ศาลปค.สูงสุดเลิกคุ้มครองชั่วคราว เอกชนขอคืนสิทธิประมูลข้าว

ศาลปค.สูงสุดเลิกคุ้มครองชั่วคราว เอกชนขอคืนสิทธิประมูลข้าว

ศาลปกครองสูงสุด สั่งยกเลิกคุ้มครองชั่วคราว บจก.ทีพีเคเอทานอล คดีฟ้องระงับคำสั่งกรมการค้าต่างประเทศ ไม่ผ่านขาดคุณสมบัติประมูลสต็อกข้าวในอุตสาหกรรม ชี้คำขอไม่เข้าเงื่อนไขความเดือดร้อน

ที่ศาลปกครองกลาง ถ.แจ้งวัฒนะ วันที่ 11 ส.ค.60 เวลา 15.00 น. ศาลได้อ่านคำสั่งศาลปกครองสูงสุดเรื่องอุทธรณ์คำขอกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวคดีการระบายข้าวในสต็อกกรมการค้าต่างประเทศ 2 สำนวนคดีหมายเลขดำ 1030 และ1031/2560 ที่บริษัท ที พี เค เอทานอล จำกัด ผู้ประกอบกิจการโรงงานผลิตเอทานอล ยื่นฟ้อง คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว , คณะอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าว , คณะทำงานดำเนินการระบายข้าวในสต็อกของรัฐ เเละกรมการค้าต่างประเทศ เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1-4

โดยสำนวนคดีหมายเลขดำ 1030/2560 บจก.ทีพีเค ผู้ฟ้อง มีคำขอในคดีขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งผู้ถูกฟ้องทั้งสี่ เรื่องผลการพิจารณาการจำหน่ายข้าวสารในสต็อกของรัฐเข้าสู่อุตสาหกรรมที่ไม่ใช่การบริโภคของคนและสัตว์ ครั้งที่ 1/2560 ลงวันที่ 13 มิ.ย.60 ที่ให้ บจก.ทีพีเค ผู้ฟ้อง ขาดคุณสมบัติในการเสนอซื้อข้าวสารเข้าสู่อุตสาหกรรม และขอให้กรมการค้าต่างประเทศ ผู้ถูกฟ้องที่ 4 ทำสัญญาซื้อขายข้าวสารในสต็อกของรัฐบาลที่ไม่ได้ใช้เพื่อการบริโภคจำนวน 74 คลัง ปริมาณ 525,833.95 ตันกับผู้ฟ้อง ราคาเฉลี่ย 2,332 บาท/ตัน ตามที่ได้ประกาศแจ้งผลให้ผู้ฟ้องเป็นผู้เสนอราคาสูงสุดเมื่อวันที่ 28 เม.ย.60 รวมทั้งให้ผู้ถูกฟ้องทั้งสี่ ให้สิทธิแก่ผู้ฟ้องเข้าเสนอซื้อข้าวสารในสต็อกที่จะมีการจัดประมูลหรือประกวดราคาต่อไป

และสำนวนหมายเลขดำ 1031/2560 บจก.ทีพีเค ผู้ฟ้อง มีคำขอในคดีขอให้เพิกถอนประกาศเรื่องการจำหน่ายข้าวในสต็อกของรัฐเข้าสู่อุตสาหกรรมที่ไม่ใช่การบริโภคของคน ครั้งที่ 2/2560 ที่ระบุผู้ฟ้องไม่ผ่านคุณสมบัติการประกวดราคา หรือขาดคุณสมบัติ และให้เพิกถอนกระบวนการประกวดราคา การเข้าทำสัญญาใดๆ ระหว่างกรมการค้าต่างประเทศ ผู้ถูกฟ้องที่ 4 กับบุคคลอื่นตามประกาศประกวดราคาคณะทำงานดำเนินการระบายข้าวในสต็อกของรัฐของผู้ถูกฟ้องที่ 3 ครั้งที่ 2/2560 โดยขอให้ผู้ถูกฟ้องทั้งสี่ให้สิทธิแก่ผู้ฟ้องเข้าเสนอซื้อข้าวสารในสต็อกซึ่งไม่ใช่เพื่อการบริโภคของคนที่จะมีการจัดประมูลหรือประกวดราคาต่อไปด้วย
ขณะที่ระหว่างการฟ้องคดีซึ่งมีการกำหนดประชุมพิจารณาผู้ชนะการประกวดราคาจำหน่ายข้าวสารในสต็อกฯ ในวันที่ 26 มิ.ย.60 บจก.ทีพีเค ผู้ฟ้อง ก็ได้ขอให้ศาลกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวก่อนการพิพากษาคดีโดยให้ศาลมีคำสั่ง กรมการต่างประเทศ ผู้ถูกฟ้องที่ 4 หยุดกระบวนการประกวดราคาและการเข้าทำสัญญาใดๆไว้ก่อน ซึ่งครั้งแรกศาลปกครองกลาง พิจารณาแล้วก็มีคำสั่ง ให้ทุเลาคำสั่งของผู้ถูกฟ้องซึ่งให้ผู้ฟ้องขาดคุณสมบัติการเป็นผู้เสนอซื้อ และยกเลิกการจำหน่ายข้าวสารในสต็อกของรัฐให้ผู้ฟ้อง ไว้เป็นการชั่วคราวก่อนที่คดีจะมีคำพิพากษา เนื่องจากเห็นว่าการระบายข้าวครั้งนี้เป็นการระบายข้าวที่เสื่อมคุณภาพซึ่งไม่สามารถปรับปรุงและไม่เหมาะสมสำหรับการบริโภคของคนและสัตว์ไม่อาจนำเข้าสู่ระบบตลาดและการค้าข้าวปกติในทุกรูปแบบ โดยนำไปใช้ได้เฉพาะอุตสาหกรรมเท่านั้น จึงไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนถึงขนาดจะต้องระบายออกเหมือนข้าวสารคุณภาพดีที่นำไปบริโภคได้ อีกทั้งหากศาลสั่งระงับไว้ก่อนก็ไม่เป็นอุปสรรคต่อการบริหารงานรัฐ และบริการสาธารณะ
ต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1-4 ยื่นอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อศาลปกครองสูงสุด

