หมดเวลาเหยียบเบรก 'ซิก้า อินโนเวชั่น'

หมดเวลาเหยียบเบรก 'ซิก้า อินโนเวชั่น'

ได้เวลาปลดล็อคข้อจำกัดทางโตธุรกิจ!! 'วราลักษณ์ งามจิตรเจริญ' ผู้ร่วมก่อตั้ง บมจ.ซิก้า อินโนเวชั่น โชว์พันธกิจผลักดันรายได้ขยายตัว ด้วยการเพิ่มมูลค่าสินค้า-สร้างลูกค้าเฉพาะกลุ่ม 'จุดขาย' หุ้นน้องใหม่ไอพีโอระดมทุนตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ 17 ส.ค.นี้

เมื่อรัฐบาลขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย สะท้อนผ่านการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ 'เหล็ก' นับเป็นองค์ประกอบสำคัญของส่วนงาน กำลังจะส่งผลดีหุ้นไอพีโอน้องใหม่ที่กำลังจะเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ในวันที่ 17 ส.ค.นี้ ในราคาหุ้นละ 5.90 บาท มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) 0.50 บาท หลังเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนต่อประชาชนครั้งแรกจำนวน 130 ล้านหุ้น

'วราลักษณ์ งามจิตรเจริญ' กรรมการผู้จัดการ บมจ.ซิก้า อินโนเวชั่น หรือ ZIGA ผู้ผลิตและจำหน่ายท่อเหล็กประเภท Pre-Zinc ภายใต้แบรนด์ ZIGA และท่อเหล็กร้อยสายไฟประเภท Pre-Zinc ภายใต้แบรนด์ DAIWA บอกจุดเด่นการเติบโตกับ “กรุงเทพธุรกิจ BizWeek”

การขยับตัวเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ในครานี้ เธอยอมรับว่า เมื่อต้องการ 'ปลดล็อค' การเติบโตของธุรกิจ ต้องมีเงินลงทุนเพื่อไปขยายธุรกิจ เป้าหมายของการเข้ามาระดมทุนครั้งนี้ คือ การนำเงินไป 'ขยายกำลังการผลิต' และ 'เพิ่มพื้นที่สำหรับบริหารจัดการวัตถุดิบและสินค้าสำเร็จรูป' โดยมีแผนการลงทุนมูลค่ารวมประมาณ 350 ล้านบาท หลังจากความต้องการสินค้า (ดีมานด์) มีลูกค้ามีจำนวนมาก สะท้อนผ่านการที่บริษัทปฎิเสธไม่รับออเดอร์สินค้าจากลูกค้าในช่วงที่ผ่านมาถึง 3 ครั้ง...

หากพิจารณาการเติบโตขององค์กรแห่งนี้จะพบว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา (ปี 2558-2559) มีรายได้เติบโตอยู่ที่ 53.71% และ 35.26% เนื่องจากบริษัทมีปริมาณขายเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจากการที่บริษัทสร้าง niche market ได้สำเร็จและเป็นสินค้าทางเลือกของลูกค้าที่มีความต้องการเหล็กที่มีคุณภาพที่ดี

แต่หลังจากนี้บริษัทจะไม่ 'เหยียบเบรก' อีกต่อไป หลังบริษัทขยายกำลังการผลิตเสร็จเรียบร้อยในปี 2561 คาดว่ากำลังการผลิตจะเพิ่มขึ้นเป็น 75,000 ตันต่อปี และปีถัดไปจะเป็น 100,000 ตันต่อปี ซึ่งถึงเวลานั้นพร้อมเติบโตก้าวกระโดด เธอบอกถึงวิสัยทัศน์หลังเข้าตลาดหุ้น

ปัจจุบันบริษัทดำเนินธุรกิจหลัก 2 ประเภท คือ 1.ผลิตและจำหน่ายเหล็กโครงสร้างประเภท Pre-Zinc ซึ่งผลิตเหล็กโครงสร้าง หรือ ท่อเหล็กอเนกประสงค์ (General Purpose Pipe) ภายใต้แบรนด์ ZIGA มีคุณสมบัติทนต่อการกัดกร่อน โดยได้รับการตอบรับที่ดีจากลูกค้า ทำให้บริษัทหันมาเน้นเพิ่มกำลังการผลิตเหล็กแบรนด์ ZIGA มากขึ้น ส่งผลให้สัดส่วนรายได้อยู่ที่ 90% รายได้เติบโตปีละ 200 ล้านบาท

