'ซีไอเอ็มบี' รุกดิจิทัลแบงก์กิ้ง

'ซีไอเอ็มบี' รุกดิจิทัลแบงก์กิ้ง

“ซีไอเอ็มบี” รุกดิจิทัลแบงก์กิ้ง เน้นสร้างความแตกต่าง

ต้องยอมรับว่าแผนธุรกิจของธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่ต่างมุ่งไปสู่ “ดิจิทัลแบงกิ้ง” เพื่อรองรับเทคโนโลยีและพฤติกรรมของลูกค้าที่ปรับเปลี่ยน รวมถึงการปรับตัวรองรับการเข้ามาของคู่แข่งที่ไม่ใช่ธนาคาร หรือนอนแบงก์ ที่แนวโน้มเข้ามามากขึ้นในอนาคต

กิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ” กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย จำกัด (มหาชน) หรือ CIMBT ให้สัมภาษณ์พิเศษ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่าสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นโจทย์ที่ธนาคารพาณิชย์ต้องเจอไม่ว่าจะเป็นธนาคารขนาดใหญ่ หรือธนาคารขนาดเล็ก กลุ่มซีไอเอ็มบีจึงได้ตัดสินใจเริ่มทำโปรเจคดิจิทัลแบงกิ้ง ขณะนี้อยู่ระหว่างการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้มีความแตกต่าง และตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า คาดว่าจะสรุปรูปแบบที่จะทำได้ และเริ่มดำเนินการได้ในปีหน้า

โดยการเปิดตัวดิจิทัลแบงกิ้งของกลุ่มซีไอเอ็มบีนั้น ความสำคัญหรือ priority จะอยู่ที่ประเทศเวียดนามกับไทย เนื่องจากจากซีไอเอ็มบีเพิ่งจะเข้าตั้งธนาคารที่เวียดนามเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ส่วนเมืองไทยเชื่อว่าพฤติกรรมผู้บริโภคไทยอยู่ในระดับแนวหน้าของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

นอกจากนี้ในเมืองไทย ซีไอเอ็มบียังประสบความสำเร็จระดับหนึ่งในธุรกิจรายย่อย แต่ก็ยังไม่ได้ใหญ่เกินกว่าที่จะเกิดปัญหาว่าเมื่อดิจิทัลเข้ามา จะกินกันเอง ในขณะที่หลายแบงก์ใหญ่มีปัจจัยที่ต้องพิจารณาคือ อะไรที่เป็นดิจิทัลจะกินฐานลูกค้าหลัก

“เรามั่นใจว่าด้วยขนาดของเรา มันจะไม่กระทบ เราทำได้โดยไม่มีพันธนาการเยอะ เพราะปกติหากทำอะไรที่มากินฐานลูกค้าเดิม รายได้จะหายไป จุดนี้อาจจะเป็นข้อได้เปรียบของคนตัวเล็ก นอกจากนี้เราไม่คิดว่าเราเริ่มช้าเกินไป ไม่มีอะไรที่เสียเปรียบชัดเจน เพราะที่ผ่านมาเราก็มีทีมงานที่ดูเรื่องนี้มาตลอด เพียงแต่อยู่ระหว่างหาผู้บริหารที่เป็นลีดเดอร์มาทำ นอกจากนี้การเริ่มช้าก็ถือเป็นความโชคดีอย่างหนึ่งเพราะทุกวันนี้ยังไม่มีใครเป็นวินเนอร์ที่ชัดเจน ทุกคนอยู่ระหว่างการหาคำตอบ และทดลองในวงเล็กๆ

ในขณะภาคธนาคารเป็นองค์กรใหญ่อาจจะใช้เวลาปรับตัวนาน บางธนาคารก็แก้ด้วยการตั้งบริษัทลูกขึ้นมาทำเรื่องนี้โดยเฉพาะ เพื่อจะได้ไม่ต้องมาอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ของแบงก์ ซึ่งในส่วนของกลุ่มซีไอเอ็มบีเอง ก็จะมีซีไอเอ็มบีฟินเทค มารับผิดชอบเรื่องนี้โดยเฉพาะ ดิจิทัลแบงก์ของธนาคารก็พยายามที่จะสร้างความแตกต่าง โดยเริ่มทำงานกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในการใช้เทคโนโลยีในการวิเคราะห์ความเสี่ยงสินเชื่อลูกค้ารายย่อย คาดว่าจะเริ่มได้ในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้

“ในส่วนอื่นของธุรกิจ เราคงจะยึดแนวที่มา ณ จุดนี้ได้คุยกับทางมาเลเซียหลายรอบ เชื่อว่าเรามาถูกทางในการค้นหาตัวเองว่า เราอยากเป็นอะไร ในเมืองไทย สำหรับเราพยายามอยู่ในกลุ่มลูกค้าบุคคล และรายย่อย กลุ่มขนาดกลาง และรายใหญ่ กลุ่มสุดท้ายที่กำลังจะเปิดตัวคือกลุ่มลูกค้าเวลธ์ หรือลูกค้าไพรเวทแบงกิ้ง แต่เป็นระดับอัลตรา ไฮเน็ทเวิร์ธ หรือกลุ่มที่รวยมากๆ ซึ่งแยกออกมาต่างหากจากปัจจุบันที่มีกลุ่มพรีเฟอร์ (prefer) ซึ่งเป็นลูกค้าเวลธ์ คนที่มีฐานะรวยอยู่แล้ว โดยจะมีการเปิดตัวอย่างเป็นทางการภายในเดือนนี้ หลังจากได้ผู้บริหารที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการมานาน จะเข้ามาดูแลกลุ่มงานนี้”

