พันธบัตรป่าไม้ ฝันของคนรักป่า?

พันธบัตรป่าไม้ ฝันของคนรักป่า?

ปลูกป่าคนละเล็กละน้อย ไม่พอหรอก ถ้าอย่างนั้นลองดูโมเดลพันธบัตรป่าไม้ จะตอบโจทย์การฟื้นฟูป่าได้จริงหรือ

...................

“ถ้าเรายังแสวงหากำไรจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยวในพื้นที่สูง แม้กระทั่งโจอี้ บอย อยากจะปลูกป่าสู้ แต่มีเงินแค่สี่แสนกว่าบาท สู้ไม่ไหวหรอก ถ้าอย่างนั้นสิ่งที่เราต้องการคือ พลังที่หนักแน่นเพื่อเปลี่ยนสภาพพืชเชิงเดี่ยวให้เป็นป่า”ดร.อดิศร์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ที่ปรึกษาด้านการวิจัยทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย กล่าว

หลายทศวรรษที่ผ่านมา แม้คนตัวเล็กตัวน้อยจะร่วมมือกันปลูกป่า ก็เป็นเรื่องยากที่จะทำให้ป่าทั้งประเทศฟื้นคืน เพราะปัญหาการปลูกพืชเศรษฐกิจเชิงเดียวจำพวกข้าวโพด เพื่อป้อนอุตสาหกรรมอาหารสัตว์โดยปลูกในพื้นที่ป่าสงวน ทำให้หลายพื้นที่ในภาคเหนือกลายเป็นเขาหัวโล้น

ปัจจุบันพื้นที่ป่าลดลงเหลือร้อยละ 32 ของพื้นที่ประเทศไทย จึงำต้องฟื้นฟูสภาพป่าให้กลับมาอีกร้อยละ 7-8 คือประมาณ 26 ล้านไร่ เพื่อให้มีพื้นที่ป่าร้อยละ 40 ของพื้นที่ประเทศไทย

ทางเลือกฟื้นฟูป่า

หลายฝ่ายที่ทำงานด้านป่าไม้ พยายามเสนอโมเดลเพื่อฟื้นฟูป่า และหนึ่งในโมเดลเหล่านั้่น ก็คือ พันธบัตรป่าไม้

“ความหวังในการฟื้นฟูพื้นที่ป่าของประเทศ ตอนนี้มีแค่ป่าเศรษฐกิจอย่างเดียว” จงคล้าย วรพงศธร รองอธิบดี กรมป่าไม้ กล่าวถึงป่าเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแนวคิดพันธบัตรป่าไม้

หากจะให้ป่าฟื้นคืนมา อดิศร์ บอกว่า ต้องปลูกป่าเศรษฐกิจกึ่งป่าอนุรักษ์ โดยการออกพันธบัตรเงินกู้ระดมทุนจากประชาชนและภาคธุรกิจการเงิน

 “เราสูญเสียพื้นที่ป่าปีหนึ่งหลายแสนไร่ หลายคนเห็นเขาหัวโล้นที่น่าน เราปล่อยให้ป่าหายไปได้ยังไง สิ่งที่ตามก็คือ ฤดูแล้ง น้ำแห้ง ฤดูฝนน้ำหลาก บางจังหวัดต้องชดเชยให้เกษตรกรตั้งแต่ต้นปีถึงปลายปี เรากำลังเผชิญกับปัญหาที่เอาไม่อยู่”

ป่าที่หายไป ผนวกกับฤดูกาลที่ผันแปร ทั้งเรื่องน้ำท่วมและน้ำแล้ง เป็นวัฎจักรที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า จึงมีการเสนอวิธีการแก้ปัญหาด้วยกลไกพันธบัตรป่าไม้ โดยเอาองค์ความรู้ด้านระบบนิเวศผนวกกับหลักเศรษฐศาสตร์และหลักนิติศาสตร์ เพื่อผลักดันเรื่องนี้

 

ภาระกิจพันธบัตรป่าไม้

การปลูกป่าเศรษฐกิจโดยให้รัฐเป็นเจ้าภาพด้วยวิธีระดมทุนจากการขายพันธบัตร ด้วยกระบวนการจัดการอย่างเป็นระบบ จึงไม่ใช่ความฝันลมๆ แล้งๆ ดร.อดิศร์ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า หากให้ภาคเอกชนมาช่วยปลูกป่า พวกเขาก็ต้องมีกำไร เราต้องทำให้เกษตรกรที่ปลูกพืชเชิงเดียว มีอาชีพใหม่คือ ปลูกป่าและสามารถดูแลครอบครัวได้ด้วย

“เอกชนที่ทำสวนป่าต้องสู้กับกำลังเอกชนที่ทำลายป่าในช่วง20-30ปีให้ได้ ”

 เหมือนเช่นที่กล่าวมา โมเดลพันธบัตรป่าไม้ นอกจากช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมได้แล้ว ยังให้ความสำคัญกับระบบเศรษฐกิจและกฎหมายด้วย