2.ผลิตและจำหน่ายท่อร้อยสายไฟ (Conduit) คิดเป็นสัดส่วนรายได้ 10% ซึ่งผลิตท่อเหล็กกัลวาไนซ์สำหรับร้อยสายไฟ ภายใต้แบรนด์ DAIWA ซึ่งเป็นท่อที่ใช้สำหรับป้องกันสายไฟภายในท่อจากความเสียหายในกลุ่มอาคารสูงและโครงสร้างขนาดใหญ่

'โมเดลสร้างความแตกต่าง ชนะอุตสาหกรรมเหล็กช่วงขาลง' ผู้ร่วมก่อตั้ง ซิก้า อินโนเวชั่นมีความเชื่อเช่นนั้น…!

ด้วยการเพิ่มมูลค่าสินค้าเหล็กโครงสร้างชนิดพิเศษ ภายใต้แบรนด์ ZIGA ซึ่งเป็นทางเลือกใหม่ให้ลูกค้าโดยเฉพาะกลุ่ม niche market นั่นคือ 'จุดเด่น' ของหุ้น ZIGA สะท้อนผ่านความสำเร็จจากตัวเลข 'อัตรากำไรสุทธิ' ของบริษัทปี 2559 เติบโต 'ระดับ24%' ถือเป็นตัวเลขดีที่สุด...! เมื่อเทียบกับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเหล็กรายอื่น ปัจจุบันมีอัตรากำไรสุทธิระดับไม่เกิน 10%

ก่อนจะเข้าเรื่องแผนธุรกิจ 'นายหญิง' เล่าจุดเริ่มต้นของการดำเนินธุรกิจว่า เดิมเป็นธุรกิจห้องแถว ทว่าปี 2541 หลังจากสูญเสียบิดา-มารดา 'ศุภกิจ งามจิตรเจริญ' ในฐานะลูกชายคนโต แต่เป็นลูกคนที่สองในจำนวนพี่น้อง 5 คน (ศุภกิจ งามจิตรเจริญ ,ธีรนาท งามจิตรเจริญ ,น.ส.เมทินี งามจิตรเจริญ ,น.ส.วราลักษณ์ งามจิตรเจริญ และ นางมณฑา ทัสฐาน) เข้ามารับหน้าที่ดูแล

ทว่า 'บมจ.ซิก้า อินโนเวชั่น' มาพร้อมกับหนี้สินก้อนโต 'หลายสิบล้าน' เกิดจากช่วงที่คุณพ่อบริหารจัดการไม่ค่อยดี แม้ว่ามียอดขาย (วอลุ่ม) เข้ามามากก็ตาม แต่หลังจากน้องชายเข้ามารับกิจการต่อได้ยกระดับมาตรฐานสินค้าและโรงงานให้เป็นสากลมากขึ้น

ด้วยวิสัยทัศน์มองกาลไกลถึงความต้องการท่อเหล็กร้อยสายไฟ ท่อชุบกันสนิมของ 'ศุภกิจ' ทำให้ปี 2553 เปลี่ยนธุรกิจมาเน้นเพิ่มมูลค่า เน้นทำตลาดลูกค้าเฉพาะกลุ่ม โดยเฉพาะในธุรกิจ 'ผลิตและจำหน่ายเหล็กโครงสร้างประเภท Pre-zinc' ภายใต้แบรนด์สินค้า ZIGA ทำให้สัดส่วนรายได้ปัจจุบันอยู่ที่ 90% ของรายได้รวม

ความเป็นเหล็กชนิดพิเศษคุณสมบัติทนต่อการผุกร่อน ป้องกันสนิมได้เป็นระยะเวลานาน และบริษัทถือเป็นผู้ประกอบการรายแรกของเมืองไทยที่จำหน่ายและยังไม่มีคู่แข่ง ที่สำคัญเป็นสินค้าขายแบบเงินสดเป็นหลักให้เครดิตไม่เกิน 45 วัน ทำให้ธุรกิจมีสภาพคล่องมากขึ้น และเติบโตเรื่อยมา แต่ก็ไม่กล้าลงทุนมากเพราะไม่อยากก่อหนี้สินเกินตัว

