“เงินดิจิทัล” เหรียญสองด้าน..โจทย์ท้าทาย “ธปท.-ก.ล.ต.”

“เงินดิจิทัล” เหรียญสองด้าน..โจทย์ท้าทาย “ธปท.-ก.ล.ต.”

ปัจจุบันกระแสการระดมด้วยเงินดิจิทัล โดยการเสนอขายเหรียญในระยะเริ่มต้น หรือ ICO (Initial Coin Offering) กำลังเป็นที่นิยมของบรรดาบริษัทสตาร์ทอัพหลายๆ ทั่วโลก บริษัทหลายแห่งกระโดดเข้ามาในตลาดที่เหมือนน้ำไหลเชี่ยวอย่างรวดเร็ว

ในขณะที่ไม่นานมานี้ ICO เพิ่งจะได้รับการรับรองจากคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศสหรัฐ (SEC) ที่ออกมาประกาศให้ ICO อยู่ภายใต้กฎหมายการแลกเปลี่ยนแล้ว รวมถึงธนาคารกลางแห่งสิงคโปร์ก็ได้ออกมากล่าวในลักษณะเดียวกัน

แต่ถึงแม้ SEC ของสหรัฐ จะออกมาควบคุมการลงทุนดังกล่าวแล้วก็ตาม แต่ก็ยังมีนักลงทุนบางคนที่ออกมาแสดงความไม่พอใจ เพราะมองว่าการออกกฎหมายมาควบคุมจะทำให้นักลงทุนหน้าใหม่สูญเสียความเป็นอิสระไป ในขณะที่บางกลุ่มมองว่า การทำให้ถูกกฎหมายนั้นเป็นเรื่องดี น่าจะสามารถเข้ามาแก้ไขปัญหาเมื่อ ICO เกิดความนิยมขึ้นมา ทำให้มีธุรกิจประเภทหลอกลวงนำเอาชื่อ ICO มาแอบอ้าง และหลอกเอาเงินจากนักลงทุนไปได้

อย่างไรก็ดี “ICO” จะเป็นอีกช่องทางใหม่ให้บริษัทสตาร์ทอัพสามารถระดมทุนได้ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าตอนนี้ในไทยยัง “ไม่มีกฎหมายรองรับ” ในขณะนี้มีเพียง 2 หน่วยงานกำกับตลาดเงินและตลาดทุนไทย ทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท. ) และคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) อยู่ระหว่างร่วมกันศึกษาแนวทางกำกับอย่างเข้มข้น แต่ยังไร้เงาเจ้าภาพผลักดันเรื่องนี้อย่างจริงจัง

เวที กรุงเทพธุรกิจ Roundtable #ซีรีส์4 “โอกาส Startup กับการระดมทุนด้วยเงินดิจิทัล” บัญชา มนูญกุลชัย ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเทคโนโลยีทางการเงิน ธปท. ย้ำชัดว่า ทุกอย่างเหมือน “เหรียญสองด้าน” แม้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ลงทุนในแง่การระดมทุน แต่ก็ต้องไม่ให้ใช้ช่องทางนี้ถูกนำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์

ขณะนี้จึงยังเร็วเกินไปที่จะฟันธงกับเรื่องใหม่นี้ว่าจะรองรับหรือไม่ เรายังระวังเช่นกัน จากนี้ ธปท. กับ ก.ล.ต. ต้องร่วมศึกษากันอย่างใกล้ชิด และพยายามเร่งให้ทันกับเงินดิจิทัลที่มีการเปลี่ยนแปลงเร็วและรูปแบบหลากหลาย เราไม่ได้นิ่งนอนใจ”เพราะโจทย์ที่ท้าทายเราคือ “ ต้องดูแลคุณประโยชน์ให้กับผู้บริโภค“ แต่สิ่งที่สำคัญกว่า นั่นคือ ”การให้ความรู้ที่ถูกต้องกับประชาชน

สอดรับกับทาง อาจารีย์ ศุภพิโรจน์ ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมเทคโนโลยีการเงิน ก.ล.ต. ย้ำว่า โลกของเงินดิจิทัล ยังเปรียบเสมือนโลกสังคมคาวบอยแดนเถื่อน แนวทางการกำกับดูแลให้ถูกกฎหมายนั้น ก็พยายามดูข้อกังวลต่างๆ อย่างระมัดระวัง 