ทั้งนี้ศาลปกครองสูงสุดโดยนายประวิตร บุญเทียม ตุลาการหัวหน้าคณะในศาลปกครองสูงสุด เจ้าของสำนวนและองค์คณ พิจารณาแล้ว เห็นว่า คำสั่งของกรมการค้าต่างประเทศ ผู้ถูกฟ้องที่ 4 ซึ่งให้ บจก.ที พี เค เอทานอล ขาดคุณสมบัติ และไม่ให้เข้าร่วมประกวดราคาครั้งที่ 1/2560 และครั้งที่ 2/2560 นั้นไม่มีผลโดยตรงทำให้ธุรกิจของผู้ฟ้องต้องหยุดชะงักเพียงเเต่อาจขาดผลกำไรซึ่งผู้ฟ้องอาจใช้สิทธิเรียกร้องให้รับผิดชอบชดใช้ได้ ดังนั้นการให้คำสั่งดังกล่าวมีผลใช้บังคับต่อไป จึงไม่ทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายเเรงที่ยากเเก่การเยียวยาเเก้ไขในภายหลัง อีกทั้งยังมีวัตถุดิบอื่นที่สามารถใช้ผลิตเอทานอลแทนข้าว กรณีจึงยังไม่เข้าระเบียบเงื่อนไขของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ข้อ 72 วรรคสามระบุว่า กรณีที่ศาลเห็นว่ากฎหรือคำสั่งทางปกครองเหตุแห่งการฟ้องคดีนั้นน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมายโดยการให้กฎหรือคำสั่งทางปกครองดังกล่าวมีผลใช้บังคับต่อไปจะทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงที่ยากแก่การเยียวยาแก้ไขในภายหลัง ศาลมีอำนาจสั่งทุเลาการบังคับตามกฎหรือคำสั่งได้หากการทุเลาการบังคับตามกฎหรือคำสั่งทางปกครองนั้นไม่เป็นอุปสรรคแก่การบริหารงานของรัฐแก่บริการสาธารณะ

และที่ขอให้เพิกถอนคำสั่งการพิจารณาจำหน่ายข้าวสารในสต็อกของรัฐเข้าสู่อุตสาหกรรมที่ไม่ใช่การบริโภคของคนและสัตว์นั้น ก็เป็นคำขอที่ระงับขั้นตอนและกระบวนการที่ผู้ฟ้องไม่มีสิทธิเข้าร่วมจึงเกินขอบเขตของความเดือดร้อนที่บริษัทได้รับ ดังนั้นที่ศาลปกครองกลางออกคำสั่งทุเลาชั่วคราว ศาลปกครองสูงสุดไม่เห็นพ้องด้วย จึงให้ยกคำขอ บจก.ที พี เค เอทานอล ทั้ง 2 กรณี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวดังกล่าวถือเป็นที่สุดแล้วตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุด แต่ส่วนเนื้อหาคดีที่ฟ้องว่าคำสั่งของผ้ถูกฟ้องให้ บจก.ที พี เค เอทานอล ขาดคุณสมบัติการประกวดราคานั้นจะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ก็ยังอยู่ในการพิจารณาของศาลปกครองกลางต่อไปจนกว่าศาลปกครองกลางซึ่งเป็นศาลปกครองชั้นต้นจะมีคำพิพากษาในคดีออกมา

อย่างไรก็ดี การประมูลข้าวในสต็อกนั้น ก่อนหน้านี้กรมการค้าต่างประเทศ จัดการประมูลข้าวในสต็อกของรัฐเข้าสู่อุตสาหกรรมที่ไม่ใช่การบริโภคของคน ครั้งที่ 1 เมื่อเดือน เม.ย.60 และครั้งที่ 2 เมื่อเดือน มิ.ย.60 โดยบจก.ที พี เค เอทานอล ผ่านคุณสมบัติและได้ประมูลข้าวครั้งที่ 1 แต่ไม่ได้ข้าวมาใช้ ต่อมาบจก.ที พี เค เอทานอล ได้ประมูลข้าวครั้งที่ 2 แต่กรมการค้าต่างประเทศ เห็นว่าบริษัทขาดคุณสมบัติ เนื่องจากมี กรรมการรายหนึ่งของบริษัท เคยเป็นกรรมการในบริษัทเอกชน 2 แห่งที่เคยผิดสัญญากับกรมการค้าต่างประเทศกรณีการซื้อขายมันสำปะหลังเมื่อปี 2536/37 และศาลฎีกามีคำพิพากษาให้ชดใช้เงินเมื่อปี 2552 แต่บริษัทเอกชน 2 แห่งดังกล่าวยังไม่ชดใช้ ดังนั้นกรมการค้าต่างประเทศ จึงให้ระงับการจำหน่ายข้าวครั้งนี้กับ บจก.ที พี เค เอทานอล