ยิ่งเห็นยิ่งเข้าใจ “ปาน ธนพร”

ยิ่งเห็นยิ่งเข้าใจ “ปาน ธนพร”

เมืองลับแลทำไมถึงมีการบายศรีผลไม้แต่ละปี เพราะเขาต้องขอบคุณเทวดา ฟ้าดิน ที่ทำให้เลี้ยงชีพได้ เราไม่ได้มองว่าเป็นสิ่งงมงาย แต่กลับมองว่านี่คือการกตัญญูต่างหาก

    บนเวทีคอนเสิร์ต ปาน-ธนพร เวกประยูร ถือเป็นนักร้องหญิงคุณภาพอีกคนของวงการเพลงบ้านเรา นอกจากน้ำเสียงอันเป็นเอกลักษณ์แล้ว เนื้อหา “เฉือดเฉือนผู้ชาย” ถือเป็นลายเซ็นต์ที่นักฟังเพลงรู้กันดี 

อีกด้าน ชีวิตของเธอใช้ธรรมะเป็นสรณะ และมักใช้ความสามารถที่มีสื่อสารหลักธรรมมีทำนอง ส่งต่อไปยังสังคมอยู่เสมอ 

ขณะที่ หากพูดถึง “ชีวิตจริง” ของ ปาน-ธนพรแล้ว เธอกลับออกตัวว่า ไม่ได้มีอะไรหวือหวา หรือมีสีสันอย่างใครเขาสักเท่าไหร่ เป็น “สายชิลล์” เสียมากกว่า และมักมีมุขตลกพร้อมส่งความสุขให้กับคนรอบข้างเสมอ

“บางทีคนมองว่าดุเรานิ่งไง จะทำไงได้ล่ะ ก็เครื่องหน้าเราเป็นแบบนี้ ไม่รู้จะไปแก้ยังไง” เธอเล่าเคล้าเสียงหัวเราะ 

ยิ่งไปกว่านั้น สาวปาก (เพลง) ร้ายคนนี้ยังชอบตระเวณไปซึมซับความเป็นไทยตามสถานที่ต่างๆ ด้วย แถมยังจริงจังขนาด "ให้เห็น ให้รู้" อีกต่างหาก  

หลายคนบอกว่า ภาพของปาน ธนพร คือคนจริงจัง จริงไหม

จริง ๆ เป็นคนเรียบๆ นะ ไม่ได้มีอะไรหวือหวาอยู่แล้ว บางทีก็เรียบจนกลายเป็นคนนิ่งจนคนอื่นมองเราดุไปเลย จะทำไงได้ล่ะ ก็เครื่องหน้าเราเป็นแบบนี้ ไม่รู้จะไปแก้ยังไง (หัวเราะ) อาจจะเป็นกรรมที่ทำมาทำให้เครื่องหน้าของฉันดุแบบนี้ (ยิ้ม) แต่จริง ๆ แล้วก็ไม่ได้เป็นคนแบบนั้น ถ้าสิ่งที่ได้ยินจากศิลปินพวกเขาจะรู้ว่า เราเป็นคนแบบไหน ดุแท้ ดุเทียม ก็เป็นคนตลกนะ เป็นคนอารมณ์ดี ไม่ค่อยโกรธ ถ้าโกรธก็จะโกรธน้อยแต่พอขึ้นเวที หรืออยู่กับเพื่อนๆ ก็มักจะ มีมุขต่างๆ มาเสมอ ?

มันเป็นนิสัยนะ (หัวเราะ) หรือที่เรียกว่าเป็นกมลสันดานอนุสัยที่มาเอง ไม่ต้องเตรียมอะไรเลย แต่ถ้าให้เราไปเล่นตลกอะไรแบบนั้น เราก็ทำไม่ได้ เพราะเราไม่ได้เป็นคนที่เนเจอร์หัวไวขนาดนั้น ถ้าในความฉับพลันมันก็จะแว้บขึ้นมาเอง

เห็นว่า เป็นนักชิมด้วย ?

