‘คนพูดไม่รู้เรื่อง’ก้าวข้ามข้อจำกัดสู่งานพิธีกรหลักงานเกาหลี

‘คนพูดไม่รู้เรื่อง’ก้าวข้ามข้อจำกัดสู่งานพิธีกรหลักงานเกาหลี

“...ผมเชื่อว่าการเป็นพิธีกรเราต้องรู้ให้เยอะ คุยได้ทุกเรื่อง อ่านให้เยอะ ดูให้เยอะ ฟังให้เยอะ ในบางสถานการณ์เราต้องฟัง บางสถานการณ์เราต้องเป็นคนพูด ผมว่าการดูเยอะ เสพเยอะ มันได้เปรียบเพราะว่าทำให้เราคุยกับเขาได้ทุกเรื่องในทุกเพศและทุกวัย”

นั่นเป็นคำพูดของ คิว-ธิติพันธ์ สุริยาวิชญ์” หรือที่หลายๆ คนรู้จักในชื่อ ดีเจคิว คิ้วสาหร่าย” เคยได้รับโอกาสครั้งหนึ่งในชีวิตสู่การเป็นพิธีกรอีเว้นท์งานศิลปินเกาหลี หลายคนอาจจะคุ้นหน้าและเคยเจอกับ ดีเจคิว งานแถลงข่าว แฟนมีตติ้ง และรวมไปถึงคอนเสิร์ตของศิลปินเกาหลีที่เดินทางมาพบปะกับแฟนคลับชาวไทย และหลาย ๆ คนคุ้นเคยกับการทำงาน การเอาใจใส่ของผู้ชายคนนี้ จนเกิดกระแสจากแฟนคลับศิลปินเกาหลีว่า ‘ดีเจคิว’ คือ พิธีกรที่ดีที่สุดในงานของศิลปินเกาหลี 

      กว่าจะมาถึงจุดนี้ กว่าการทำงานทุกอย่างจะเสร็จสมบูรณ์และเป็นที่ชื่นชมจากแฟนคลับของศิลปินและผู้จัดงาน ศิลปิน รวมไปถึงแฟนๆ นั้นเส้นทางกว่าจะมาเป็นพิธีกรทุกวันนี้ ผู้ชายคนนี้เคยเป็น คนที่พูดไม่รู้เรื่อง พูดเร็ว’ แต่เพราะได้รับโอกาสจากผู้ใหญ่คนหนึ่ง ทำให้ดีเจคิวต้องฝึกฝนตัวเองทำให้ได้เหมือนคำพูดที่ว่า ของแบบนี้...มันฝึกกันได้’

จากก้าวแรกของการเริ่มฝึกเป็นดีเจ โดยต้องทำเดโม่จัดรายการวิทยุสดทุกๆ วันในช่วงเวลา ตี2–ตี4 ดีเจคิวเล่าว่า ในช่วงเวลานั้นใช้เวลาฝึกอยู่ 2 เดือน ถึงเป็นช่วงที่คนฟังอาจไม่เยอะหรืออาจไม่มีคนฟังเลย นั่นคือการฝึกเพื่อให้เราคุ้นชินกับเครื่องมือและฝึกการพูด จนได้ย้ายมาจัดในช่วงเวลาที่มีคนฟังมากขึ้น 

“ช่วงเริ่มฝึกพิธีกร ผมทำเดโม่จัดรายการสดทุกวันที่อาร์ซีเอ ตอนตี2-ตี4 เป็นช่วงเวลาที่คนฟังอาจจะไม่เยอะมาก และฝึกเพื่อให้ผมคุ้นชินกับเครื่องมือและฝึกพูดไปด้วย ตอนนั้นเป็นวิทยุเพลงปกติ ซึ่งตอนนั้นผมไปฝึกอยู่ 2 เดือน อารมณ์เหมือนเด็กฝึกงานที่ต้องไปเทสต์งานก่อนที่จะผ่านโปรแล้วค่อยได้เป็นพนักงานประจำ จนพี่ ๆ บอกว่า ‘ผ่าน’ เราก็ย้ายมาเป็นดีเจจัดรายการเวลาบ่าย 3 คลื่นแรกที่ทำคือ ทรูมิวสิคเรดิโอ (93.5 FM) เมื่อหลายปีก่อน หลังจากเป็นดีเจ ตอนนั้นทางทรูมิวสิคเริ่มมีทีวี ผมก็ถูกชวนไปทำงานวีเจ ควบคู่ไปกับงานอื่นๆ ที่มีทั้งเล่นโฆษณา ละครทีวี ภาพยนตร์ เป็นนักแสดงรับเชิญบ้างและพิธีกรอีเว้นท์ ถ้าพูดถึงงานเบื้องหน้า ผมทำเกือบครบ ขาดแค่ออกซิงเกิ้ลและละครเวที  