แต่จะไม่ปิดกั้นเพราะมีโยชน์กับผู้ลงทุน หากปิดกั้นอาจไปที่อื่นแทน แต่ยังรอความชัดเจนหน่วยงานกำกับทั่วโลกจะไปทางไหนกัน ซึ่งการออกกฎเกณฑ์ยังช้ากว่านวัตกรรมที่เปลี่ยนไว นับว่า เป็นความท้าทายเช่นกันแต่ ที่สำคัญตัวผู้ลงทุนก็ต้องเข้าใจและมีความรู้ที่ดีพอด้วย เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ ซึ่งตอนนี้บริษัทจดทะเบียนในตลาดฯยังทำICO ไม่ได้

อาณัติ ลีมัคเดช ผู้อำนวยการโครงการปริญญาโททางการเงิน คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บอกว่า เราไม่ควรปิดโอกาสการระดมทุนด้วยเงินดิจิทัล แต่การกำหนดกฎเกณฑ์กำกับดูแลใดๆ ต้องรอบคอบมองให้ครบทุก มุม อย่างที่ ธปท.และก.ล.ต. พยายามศึกษาอยู่นั้นเอง แต่ตอนนี้เมื่อนักลงทุนยิ่งได้รับฟัง ICO มากขึ้น จนกลัวตกขบวน อย่างเช่นเมื่อเร็วๆนี้มีบริษัทไทย เพิ่งระดมทุนไปประมาณ25 ล้านดอลลาร์ หลังจากนั้นค่าเงินที่เทรดในตลาดปรับขึ้นมา5เท่า คราวหน้าถ้ามีใครมา ICO จะต้องรีบกระโจนเข้าไป มองว่า "ตรงจุดนี้ น่าห่วง เพราะ หากเกิดเหตุไม่คาดคิด ตอนนี้คงไม่มีใครช่วยคุณได้”

แนะนำว่า นักลงทุนต้องช่วยเหลือตัวเอง ตรวจสอบในตัวโปรเจคที่ลงทุนครบถ้วน และมองว่า การเริ่มต้น ICOที่ประสบความสำเร็จ ควรจะมีการสร้างเงินใหม่ต้องสอดคล้องรูปแบบทางธุรกิจที่ต้องสร้างแรงจูงใจให้คนเข้ามาเป็นลูกค้าในธุรกิจจริงๆ มากกว่าหวังเข้าเพื่อเก็งกำไรกันอย่างเดียว

นอกจากนี้ในอนาคตสิ่งที่น่าเป็นห่วง คือการเข้ามาของ “เงินดิจิทัล" อาจจะแทน เงินที่รัฐบาลสนับสนุน ซึ่งผลกระทบที่จะเกิดขึ้นชัดเจน คือ ธปท. จะไม่สามารถดำเนินนโยบายทางการเงินได้เลย ถ้าหากในอนาคต คนไทยไม่ใช่เงินบาท หันไปใช้ อาลีเพย์ หรือ บิทคอยท์ อำนาจการดำเนินโยบายการเงินจะหายไป เชื่อว่า ธปท.ก็รู้ถึงจุดนี้

ปรมินทร์ อินโสม ผู้ร่วมกองตั้ง Zcoin ระบุว่า หลังจากความสำเร็จในการระดมทุน ICO ของบริษัทสตาร์ทอัพหลายๆ บริษัทที่เริ่มจะมีมากขึ้นเรื่อยๆในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ พบว่า มูลค่าตลาดรวมของการลงทุนแบบ ICO เติบโตเป็น2เท่าของการระดมทุนปกติแบบIPO หรือ มูลค่า ICO มีถึง1,200ล้านดอลลาร์ ขณะที่ มูลค่า IPO มีเพียง600 ล้านดอลลาร์ และการลงทุนของ ICO ในระดับวินาที มูลค่าสูงถึง 19ล้านดอลลาร์ ทำให้นักลงทุนอยากระดมทุน ICO ผ่านบริษัทสตาร์อัพ

สุดท้ายแล้ว เมื่อไทย ยังไม่มีการรับรองจากหน่วยงานกำกับว่าถูกหรือผิด และในเวลาเดียวกัน เงินดิจิทัล ก็ต้องการรองรับในไทย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน แต่ถ้าไม่ได้ ก็สามารถทำICOในบางต่างประเทศที่รองรับได้อยู่แล้วเช่นสหรัฐ ดังนั้นทุกฝ่ายคงต้อง trade off จุดดีและจุดเสียให้สมดุล