เธอแจกแจงแผนธุรกิจว่า ปัจจุบันมูลค่าตลาดท่อเหล็กของเมืองไทยอยู่ที่ราว '4แสนตัน' ซึ่งบริษัทมีมาร์เก็ตแชร์ปี 2559 เพียง 8.9% ถือว่าเป็นสัดส่วนน้อยมาก ฉะนั้น มีช่องว่าง (Gap) ให้ธุรกิจเติบโตยังมีอีกมาก เป้าหมายสำคัญของธุรกิจผลิตและจำหน่ายเหล็กโครงสร้างแบรนด์ ZIGA คงหนีไม่พ้นการขยายฐานลูกค้าใหม่ ด้วยการเพิ่มความหลากหลายของโปรดักท์เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า เนื่องจากเป็นตลาดที่บริษัทสามรถรักษาอัตรากำไรสุทธิในระดับ 24% ขึ้นไปได้

การออกผลิตภัณฑ์ใหม่จึงเป็นหนทางเพิ่มฐานลูกค้า ซึ่งบริษัทเล็งเห็นโอกาสใน 23 จังหวัดแทบชายทะเล ที่ต้องการเหล็กโครงสร้างชนิดพอเศษที่สามารถทนต่อการกัดกร่อนของสนิมมากกว่าปกติ โดยบริษัทยังไม่ได้เข้าไปในกลุ่มลูกค้าดังกล่าว เพราะว่าปัจจุบันเน้นส่งทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) เป็นหลัก โดยตอนนี้บริษัทรอขยายกำลังการผลิตเสร็จในปีหน้า

'ช่องทางการผลิตและจำหน่ายเหล็กโครงสร้างยังมีอีกมาก ยิ่งเฉพาะในอุตสาหกรรมอสังหาฯ ที่เป็นโครงสร้างทั่วไป' 

นอกจากนี้ บริษัทไม่หยุดพัฒนาทำให้เกิดโมเดลธุรกิจที่ 3 'โครงสร้างเหล็กสำเร็จรูป' ด้วยการเพิ่มมูลค่าโดยการนำโครงสร้างเหล็กมาต่อยอดเป็นระบบโครงสร้างสำเร็จรูปแบบ 'โมดูลาร์' โดยเปิดตัวเมื่อปีก่อน โดยลูกค้ารายแรกเป็น บมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น หรือ BCP ในการสร้างร้านอินทนิลคอฟฟี่ (Inthanin Coffee) จากปกติใช้เวลาก่อสร้าง 4 เดือน แต่บริษัททำโครงสร้างเหล็กประกอบในโรงงาน และไปติดตั้งเพียง 47 วัน

โดยถือเป็นธุรกิจใหม่ที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ประกอบการธุรกิจในยุคปัจจุบัน ที่เมืองไทยกำลังเข้าสู่ยุคสังคมผู้สูงอายุ และขาดแคลนแรงงานฝีมือ เมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนั้น บริษัทก็ต้องทำธุรกิจตามกระแสการเปลี่ยนแปลงที่เทรนด์โครงสร้างสำเร็จรูปกำลังมาแล้ว และการลดเวลาก่อสร้างถือเป็นการแก้ปัญหาให้กับผู้ประกอบการด้วย

ปัจจุบันธุรกิจเพิ่มเริ่มต้น คาดว่าภายใน 3 ปี (2560-2562) มีโอกาสเห็นสัดส่วนรายได้ขึ้นมาถึง 5% เพราะว่าสามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้ประกอบการ 'ธุรกิจนอนออยล์' ที่กำลังเป็นเทรนด์ในปัจจุบัน เพื่อตอบโจทย์ทั้งธุรกิจและชีวิตที่สะดวกสบายของผู้ใช้ โดยกลุ่มลูกค้าจะเป็นกลุ่ม BCP และ บมจ.พีทีจี เอ็นเนอยี หรือ PTG ที่เน้นการขยายสาขาในธุรกิจนอนออยล์จำนวนมาก สะท้อนผ่านยอดออเดอร์สินค้าที่เข้ามา ทว่าบริษัทยังไม่สามารถรับผลิตสินค้าดังกล่าวได้ เนื่องจากติดปัญหากำลังการผลิตไม่เพียงพอต้องรอโรงงานขยายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นแล้วเสร็จในปีหน้า บริษัทถึงจะเดินหน้าได้เต็มที