“ป่าเศรษฐกิจรูปแบบนี้ ต้องปลูกแบบผสมผสาน มีทั้งไม้สัก ไม้พลังงาน พืชเศรษฐกิจ สามารถจัดการโดยภาคเอกชน และตรวจสอบพื้นที่ด้วยระบบ GPS ภาคเอกชนสามารถร่วมกับชุมชนในพื้นที่ป่าสงวนฟื้นฟูป่า”

หากโมเดลพันธบัตรป่าไม้ถูกนำมาใช้ ก็จะมีการจัดตั้งกองทุน โดยได้เงินสนับสนุนจากภาครัฐซึ่งมีรายได้จากการออกพันธบัตร และเงินสนับสนุนจากต่างประเทศ รวมถึงเงินบริจาค เพื่อให้ทุกภาคส่วนในสังคมมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของป่าเศรษฐกิจของประเทศ โดยมีเป้าหมายในการปลูกป่าเศรษฐกิจ 26 ล้านไร่

ในส่วนของภาคเอกชนที่ลงทุนทำป่าเศรษฐกิจ อาจารย์อดิศร์ บอกว่า พวกเขาจะมีรายได้จากไม้เศรษฐกิจ ไม้พลังงาน รายได้จากคาร์บอนเครดิต และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ส่วนภาครัฐก็จะมีรายได้จากผู้ที่ได้ประโยชน์จากป่าเศรษฐกิจ และจ่ายคืนให้ผู้ลงทุนพันธบัตรพร้อมดอกเบี้ย

“การปลูกไม้เศรษฐกิจมีหลายสูตร บางสูตรมีไม้สักมากกว่าไม้ที่ใช้ทำพลังงาน หรือไม้ทำกระดาษ แล้วแต่พื้นที่ ถ้าผสมผสานระหว่างพืชเศรษฐกิจที่ให้ผลตอบแทนเร็ว หรือพืชเศรษฐกิจที่ปลูกนาน8-10ปี ก็จะมีผลผลิตทยอยออกมา” จงคล้าย รองอธิบดี กรมป่าไม้ กล่าว

ส่วนดร.อดิศร์ เสริมว่า ถ้าประเทศไทยสามารถปลูกไม้เศรษฐกิจได้ ก็จะประหยัดการนำเข้า และไม้เศรษฐกิจบางชนิดก็ส่งออกไปขายต่างประเทศได้ด้วย

“ปกติญี่ปุ่นขอซื้อไม้พลังงานจากไทยอยู่แล้ว ไทยน่าจะใช้โอกาสนี้ ผลิตไม้พลังงานเพื่อสร้างรายได้ การปลูกป่าผสมผสาน ยังช่วยสร้างสมดุลธรรมชาติ ลดปัญหาน้ำแล้ง น้ำหลาก ทำให้คนในพื้นที่มีงานทำ และแนวคิดนี้สามารถทำได้ตอนนี้ เพราะเรามีเทคโนโลยีระบบจีพีเอส หากใครลงทุนซื้อพันธบัตรป่าไม้ ก็จะได้พิกัดจีพีเอสพื้นที่ปลูกป่ากลับบ้านไปโชว์คนที่บ้านด้วย"

 

ปัญหากฎหมายดั้งเดิม 

แม้แนวคิดเรื่องพันธบัตรป่าจะเป็นโมเดลที่น่าสนใจ เพื่อสู้กับการปลูกพืชเชิงเดี่ยวของภาคเอกชน แต่ระบบนี้ก็ยังไม่เกิดขึ้น เนื่องจากปัญหากฎหมายดั้งเดิม  ไม้หลายชนิดถูกตีตราว่าเป็นไม้หวงห้าม ตามพ.ร.บ.ป่าไม้ปีพ.ศ. 2484 และพ.ร.บ.สวนป่าปี พ.ศ. 2535 ว่าด้วยการตัด ขน และย้ายไม้บางชนิดในป่าเศรษฐกิจจะกระทำได้ยาก

 “ถ้าจะปลูกไม้ยืนต้น ก็ต้องดูว่าเป็นไม้หวงห้ามหรือไม่ มีกฎหมายว่าด้วยไม้หวงห้ามหลายชนิด ทำให้ความฝันป่าเศรษฐกิจไม่เกิดขึ้น กฎหมายหลายฉบับที่เขียนไว้ในบริบทต่างยุคต่างสมัย ทำให้แนวคิดพันธบัตรป่าไม้เกิดขึ้นได้ยาก ต้องยกร่างกฎหมายป่าไม้ใหม่ ” ดร.อดิศร์ กล่าว

ทางด้าน สันติ โอภาสปกรณ์กิจ กลุ่มบิ๊กทรี บอกว่า ในอดีตเกาหลีเคยมีพื้นที่ป่า 75 เปอร์เซ็นต์ พอเกิดสงครามเกาหลี พื้นที่ป่าเหลือแค่ 30 เปอร์เซ็นต์ เพราะอเมริกาทิ้งระเบิด ป่าก็เลยหายไป