กินทุกอย่าง ก็ดูหุ่นตอนนี้สิ (หัวเราะ) หรือถ้าส่งไปทำอาหารเราคิดว่าต้องรุ่งแน่นอน เพราะเป็นคนกินอะไรอร่อยมาก และสามารถพรีเซนต์ออกมาได้ดีและเพิ่มมูลค่ามาก จริง ๆ เป็นคนที่มีพรสวรรค์ด้านนี้มาก

ถ้าถามถึงร้านอาหารในดวงใจล่ะ

เราชอบกินอะไรพื้น ๆ ไม่ชอบกินอาหารฟิวชั่น ถ้ากินก็ต้องกินอาหารไทยไปเลย อย่าง ฉูฉี่ปลาเนื้ออ่อนเนี่ย คือเด็กไทยสมัยนี้จะไม่รู้จักแล้วว่าคืออะไร แต่นี่คืออาหารไทยแท้นะ ที่ต้องมีการใส่น้ำปลานะ เพราะคนไทยชอบกินอาหารชอบใส่น้ำปลา สิ่งเหล่านี้ทุกคนต้องรู้ เป็นคนชอบชิม แต่ถ้าจะให้ทำอาหาร ไม่ทำเพราะทำไม่เป็น (ยิ้ม) แต่เคยมีคนบอกให้ไปเรียนทำอาหาร เนื่องจากว่าเป็นคนที่กินอาหารอร่อย รู้ว่าอะไรอร่อย ถ้าไปเรียนจริงจังก็น่าจะทำอาหารได้อร่อย แต่ขี้เกียจ (หัวเราะ) จริง ๆ ก็อยากทำอาหารนะ มันเป็นเสน่ห์ปลายจวัก แต่ขี้เกียจตอนล้าง ก็เลยคิดว่าไม่เอาดีกว่า 

มีร้านอาหารในดวงใจไหม

จะอยู่ตามต่างจังหวัด เช่น สุพรรณบุรี อยุธยา เป็นร้านที่ทำอาหารไทยแท้

แบบนี้ก็แสดงว่าไปต่างจังหวัดบ่อยด้วย ?

ใช่ค่ะ เราเป็นคนที่ชอบไปตามสถานที่โบราณต่าง ๆ ไม่ชอบไปที่หวือหวาถ้าทันสมัยที่สุด คือ เดินห้างสรรพสินค้า (หัวเราะ) สถานที่เหล่านั้น เป็นสิ่งที่ทำให้เราได้เห็นปัจจุบัน เพราะเราเรียนรู้จากอดีต ยิ่งเวลาเราได้มองทำให้เห็นถึงรากเหง้า และรักชาติ รักแผ่นดินมากขึ้น และเห็นคุณค่าอะไรหลายๆ อย่างในชีวิตที่ผ่านมา เราขับรถไปอยุธยาเองบ่อยมาก และอีกสถานที่หนึ่งคือ เมืองลับแล จ.อุตรดิตถ์ แต่ก็แปลกนะทั้งๆ ที่จังหวัดนี้เรียบง่ายมาก แต่สิ่งแบบนี้มันมีวิถีค่อนข้างมาก เช่น เวลาเราโยน ปลูกอะไรลงไปก็เจริญงอกงามหมด เลยเรียกว่า ภูเขากินได้ เราไปบ่อยมาก จนเรารู้สึกอยากไปอยู่ที่นั้นเลย

ไปแต่ละครั้งนี่ใช้เวลาที่นั่นนานแค่ไหน

หลายวันอยู่นะ ประมาณ 4-5 วัน ไปดูการปลูกนาข้าว ทอผ้า ซึ่งสิ่งแบบนี้เราไม่รู้จะไปหาดูได้ที่ไหนในกรุงเทพฯ ยิ่งเราไปเห็นวิถีของพวกเขาทำให้เรารู้สึกช้าลง นิ่งลง และเห็นคุณค่าของเขา พร้อมมองย้อนกลับมาที่ตัวเองว่าทุกวันนี้เราได้ใช้ชีวิตเปลืองมาก …บางทีเราเห็นพวกเขาทอผ้าพันคอกันผืนหนึ่ง ต้องใช้เวลาหลายชั่วโมงซึ่งทำให้ตั้งราคาขายที่ค่อนข้างสูงพอสมควร แต่เรากลับบอกว่า แพง มันทำให้เราสะท้อนใจว่า…เอ้า! ทีเราไปซื้อยี่ห้อแบรนด์เนม โดยที่ไม่รู้สึกว่าแพงล่ะ แต่พอเป็นสินค้าแฮนด์เมด ที่เรียกร้อง ราคาเท่านี้ มันแพงเหรอ ทำให้เราสะท้อนความเห็นอกเห็นใจกับกลุ่มเหล่านี้มากขึ้น