สำหรับจุดแข็งของบริษัท คือ 1.Replacement เป็นแบรนด์สินค้าวัตกรรมทดแทน ที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า 2.Branding มีความมุ่งมั่นในการสร้างแบรนด์สินค้าที่ได้รับการยอมรับและมั่นใจในสินค้า (Generic Brand) 3.Opportunity to grow สินค้าของบริษัทมีโอกาสในการเติบโตสูง เพราะสินค้าบริษัทเป็นสินค้าทดแทน

'เอ็มดีZIGA' พูดทิ้งท้ายว่า บริษัทมีวิสัยทัศน์และเป้าหมายสู่การเป็นแบรนด์ผู้คิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ และเป็น Innovative Organization โดยมุ่งการขยายโครงสร้างพื้นฐาน ระบบสาธารณูปโภค ระบบสื่อสาร ระบบคมนาคม ภาคอุตสาหกรรมก่อสร้าง และการผลิตในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศไทย ซึ่งเหล็กนับเป็นองค์ประกอบสำคัญของส่วนงานและอยู่ในเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน

'ด้วยการนำเหล็กมาเพิ่มมูลค่าและคุณค่าด้วยนวัตกรรมเพื่อสร้างความปลอดภัย และเพิ่มประสิทธิภาพของสินค้า' 

DNAมุ่งมั่นสู่ความสำเร็จ

'วราลักษณ์ งามจิตรเจริญ' กรรมการผู้จัดการ บมจ.ซิก้า อินโนเวชั่น หรือ ZIGA บอกว่า สืบเนื่องจากธุรกิจครอบครัวรุ่นพ่อ-แม่ เคยผ่านช่วงไม่มีเงินทุนหมุนเวียนและเป็นหนี้เพราะขยายธุรกิจ ถือว่าเป็นบทเรียนและหัวใจสำคัญที่ทำให้บริษัทมีแนวความคิดการบริหารจัดการที่รัดกุม โดยเฉพาะเรื่อง 'ต้นทุนและค่าใช้จ่าย' และ 'การบริหารทรัพยากรที่จำกัดให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด'

ดังนั้น บริษัทจึงนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาเป็นเครื่องมือช่วยในการบริหารธุรกิจให้มีประสิทธิภาพมากสุด แม้ว่าเบื้องต้นจะมีการลงทุนสูง แต่ปัจจุบันได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าบริษัทตัดสินใจถูกต้อง เนื่องจากอัตรากำไรมากกว่า 20% ในปี 2559 คิดเป็นกำไรสุทธิถึง 226.13 ล้านบาท และจากตัวเลขการบริหารทุกตัว โดยเฉพาะมี interest bearing debt เพียง 0.2 ซึ่งแนวคิดดังกล่าวมองว่าเป็น DNA ของบริษัท นั่นคือ 'เราไม่เคยหยุดพัฒนา'

นอกจากนี้ บริษัทยังนำนวัตกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) มาใช้ในการบริหารจัดการข้อมูลทำให้บริษัทสามารถวิเคราะห์การจัดสรรทรัพยากรในการผลิตให้เหมาะสมกับสถานการณ์และความต้องการซื้อของลูกค้ากลุ่มต่าง ๆ และยังช่วยให้กระบวนการทำงานภายในองค์กรดำเนินการได้อย่างราบรื่น และสามารถนำสินค้าที่มีอยู่ในคลังสินค้าจำหน่ายออกได้อย่างรวดเร็ว ส่งผลให้บริษัทสามารถสร้างยอดขายที่มีอัตราการเติบโตสูงอย่างต่อเนื่อง