“เมื่อก่อนเกาหลียังไม่เจริญก็ใช้ไม้ในป่าทำฟืน ต่อมาใช้ถ่านหิน และช่วงเป็นเมืองขึ้นญี่ปุ่น ไม้ถูกตัดไปเยอะ มาถึงยุครัฐบาลเผด็จการมีการพาคนไปปลูกป่า โดยปลูกต้นไม้ไว้กว่าหมื่นล้านต้น”

นั่นเป็นการปลูกป่าแบบรัฐบาลเกาหลีเผด็จการ ส่วนคอสตาริกาประเทศเล็กๆ ในอเมริกากลาง สันติ เล่าว่า เคยมีพื้นที่ป่าประมาณ 85 เปอร์เซ็นต์ กระทั่งความเจริญทำให้พื้นที่ป่าเหลือ 25 เปอร์เซ็นต์ มีการตัดไม้ไปขายเพื่อปลูกพืชเชิงเดียว และเลี้ยงวัว ซึ่งมีลักษณะคล้ายประเทศไทย

“ปัญหาที่คล้ายกันคือ ปลูกข้าวโพด เลี้ยงสัตว์ ปลูกแล้วไม่รวย ประเทศเขาก็เลยเลิกตัดต้นไม้ หันมาปลูกป่า ระยะเวลา 20 ปี เพิ่มป่ามาได้ 50 กว่าเปอร์เซ็นต์ หากเจ้าของที่ดินในคอสตาริกาปลูกป่าจะมีการลดภาษีให้ สิ่งสำคัญคือ รัฐบาลคอสตาริกาเลิกสนับสนุนการเลี้ยงวัว ทำให้อุตสาหกรรมเลี้ยงวัวอยู่ยาก เหมือนที่น่านปลูกข้าวโพด เพราะรัฐสนับสนุนให้ปลูก เพื่อนำมาเลี้ยงวัว หมู ถ้าเรายังสนับสนุนให้ปลูกข้าวโพด ป่าก็ไม่เกิด” สันติ กล่าว

อีกประเด็นที่สันติตั้งคำถาม ก็็คือ เป็นไปได้ไหมที่จะเปลี่ยนคนจน 14 ล้านที่มารับเงินกองทุนไปโดยไม่ทำอะไรเลย ให้หันมาช่วยรัฐบาลปลูกป่าแล้วได้เงิน เพราะคนส่วนนี้ก็อยู่ในพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมอยู่แล้ว

 “เงินที่รัฐบาลเอาไปใช้ เพื่อลดปัญหาสังคม น่าจะเอามาใส่ในกองทุนเหล่านี้ ถ้าทำได้ นอกจากแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมได้แล้ว ยังแก้ปัญหาสังคมได้ด้วย อย่างกองทุนปลูกป่าของคอสตาริกา ตั้งขึ้นมาช่วยผู้ปลูกป่าขนาดเล็กและขนาดกลาง" 

 

((((ล้อมกรอบ)))

ปลูกป่าภาคเอกชน

ณรงค์ มีนวล ผู้แทนจากบริษัทสยามฟอเรสทรี จำกัด

“เรามีนวัตกรรมการปลูกป่า และพื้นที่สวนป่ากระจายอยู่สามสิบจังหวัดทั่วประเทศ มีโรงงาน และผลิตกล้าไม้เอง ส่งเสริมให้ปลูกมา 20 ปี การทำเรื่องสวนป่าเรื่องเดียว ตอบโจทย์ได้ทุกเรื่อง ห้าปีก็ตัดขายได้แล้ว ปลูกแค่หนึ่งครั้งตัดได้สามครั้ง ต้องยอมรับว่าสวนป่าขนาดใหญ่หมื่นไร่ในประเทศไทยไม่มีแล้ว ส่วนใหญ่เป็นรายเล็กๆ ป่าที่ปลูกมีการทำแผนที่ ตรวจสอบด้วยระบบจีพีเอส ”

............. 

เฉลิมชัย จากกลุ่มไม้กฤษณา

"ตั้งแต่ ปี2540กลุ่มของผมดิ้นรนแก้ไขกฎระเบียบ ทำให้ไม้กฤษณาย้ายจากสังกัดกรมป่าไม้มาสังกัดอยู่ กรมวิชาการเกษตร จากไม้ป่าหวงห้าม เปลี่ยนมาเป็นพรรณพืชอนุรักษ์บัญชีสอง

ไทยเป็นประเทศแรกที่มีการขึ้นทะเบียนแปลงไม้กฤษณาที่ถูกต้อง สามารถส่งออกไปขายทั่วโลก ความต้องการไม้กฤษณามีเยอะ แต่คนไทยไม่ค่อยสนใจ คาดว่าปีนี้กลุ่มสหกรณ์และวิสาหกิจชุมชนมีสมาชิกสองแสนกว่า มีพื้นที่ปลูกแปดล้านกว่าไร่ พวกเขาไม่ได้ปลูกกฤษณาอย่างเดียว ยังมีไม้ตะเคียน ประดู่ ฯลฯ แต่กลุ่มของผมจะไม่รับซื้อไม้กฤษณาจากป่า”