เครื่องมือแพทย์-กิจการร่วมค้า อนาคตผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์

เครื่องมือแพทย์-กิจการร่วมค้า อนาคตผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์

นายกสมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทยแนะต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอดในอนาคต รายใหญ่หันไปร่วมทุนกับญี่ปุ่นและจีน เพื่อลงทุนในประเทศซีแอลเอ็มวี ส่วนรายกลาง-เล็กหันไปผลิตเครื่องมือแพทย์

จักรยานยนต์ไฟฟ้ามอเตอร์สวิตช์ รีลัคแตนซ์ แขนกลในโรงงานรถยนต์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมพัฒนารองรับนโยบายไทยแลนด์4.0 ขณะที่นายกสมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทยแนะต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอดในอนาคต รายใหญ่หันไปร่วมทุนกับญี่ปุ่นและจีน เพื่อลงทุนในประเทศซีแอลเอ็มวี ส่วนรายกลาง-เล็กหันไปผลิตเครื่องมือแพทย์ หนึ่งในนิวเอสเคิร์ฟที่รัฐบาลสนับสนุน


อุตสาหกรรมยานยนต์และผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ ซึ่งไทยถือว่าเป็นหนึ่งในฐานการผลิตของโลก แต่ด้วยสภาวะการเปลี่ยนแปลงและการแข่งขันทางเทคโนโลยีที่รุนแรง หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องจึงเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น หนึ่งในนั้นคือการเข้ามาของยานยนต์ไฟฟ้า เทรนด์ระดับโลกที่ต้องจับตามอง


รองรับเทรนด์รถไฟฟ้า


ในงานแสดงนวัตกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ Autoparts Tech Day 2017 ภายใต้แนวคิด “ชิ้นส่วนยานยนต์และอุตสาหกรรมอนาคต : อากาศยาน ยานยนต์ไฟฟ้า และระบบอัจฉริยะ” นำเสนอเทคโนโลยีและนวัตกรรมพัฒนาขึ้นมาเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นและนโยบายไทยแลนด์ 4.0


ยกตัวอย่าง จักรยานยนต์ไฟฟ้ามอเตอร์สวิตช์ รีลัคแตนซ์ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีมอเตอร์ชนิดใหม่ที่เพิ่มสมรรถนะให้กับรถ ทำความเร็วสูงสุด 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง น้ำหนักบรรทุก 150 กิโลกรัม น้ำหนักรถ 130 กิโลกรัม ใช้เวลาชาร์จที่สถานีชาร์จ 25 นาที ความจุ 80% เพื่อเป็นทางเลือกในการใช้พลังงานไฟฟ้าและลดปัญหามลพิษทางอากาศ ผลงานโดยหน่วยปฏิบัติการวิจัย ระบบอัตโนมัติและอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง (AAERU) ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค สวทช.) ได้รับการสนับสนุนโดยกองทุนวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.)
แขนกลติดเซนเซอร์ทำหน้าที่ตรวจวัดความหนาตัวถังและสีที่พ่นบนตัวถัง เป็นเทคโนโลยีในโรงงานเมอร์เซเดส เบนซ์ เยอรมนี จากเดิมใช้วิธีการสุ่มวัดที่ละจุดซึ่งไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ ทำให้ความหนาไม่ถึง สีไม่สวยและผุกร่อนได้ง่าย เทคโนโลยีอัตโนมัติทำให้ตรวจเช็คครอบคลุมทุกพื้นที่บนตัวถังเสมือนกับการเอกซเรย์ เป็นไลน์อัตโนมัติ ไม่ใช้แรงงานคน เป็นส่วนหนึ่งในเทคโนโลยีอัตโนมัติที่ใช้ในอุตสาหกรรมยุค 4.0 ทำให้การทำงานรวดเร็ว แม่นยำและปลอดภัย จากเฮลมุท ฟิสเชอร์ ไทยแลนด์ คาดว่าจะนำเข้ามาจำหน่ายในไทย ปลายปีหน้า