กลุ่มลูกค้าคงจับลูกค้า 4 กลุ่มที่เราเลือก และในแต่ละกลุ่มเราคงไม่ได้เป็นทุกอย่าง สำหรับทุกคน เราเองต้องเลือกในสิ่งที่แข่งขันได้ เพราะเราเป็นแบงก์ที่มาทีหลังคนอื่น เพิ่งจะเข้ามาเมืองไทยเมื่อ 8 ปี ตอนที่เข้ามาแบงก์อื่นพัฒนาไปในระดับหนึ่งแล้ว เราจึงเลือกแข่งในกลุ่มที่แข่งได้ลูกค้าบุคคล ปรับยุทธศาสตร์มาอยู่ในจุดที่เราพอใจมาก และเราก็คงเดินทางต่อไป และทำดิจิทัล เหมือนเป็นทางที่สร้างคู่กันไป ธุรกิจดั้งเดิมก็ยังคงทำต่อไป

ในส่วนของภาพรวมธุรกิจปีนี้ ธนาคารไม่ได้มุ่งเน้นเรื่องการเติบโต แต่จะเน้นการจัดการ การสร้างกระบวนการภายในให้แข็งแรง เพราะปีที่ผ่านมามีปัญหาเรื่องคุณภาพหนี้ หรือเอ็นพีแอลพอสมควร จึงต้องใช้เวลาค่อนข้างเยอะในการเอ็กซเรย์พอร์ตว่ามีกลุ่มใดบ้างที่มีโอกาสแย่ลง เพื่อให้เราเข้าไปบริหารจัดการมากขึ้น ซึ่งก็เริ่มเห็นผลในช่วงเวลา 3 เดือนที่ผ่านมา สินเชื่อที่เป็นเอ็นพีแอลชะลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัด แต่ก็ไม่ได้แปลว่าทำแล้วไม่มีปัญหาเลย บางกลุ่มก็ยังมีปัญหาอยู่บ้าง

“ปีนี้โจทย์หลักคือคุณภาพสินทรัพย์ ทำอย่างไรให้ดีขึ้น ซึ่งก็ดีขึ้นมาก เพราะเราเห็นปัญหาเร็วขึ้น เข้าไปแก้ได้เร็วขึ้น พอบรรเทา และรักษาสถานะของลูกค้าได้ระดับหนึ่ง หากไม่ไหวก็ต้องปรับตารางการชำระหนี้ พร้อมกับการขายเอ็นพีแอลออกไป ซึ่งครึ่งปีแรกขายไปแล้ว 3 พันล้านบาท ครึ่งปีหลังอยู่ระหว่างพิจารณา ซึ่งการเลือกขาย จะเลือกขายลูกค้าที่ได้ราคาเหมาะสม เพราะหากแก้หนี้เองใช้เวลากับทรัพยากรมาก ทำให้เอ็นพีแอลปรับลดลงมายู่ที่ 5.4% เป้าหมายจะให้ต่ำกว่า 5% ภายในสิ้นปี ช่วงที่สูงสุดคือปลายปีที่ผ่านมาซึ่งอยู่ที่ 6.1%”

ในส่วนของสินเชื่อ ในปีนี้ภาพรวมสินเชื่อทั้งระบบเติบโตน้อย เพราะการเติบโตอิงกับภาวะเศรษฐกิจ แม้ว่าโดยรวมเศรษฐกิจดีขึ้น แต่ความต้องการสินเชื่อหลักๆ อิงกับการลงทุนเองชน ซึ่งไม่ค่อยมีการเติบโต เพราะความต้องการในประเทศยังไม่ค่อยสูง การบริโภคภายในประเทศก็มีข้อจำกัดเพราะหนี้ครัวเรือนสูง

ขณะที่ภาคเกษตรกรมีรายได้มาก็นำไปจ่ายหนี้ ไม่ได้นำมาใช้จ่ายเหมือนปกติ ทำให้ภาคการบริโภคไม่ค่อยดีมาก ธุรกิจของธนาคารจึงนิ่งๆ โดยทั้งอุตสาหกรรมจากต้นปีจนถึงปัจจุบันโตแค่ 0.4-0.5% จากอดีตที่เป้าสินเชื่อจะต้องเติบโต 2 เท่าของจีดีพี แต่ปีที่แล้วทั้งปีโตไม่ถึง ปีนี้ก็คงไม่ถึงเช่นเดียวกัน เพราะการลงทุนเอกชนยังไม่มา

“ธนาคารปีนี้น่าจะถึงเป้า เพราะเราไม่ได้ตั้งเป้าหมายไว้สูงมาก เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจประกอบกับเรื่องที่ธนาคารต้องแก้ปัญหาคุณภาพหนี้ นอกจากนี้การตั้งเป้าไว้สูงมากในภาวะที่เศรษฐกิจไม่ค่อยดี มันอันตราย เป็นดาบสองคม แม้ว่าอาจจะทำได้ตามเป้า แต่สักพักจะมีปัญหาตามมา”