ททท.ชงลดหย่อนภาษีแบ่ง3โซนสูงสุด5หมื่น

ททท.ชงลดหย่อนภาษีแบ่ง3โซนสูงสุด5หมื่น

ททท. เดินหน้าโครงการ “เที่ยวทั่วไทย ไปถึงถิ่น”   ถกคลัง ชงมาตรการ “ลดหย่อนภาษีเที่ยว 3 โซน”  แบบขั้นบันได หนุนเที่ยว 51 เมืองรอง ให้ลดหย่อนสูง 5 หมื่นบาท

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า การประชุมร่วมกับภาคเอกชนด้านการท่องเที่ยว วันที่ 8 ส.ค.ที่ผ่านมา ได้รับฟังความคิดเห็นในการเตรียมจัดทำโครงการ “เที่ยวทั่วไทย ไปถึงถิ่น”  เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายในท้องถิ่นผ่านการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ และกระจายตัวไปยังเมืองรองด้านการท่องเที่ยว โดยกลุ่มเป้าหมายครอบคลุมทั้งนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติ  ระยะเวลาดำเนินการ ไตรมาส 4 ตั้งแต่เดือน  ต.ค. - ธ.ค. 2560

ทั้งนี้  วาง 2 แนวทางดำเนินงาน ได้แก่ 1.การใช้มาตรการทางภาษี ซึ่งภาคเอกชนเห็นด้วยในหลักการในการให้ประชาชนนำค่าใช้จ่ายด้านท่องเที่ยวประกอบด้วย ที่พัก อาหาร ของที่ระลึกร้านค้าชุมชน ค่าบริการบริษัทนำเที่ยว มาหักลดหย่อนภาษี ซึ่งจะมีการกำหนดโซนการเดินทางท่องเที่ยวในเมืองหลัก เมืองรอง  ลดหย่อนเป็นลำดับขั้นบันได แบ่งเป็น โซน 1 เมืองท่องเที่ยวหลัก 14 จังหวัด ลดหย่อนภาษีได้ 15,000 บาท กลุ่มนี้มีฐานตลาดคนไทยสูงสุด, โซน 2 ได้แก่ 12 เมืองต้องห้ามพลาด จำนวน 12 จังหวัด ลดหย่อนภาษีได้ 30,000 บาท และโซน 3 จังหวัดท่องเที่ยวรองอื่นๆ จำนวน 51 จังหวัด ลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 50,000 บาท

หลักการดังกล่าว อิงแนวคิดจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ที่มีการกำหนดเขตที่ต้องการกระตุ้นให้เกิดการลงทุนเพิ่มเติม และให้สิทธิประโยชน์เป็นพิเศษต่อผู้ประกอบการที่สนใจเข้าร่วม เมื่อปรับใช้กับการท่องเที่ยว ประเมินว่าจะทำให้เกิดการจูงใจที่ดีในการเดินทางเข้าถึงพื้นที่เมืองรอง และช่วยให้เกิดการกระจายรายได้ ไม่กระจุกตัวเฉพาะจังหวัดหลักเหมือนที่ผ่านมา 

“ที่ประชุมมีความเห็นด้วยว่า การให้วงเงินสูงกว่ามาตรการลดหย่อนที่เคยมีมา สำหรับการท่องเที่ยวในโซนที่ 3  ถึง 50,000 บาท จะเป็นไปได้หรือไม่อย่างไร ททท.จะได้นำประเด็นนี้ไปหารือในการประชุมร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง วันพฤหัสบดีที่ 10 ส.ค.นี้ เพื่อนำข้อเสนอเข้าสู่การพิจารณาของกระทรวงการคลังในลำดับถัดไป”

ชู5มาตรการปลุกตลาด

นอกจากมาตรการลดหย่อนภาษีแล้ว ยังมีการเสนอมาตรการทางด้านการตลาด  5 เรื่องหลัก ได้แก่ 1.การจัดโปรโมชั่นแพ็คเกจท่องเที่ยวร่วมกับสายการบิน กรมการขนส่ง และนครชัยแอร์ ให้ความสำคัญพิเศษกับพื้นที่ท่องเที่ยวเมืองรอง 

2.ขอความร่วมมือให้การท่าอากาศยาน ให้ส่วนลดค่าธรรมเนียมในการนำอากาศยานลงจอด (Landing Fee) กับสายการบิน เพื่อเปิดเส้นทางบินเข้าเมืองท่องเที่ยวในโซน 2 และ 3 ที่เป็นพื้นที่เป้าหมาย

3.เตรียมเสนอกรมการขนส่งทางบกในการนำมาตรการผ่อนผัน กฎระเบียบ ข้อกำหนด เพื่อนำรถข้ามแดนเพื่อเดินทางท่องเที่ยว ตามข้อเสนอของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาที่เคยหารือก่อนหน้านี้

4.เสนอแนวทางการลดต้นทุนของผู้ประกอบการที่ให้การสนับสนุนโครงการ และ 5. ส่งเสริมและประชาสัมพันธ์ให้ภาครัฐและเอกชนช่วยกันลงไปจัดประชุมสัมมนาในพื้นที่โซน 2 และ 3 มากขึ้น

ททท.เตรียมโปรโมท

นายยุทธศักดิ์ กล่าวด้วยว่า ภาคเอกชนยังมีความเป็นห่วงเรื่องกรอบเวลาในการดำเนินงาน ที่อาจกระชั้นชิดเกินไปทำให้ไม่สามารถประชาสัมพันธ์ให้นักท่องเที่ยวทราบได้ทัน  ทำให้ ททท.ต้องเตรียมแผนช่วยเร่งโปรโมท หากขั้นตอนดำเนินการเรียบร้อยผ่านการเห็นชอบเป็นมติคณะรัฐมนตรีออกมาแล้ว รวมถึงรับฟังข้อเสนอของเอกชน ที่ต้องการให้ช่วยสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดกิจกรรมนำเที่ยว โดยต้องนำมาหารือในรายละเอียดอีกครั้ง

แต่อาจเป็นไปได้ว่า อาจจะให้สิทธิประโยชน์พิเศษ (อินเซนทีฟ) แก่บริษัทนำเที่ยวที่เข้าร่วมโครงการแล้วสามารถนำนักท่องเที่ยวเข้าไปยังเมืองรองในโซน 2 และ 3 ได้ตามเป้าหมายที่กำหนดร่วมกัน และจะมีการประชุมร่วมกับสมาคมที่เกี่ยวข้อง เช่น สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.), สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ (สทน.) และสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) ต่อไป

นอกจากนั้น มีข้อเสนอจากภาคเอกชนต้องการให้ช่วยแก้ไขปัญหาที่ร้านค้ารายย่อย หรือร้านค้าชุมชนต่างๆ ยังไม่มีใบกำกับภาษีออกให้กับนักท่องเที่ยวได้ ซึ่ง ททท.รับว่าจะนำไปหารือกับกระทรวงการคลังเพื่อหาทางออกด้วย เพื่อให้ตอบโจทย์เรื่องการนำรายได้เข้าสู่ท้องถิ่นและเกษตรกรจริงๆ แต่ทั้งนี้ สมาคมไทยท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย(ทีต้า) ได้ยืนยันในที่ประชุมมาแล้วว่า ขณะนี้วิสาหกิจชุมชนหลายแห่ง เริ่มมีการปรับปรุงระบบและสามารถออกใบกำกับภาษีได้แล้ว