อุตฯ ชิ้นส่วนเร่งปรับตัว


อัชณา ลิมป์ไพฑูรย์ นายกสมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย (TAPMA) เปิดเผยภารกิจเร่งด่วนในการเตรียมความพร้อมของอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ไทย เพื่อรับมือการมาของผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่ ที่ใช้วิธี กิจการร่วมค้า (Joint Venture) ขยายตลาดหาลูกค้าใหม่ เช่น FOMM ยานยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็กจากญี่ปุ่นใช้ผู้ผลิตชิ้นส่วนไทยผลิตอะไหล่ไม่กี่ชิ้น เมื่อเทียบกับรถยนต์ปกติที่มีอะไหล่ 3,000 ชิ้น แต่พอเป็นยานยนต์ไฟฟ้าจะเหลือ 1,500 ชิ้น ซึ่งอุปกรณ์หลักมีเพียง แบตเตอรี่ มอเตอร์ คอนโทรลยูนิต เท่านั้น


ส่วนที่กระทบหนักจะเป็นผู้ประกอบการรายเล็กที่ใช้การปั๊มชิ้นงาน ส่วนผู้ประกอบการที่ยังใช้เทคโนโลยีแม่พิมพ์ก็ยังสามารถรับงานจากอุตสาหกรรมอื่น เช่น เครื่องมือแพทย์ อุปกรณ์สนับสนุนส่วนภาคพื้นอย่าง บันได รถเข็นยกตัวอย่าง บมจ.สามมิตรมอเตอร์สแมนูแฟคเจอริง กลุ่มบริษัทไทยซัมมิทและสมบูรณ์กรุ๊ป "นักลงทุนรายใหญ่ควรจะใช้ความสามารถของผู้ผลิตชิ้นส่วนไทย แล้วอาจจะไปร่วมลงทุนในจีนทำการผลิตสินค้าส่งไปยังอินโดนีเซีย เป็นต้น แต่ที่น่ากลัว คือ เวียดนามเปิดรับนักลงทุนต่างชาติเยอะมาก พร้อมทั้งให้สิทธิประโยชน์จูงใจมากมาย” อัชณา กล่าว


อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการรายย่อยส่วนหนึ่งที่ปรับตัวไม่ได้คงเลิกทำไป ขณะที่ผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ไทยที่ทำงานกับค่ายญี่ปุ่นมากว่า 50 ปีแล้วได้ถ่ายทอดทักษะการทำงาน ระบบระเบียบ เรียกว่าเป็นอาร์แอนด์ดีของกระบวนการผลิต ควรจะใช้ความรู้ไปใช้ในการผลิตชิ้นงานใดๆ ก็ได้แทนการผลิตอะไหล่รถยนต์ เช่น เครื่องมือแพทย์ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่เติบโตมากตามความต้องการของตลาดโลก ทั้งยังเป็นหนึ่งในกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ที่รัฐบาลส่งเสริม จึงยังสามารถเติบโตและอยู่รอดได้


ปัจจุบันสัดส่วนของผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์รายใหญ่มีอยู่ 700 ราย ส่วนที่เหลือ 1,200 รายเป็นขนาดกลางและเล็ก สำหรับแนวโน้มของรถไฟฟ้าในมุมมองของอัชณา มองว่า ภายในปี 2568-2573 จะเข้ามาไทย หลังจากที่ยุโรปและอเมริกาใช้กันแพร่หลายในปี 2563 จึงเสนอรัฐบาลให้การสนับสนุนและส่งเสริมให้เกิดการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ โดยเริ่มจากรถสาธารณะ เช่น รถโดยสารประจำทาง หรือจักรยานไฟฟ้า ก่อนเป็นอันดับแรก ส่วนอะไหล่บางส่วนที่ยังผลิตไม่ได้ก็ต้องนำเข้ามาใช้ก่อนเหมือนกับรถบัสไฟฟ้า BYD ในประเทศจีน ที่รัฐบาลให้การสนับสนุน