ดูเหมือนว่า ความหลากหลายของอาชีพ งานพิธีกรของคิวโดดเด่นมากที่สุด 

     "ผมเปรียบการทำงานพิธีกรเหมือนการช้อปปิ้งในซูเปอร์มาร์เก็ต เราได้เลือกแต่สิ่งที่เราชอบ ซึ่งในงานเป็นพิธีกร ถ้าเราชอบรุ่นพี่คนไหน ก็ให้เลือกข้อดีจากรุ่นพี่โดยที่เราไม่ต้องไปก้อปปี้เขา แต่นำสิ่งที่เราเลือกมาตีวนกับส่วนผสมของตัวเองให้เป็นสไตล์ของเราเอง ช่วงแรกๆ ของการทำงาน ผมไม่รู้จักศิลปินเกาหลีเลย แต่พอมาทำหน้าที่นี้ก็ต้องหาข้อมูลว่าศิลปินคนนี้เป็นใคร รูปแบบงานแฟนมีตติ้งในประเทศไทยมีทั้งผู้จัดโปรโมเตอร์เป็นคนไทยและมีไดเร็คเตอร์เป็นคนเกาหลีที่เราไม่คุ้นเลย รู้สึกกดดันมากๆ เพราะเราไม่ได้ดูซีรีส์ทุกเรื่อง ไม่ได้ตติดตามศิลปินทุกวง ต้องขอบคุณน้องๆ แฟนคลับที่แชร์กับเรา ซึ่งงานแรกที่ผมที่ร่วมงานกับทางเกาหลี เริ่มจากการเป็นพิธีกรภาคสนามผลิตภัณฑ์น้ำหอมที่มีศิลปินเอสเจเป็นพรีเซนเตอร์ ทำไปเรื่อยๆ ก็ได้เป็นพิธีกรหลักในงานแฟนมีตติ้งเดี่ยวของปาร์คยูซอน (อดีตสมาชิกวงดงบังชินกิ) เมื่อหกปีก่อน  ตรงนี้แหละที่ประสบการณ์สอนเราให้เก่งขึ้น รู้ใจคนดูว่าเขาต้องการอะไร อย่างตอนที่เชิญแฟนคลับขึ้นบนเวทีมาเล่นเกมส์กับศิลปินเกาหลี เราก็เปิดโอกาสให้เขาถ่ายรูปคู่กัน ก็เรียกเสียงกรี๊ด เป็นที่อิจฉาในหลุ่มคนดูที่อยู่ข้างล่างเวที หรือบางครั้งแฟนคลับที่อยู่ไกลเวที คิวจะคอยบอกให้ศิลปินหันไปทักทาย รวมทั้งสอนให้ศิลปินพูดภาษาไทยบอกรักแฟนๆ อันนี้คนก็ชอบกันนะ"  การทำงานพิธีกรท่ามกลางความรักของศิลปินและแฟนคลับ มีหลายครั้งที่หนุ่มคนนี้ต้องเสียน้ำตาให้กับสิ่งดีๆ ที่แฟนคลับกับศิลปินมอบให้กันและกัน 

    “ทุกครั้งที่ได้เห็นแฟนคลับกับศิลปินในงานแฟนมีตติ้ง ทำให้ผมน้ำตาซึม หลายๆ ครั้งที่ผมต้องหันหน้าหนี บางครั้งก็มีร้องไห้ด้วย จนศิลปินต้องเอาผ้าเช็ดหน้ามาซับให้ อันนั้นเราก็ประทับใจ เพราะพลังของความรักของคนๆ หนึ่งอย่างมากมาย ผมรับรู้ได้ ดีใจกับศิลปินกับน้องๆ ที่ได้มีเวลาดีๆ ร่วมกัน นั่นถือว่างานของผมประสบความสำเร็จแล้วในฐานะที่เราเป็นตัวกลางเชื่อมให้ทุกคนมีความสุข 

 

 ภาพ : NOW26