เทคนิคระบุเพศต้นอินทผลัม

เทคนิคระบุเพศต้นอินทผลัม

นักวิจัย ม.นเรศวร พัฒนาเทคนิคคัดแยกเพศต้นอินทผลัมในแล็บ แก้ปัญหาเกษตรกร ลดต้นทุน ความเสี่ยงการปลูกและทดแทนการนำเข้าต้นกล้าจากต่างประเทศ

นักวิจัย ม.นเรศวร พัฒนาเทคนิคคัดแยกเพศต้นอินทผลัมในแล็บ แก้ปัญหาเกษตรกร ลดต้นทุน ความเสี่ยงการปลูกและทดแทนการนำเข้าต้นกล้าจากต่างประเทศ เล็งวิจัยต่อยอดเป็นเทสต์คิตที่ใช้งานง่ายโดยเกษตรกร ลดพึ่งพาผู้เชี่ยวชาญและเครื่องมือซับซ้อนในแล็บ


อินทผลัม ผลไม้ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมของท้องตลาดเนื่องจากผลมีรสชาติหอมหวานฉ่ำ รับประทานได้ทั้งผลสดและอบแห้ง ผลสุกมักนิยมนำไปตากแห้ง สามารถเก็บไว้กินได้หลายปีเพื่อให้ลดต้นทุนและเวลาการผลิตของเกษตรกร ราคาจำหน่ายกิโลกรัมละ 500-700 บาท เกษตรกรให้ความสนใจมากกับพืชตัวนี้ เนื่องจากมีถิ่นกำเนิดมาจากประเทศที่มีความแห้งแล้งในแถบอาหรับ เมื่อนำมาปลูกในประเทศไทยซึ่งมีฝนตกชุกก็ยังให้ผลผลิตค่อนข้างสูง แม้ว่าสภาพแวดล้อมจะแตกต่างจากถิ่นกำเนิดก็ตาม


่ปัญหาของพืชชนิดนี้คือ มีทั้งเพศผู้และเพศเมีย เพศเมียจะให้ลูกหรือผลผลิต แต่เพศผู้จะให้เกสรอย่างเดียวโดยไม่มีผลผลิต เกษตรกรจึงต้องการต้นเพศเมียเป็นหลัก หรือเฉลี่ย 5-8 ต้นต่อต้นตัวผู้ 1 ต้น แต่ปัญหาคือ เกษตรกรไม่รู้ว่าต้นกล้าใดเป็นตัวผู้หรือตัวเมีย ต้องสุ่มปลูกในแปลงก่อน กว่าจะทราบเพศต้องใช้เวลา 3-5 ปี ทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดูแล การจัดการ ค่าสารเคมีและค่าจ้างแรงงาน


นายนพรัตน์ อินถา อาจารย์สาขาเทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร มหาวิทยาลัยนเรศวร (มน.) ศึกษาวิจัยเพื่อช่วยเกษตรกรให้มี 2 ทางเลือกในการแยกเพศต้นอินทผลัม คือการใช้เครื่องหมายดีเอ็นเอระบุเพศตั้งแต่ 6 เดือนถึง 1 ปี ซึ่งเป็นช่วงที่เป็นต้นกล้าก่อนนำไปลงแปลงปลูก เทคนิคนี้จะสามารถระบุเพศได้ทันทีภายใน 3 ชั่วโมง


ส่วนอีกวิธีเป็นการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อจากต้นเพศเมียที่มีลักษณะดี ให้ผลใหญ่ หวาน รสชาติดี ก็จะได้ต้นเพศเมียตามต้นแบบ 100% ขณะที่วิธีจำแนกเพศจะมีความเสี่ยงการกลายพันธุ์ ผลผลิตอาจไม่เหมือนต้นเดิม100% เพราะปลูกด้วยเมล็ด จากการวิจัยและค้นคว้าแยกดีเอ็นเอทำให้รู้เพศของอินทผลัม ถือว่า เป็นผลดีต่อเกษตรกรในการลดต้นทุน ลดเวลาในการเพาะปลูก ทว่าทั้ง 2 งานวิจัยยังไม่ได้ออกสู่เชิงพาณิชย์ ดังนั้น แนวทางที่นำไปต่อยอดในเชิงพาณิชย์คือ ในแง่ของการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อในแล็บสามารถที่จะถ่ายทอดให้เอกชนได้หรือไม่ ก็ให้เอกชนเป็นคนร่วมทุนผลิตและจำหน่ายในนามของบริษัทเอกชน หรือไม่ก็ถ่ายทอดเทคโนโลยีไปยังเอกชนได้เหมือนธุรกิจกล้วยไม้ที่เอกชนทำกัน อีกแบบคือมหาวิทยาลัยลงทุนทำแล้วให้เอกชนนำไปจำหน่าย


“ขณะนี้มีการนำเข้าต้นกล้าจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อจากต่างประเทศในราคาต้นละ1,200-1,500 บาท แต่หากสามารถผลิตเองในประเทศ ราคาจะลดเหลือ 800-1,000 บาท” นพรัตน์ กล่าว
ปัจจุบันในประเทศไทยมีการพัฒนาอินทผลัมพันธุ์แม่โจ้ 36 ได้รับความนิยมจากเกษตรกรกว่า 50% นอกจากนี้ก็มีพันธุ์บาฮีจากอาหรับและ พันธุ์ Deget Nour ส่วนใหญ่นิยมปลูกแบบกินสด ซึ่งให้ความรู้สึกอร่อย ดีต่อสุขภาพมากกว่ารับประทานแบบแห้ง ซึ่งเป็นที่นิยมในอดีตเพราะนำเข้าง่าย เก็บรักษาได้นาน


สำหรับความท้าทายในการทำงานวิจัยต่อไปคือ การคิดค้นชุดตรวจแยกเพศให้ใช้งานง่ายและรู้ผลเร็วขึ้น เกษตรกรสามารถนำไปตรวจเองได้ คาดว่าต้องใช้เวลาในการพัฒนา 3-5 ปี จากปัจจุบันตรวจด้วยการใช้เครื่องหมายเอ็นเอในแล็บมหาวิทยาลัย มีกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ที่ซับซ้อน และต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญ


ปัจจุบันอินทผลัมปลูกไปในหลายพื้นที่ในเชียงใหม่ ลำปาง กาญจนบุรีและจังหวัดแถบอีสาน เพราะเป็นพืชที่ทนแล้งได้ดี แม้แต่ในสุพรรณบุรีก็มีปลูกบ้างแล้ว จึงถือเป็นผลไม้ที่น่าสนใจเพราะสามารถปลูกในพื้นที่อากาศแห้งแล้งได้ผลดี ประกอบกับสามารถส่งออกไปจำหน่ายในประเทศอาหรับที่มีกำลังซื้อและความต้องการบริโภคสูง ไม่นับรวมตลาดใหม่อย่างประเทศจีนที่มีกำลังซื้อสูงด้วยเช่นเดียวกัน