าจะแก้ไขปัญหาและทำให้บริษัทรอดได้ คือ การยื่นขอฟื้นฟูกิจการ เพื่อเจรจาหนี้ได้อย่างเป็นระบบ ไม่เช่นนั้นหนี้บริษัทอาจจะเพิ่มขึ้นได้อีก ซึ่งศาลล้มละลายกลางจะนัดไต่สวนรับเป็นคดีครั้งแรกวันที่ 30 ต.ค.2560 

สุดท้าย ไม่ว่าปมประเด็นไหนจะคลี่คลาย แต่ความเสียหายที่หุ้น EARTH ทำไว้ คงอยู่เป็นตำนานในตลาดหุ้นไทยไปอีกนาน