แสดงว่า สิ่งที่เราได้ไปสัมผัสก็สามารถย้อนกลับมาสอนชีวิตของเราด้วย

ใช่ค่ะ เพราะเราก็เรียนรู้จากเขา และชอบมากที่สุดเวลาเดินงาน OTOP เพราะเรามีความคิดว่า งานแบบนี้ควรส่งเสริม และคนไทยก็ควรไปเดินเพื่อให้เม็ดเงินได้สะพัดในประเทศ ถ้าสังเกตดีๆ นะ เจ้าของแต่ละสินค้า แต่ละปี ก็จะผุดไอเดียขึ้นมาตลอดเพื่อให้สินค้าของตัวเองมีความหลากหลายมากกว่าเดิม ปีหนึ่งเราจะเก็บเงินไว้สำหรับงานแบบนี้โดยเฉพาะ อาจจะเป็นเพราะว่าเมื่อก่อนจะช็อปแต่ของมียี่ห้อ ซึ่งบางทีก็ไม่ได้มีคุณภาพดีขนาดนั้น แต่เราเลือกที่จะจ่าย แต่ตอนนี้เราจ่ายเงินเพื่อคนไทยด้วยกันเอง เราจะเลือกซื้อของเท่าที่เราใช้ เท่าที่จำเป็น

อะไรที่ทำให้เราคิดแบบนี้ เป็นมานานเท่าไหร่แล้ว

4-5 ปีแล้วนะ ที่เป็นแบบนี้ ถ้าถามว่าอะไรที่ทำให้ตัวเราเองเปลี่ยน นั้นเป็นเพราะสิ่งที่เราได้ไปเห็น สัมผัส อย่าง ผ้าถุงหนึ่งผืน กว่าจะสำเร็จออกมาให้เราเห็นนี่มันยากมากเลยนะ ไม่ต้องแปลกใจที่ราคาจะสูงถึงสามหมื่นบาท เพราะกระบวนการผลิตของเขานั้นค่อนข้างซับซ้อน ละเมียดละไม หรือแม้กระทั่งตัวไหมที่ปีนึงให้ไหมในการผลิตแค่ครั้งเดียว ซึ่งถ้าเปรียบเทียบมูลค่าแล้ว สามหมื่นยังถูกไปด้วยซ้ำ เพราะกว่าเขาจะได้ไหมมาทอแต่ละเส้น ต้องเลี้ยงใช้ระยะเวลา

ขอยกตัวอย่างประสบการณ์โดยตรงเลยคือ เห็นกระเป๋าใบเล็กพร้อมกับปักอย่างสวยงาม เลยเดินเข้าไปถามราคาประมาณ 3,500 บาท เราเลยต่อรองราคากับแม่ค้าว่าสามารถลดลงอีกได้ไหม แม่ค้าไม่พูดอะไรเลย เพียงแค่พูดประโยคสั้นๆ ว่า ปัก 3 เดือน! เท่านั้นแหละ เรารีบควักจายเงินเลย อารมณ์เหมือนโดนด่าอะไรประมาณนั้น (หัวเราะ) ซึ่งเราคิดว่างานอะไรก็แล้วแต่ที่มีความลงทุนปราณีต ทำให้มีมูลค่าอยู่แล้ว

มองงานฝีมือของคนไทยวันนี้ภาพรวมเป็นอย่างไร

ดีขึ้นเรื่อยๆ แต่ท้ายที่สุดก็คือเจ้าของผลิตภัณฑ์มีการทำการบ้านมากน้อยแค่ไหนเพื่อให้ตรงตามความต้องการของตลาด หรือ บางผลิตภัณฑ์ก็ยังย้ำอยู่ที่เดิม ท้ายที่สุดแล้วเราอยากให้อนุรักษ์ไว้เพราะนี่เป็นศาสตร์ด้านหนึ่งเหมือนกัน ยิ่งผ้าไทยเรามีตัวอย่างสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถที่ทรงทะนุถนอมมาก เราเลยเข้าใจแล้วว่าทำไมท่านถึงผลักดัน เพราะได้ทรงไปสัมผัสสิ่งเหล่านี้

***เมืองลับแลทำไมถึงมีการบายศรีผลไม้แต่ละปี เพราะเขาต้องขอบคุณเทวดา ฟ้าดิน ที่ทำให้เลี้ยงชีพได้ เราไม่ได้มองว่าเป็นสิ่งงมงาย แต่กลับมองว่านี่คือการกตัญญูต่างหาก

ภาพ : Green Concert #20 The 3 Master