เสวนามธ.ถกปฏิรูปตร. ถอดโมเดลญี่ปุ่น-จี้ม.44ยกเครื่องตร.ไทย

เสวนามธ.ถกปฏิรูปตร. ถอดโมเดลญี่ปุ่น-จี้ม.44ยกเครื่องตร.ไทย

วงเสวนาปฏิรูปตำรวจ "มธ." ถอดรหัสปฏิรูปของญี่ปุ่น เผยตร.ญี่ปุ่นเงินเดือนสูงกว่าขรก.ทั่วไป10% ไร้การแทรกแซง ด้านพล.ต.อ.วสิษฐจี้ "ประยุทธ์" ใช้ม.44ยกเครื่องตำรวจไทย

เมื่อเวลา 9.30 น. ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.ท่าพระจันทร์) สำนักงานสัญญาธรรมศักดิ์เพื่อประชาธิปไตย มธ. จัดเสวนา ในหัวข้อ"การกระจายอำนาจกับการปฏิรูปกิจการตำรวจ : บทเรียนและประสบการณ์จากประเทศญี่ปุ่น"

นายเคสุกะ โฮซากะ ผู้ช่วยทูตฝ่ายตำรวจประจำสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย กล่าวปาฐกถา หัวข้อความเป็นมา แนวคิด รูปแบบการปฏิรูปกิจการตำรวจของญี่ปุ่น ว่า โครงสร้างตำรวจของญี่ปุ่นแบ่งออกเป็น 2 ระดับ คือ 1.หน่วยงานตำรวจในระดับชาติหรือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีภารกิจหลักในการวางนโยบาย เช่น การสร้างระบบ การจัดระเบียบ การปรับปรุงกฎหมายอาญา ร่างกฎหมาย ยกเว้นหากมีคดีอาชญากรรมใหญ่ๆ สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะเข้าไปร่วมแก้ไขคดี 2.ตำรวจระดับจังหวัด ที่จะเป็นกองบัญชาการตำรวจภูธรจังหวัด มีภารกิจหลักในการดูแลความเรียบร้อยในพื้นที่ที่รับผิดชอบ เช่น การสืบสวนสอบสวน ดูแลความปลอดภัย โดยจะมีสถานีตำรวจประมาณ 1,200 แห่ง มีสาขาย่อยที่เป็นตำรวจชุมชน 13,000 แห่ง มีหน้าที่ป้องกันอาชญากรรม ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของตำรวจในระดับจังหวัด โดยตำรวจระดับจังหวัดจะอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการด้านความปลอดภัยสาธารณะ

นายเคสุกะ กล่าวว่า การบริหารงานจะมีการแยกออกจากกัน โดยส่วนกลางจะไม่มีสิทธิ์มาก้าวก่ายการทำงานหรือสั่งการกับกองบัญชาการตำรวจภูธรจังหวัดโดยตรง ทำให้ตำรวจมีความเป็นกลาง มีความเป็นอิสระทางการเมือง และเป็นประชาธิปไตย ส่วนการโยกย้ายนั้นไม่ค่อยมี โดยคนที่เป็นตำรวจในจังหวัดนั้น ๆจะทำงานจนเกษียณอายุ ซึ่งจุดแข็งของตำรวจญี่ปุ่นคือ เป็นผู้ประสานความร่วมมือกับชุมชน อาสาสมัคร เพื่อป้องกันอาชญากรรม โดยจะมีป้อมตำรวจในทุกๆพื้นที่ เมื่อมีคดีเกิดขึ้นจะดำเนินการสืบสวนสอบสวนเร็วไม่ล่าช้าไม่ว่าจะเป็นคดีเล็กหรือคดีใหญ่ ด้านการสอบสวนจะต้องสอบสวนอย่างละเอียดก่อนการจับกุม เมื่อส่งสำนวนคดีให้อัยการแล้วหากอัยการไม่รับฟ้องก็จะถือเป็นความผิดพลาดของตำรวจแต่อัยการก็จะมีอำนาจในการสืบสวนได้ด้วย ในส่วนของเงินเดือนตำรวจมีเงินเดือนมากกว่าข้าราชการระดับเดียวกันถึง 10% ซึ่งเป็นส่วนสำคัญให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น ทำให้การคอร์รัปชั่นน้อยลง

พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร อดีตรองอธิบดีกรมตำรวจ กล่าวว่า โครงสร้างตำรวจญี่ปุ่นกับของไทยคล้ายๆกันเพียงแต่ตำรวจญี่ปุ่นมีการกระจายอำนาจและแบ่งแยกอำนาจกันชัดเจน มีคณะกรรมการด้านความปลอดภัยสาธารณะดูแลตำรวจในระดับจังหวัด ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับส่วนกลาง และเจ้าหน้าที่ตำรวจมีได้ฝึกฝนเรื่องการเข้าถึงประชาชนความอ่อนน้อม ส่วนอัตราเงินเดือนก็สูง ขณะที่ประเทศไทยผบ.ตร.มีอำนาจทุกอย่างทั้งเรื่องงบประมาณ การโยกย้าย มีแต่การกระจายคนเท่านั้นอำนาจก็ยังคงอยู่ส่วนกลาง นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานอื่นๆที่ไม่ใช่ตำรวจเอามาฝากไว้ที่ตำรวจ เช่น สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ที่มีหน้าที่แค่ตรวจคนเข้าเมืองไม่มีอำนาจในการจับกุมหรือปราบปราม ต่างกับญี่ปุ่นที่ตม.อยู่กับกระทรวงยุติธรรม ตำรวจป่าไม้ เป็นต้น ซึ่งต้องมีปรับโครงสร้างใหม่ ส่วนการสืบสวนสอบสวนตนยังเห็นว่าควรต้องอยู่สำนักงานตำรวจแห่งชาติต่อไป แต่ควรมีความเป็นอิสระไม่ต้องถูกแทรกแซงไม่ว่าจะกรณีใดๆทั้งสิ้น

การปฏิรูปตำรวจต้องทำอย่างเร่งด่วนที่สุด การตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศตำรวจ ชุดที่มีพล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ เป็นประธานนั้น กว่าจะปฏิรูปเสร็จก็ต้องรอไปอีกนาน ดังนั้นผมอยากให้นายกฯใช้มาตรา 44 ทำให้เกิดการปฏิรูปให้เร็วที่สุดไม่เช่นนั้นรัฐบาลใหม่มาก็ไม่รู้ว่าจะสานต่อแนวทางปฏิรูปที่รัฐบาลชุดนี้ทำไว้หรือไม่ พล.ต.อ.วสิษฐ กล่าว

พ.ต.ท.กฤษณพงศ์ พูตระกูล ประธานบริหารหลักสูตรสถาบันอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม กล่าวว่า การปฏิรูปตำรวจต้องให้ความสำคัญในเรื่องของความเป็นมืออาชีพ การบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งปัจจุบันปัญหาอาชญากรรมจะมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยเฉพาะอาชญากรรมในโลกไซเบอร์และการก่อการร้าย ดังนั้นจึงต้องเตรียมพร้อมรับมือ สิ่งที่ต้องทำคือ การทำให้ตำรวจปลอดจากการแทรกแซงจากการเมืองซึ่งต้องทำให้เร็วที่สุด ซึ่งพ.ร.บ.ตำรวจ ปี 2542 ให้นายกรัฐมนตรีเป็นประธานในคณะกรรมการตำรวจโดยตำแหน่ง

ดังนั้นต้องแก้ไข เพราะเป็นการรวมศูนย์อำนาจเนื่องจากองค์กรตำรวจอยู่ภายใต้การบริหารของนักการเมือง ขณะที่ประเทศอื่นๆเช่น อังกฤษ ญี่ปุ่น มีการคานอำนาจและแยกออกจากกัน และการให้ตำรวจเป็นมืออาชีพทำงานใกล้ชิดประชาชน ให้ประชาชนมีส่วนร่วมจัดตั้งคณะกรรมการระดับภูมิภาคและระดับชาติที่มาจากหลายหลายอาชีพ เพื่อให้มีการกระจายอำนาจอย่างแท้จริง นอกจากนี้สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะต้องมีความพร้อมในเรื่องของวัสดุอุปกรณ์ เทคโนโลยีต่างๆให้ทันสมัย เช่น ต้องมีเครื่องสแกนนิ้ว รถสายตรวจต้องติดตั้งระบบอุปกรณ์ที่ทันสมัยไม่ว่าจะเป็นกล้อง เครื่องสแกนนิ้ว รวมไปถึงการจัดสรรงบประมาณ ทั้งนี้ก็เพื่อประโยชน์ในและสนับสนุนการพัฒนาระบบงานตำรวจ