อสังหาฯหวั่น‘รีเวิร์สซัพพลาย’ ฉุดตลาด

อสังหาฯหวั่น‘รีเวิร์สซัพพลาย’ ฉุดตลาด

อสังหาฯ หวั่นยอดรีเจ็กส์-ภาษีที่ดิน สร้าง‘รีเวิร์สซัพพลาย’ ฉุดการเติบโตธุรกิจอสังหาฯ เตือนผู้ประกอบการต้องจับตามอง

อธิป พีชานนท์ นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร เปิดเผยว่า แม้ภาพรวมของอสังหาฯช่วงครึ่งหลังของปี 2560 จะมีทิศทางการเติบโต เนื่องจากมีปัจจัยหนุนในเรื่องการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐมีความชัดเจน โดยเฉพาะแผนการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายใหม่ ๆ บวกกับชาวต่างชาติได้เข้ามาลงทุนในตลาดอสังหาฯของไทยมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม จากยอดปฏิเสธสินเชื่อของธนาคาร หรือ รีเจ็กส์ ที่ยังอยู่ในอัตราที่สูง ประกอบกับการประกาศใช้ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่จะมีผลบังคับใช้ในปี 2562 ซึ่งจะส่งผลให้เกิดซัพพลายด์ย้อนกลับเข้ามาในตลาด หรือ “รีเวิร์สซัพพลาย”

โดยสถานการณ์ดังกล่าว จะทำให้โครงการใหม่เกิดขึ้นได้น้อย เนื่องจากผู้ประกอบการอสังหาฯต้องชะลอแผน เพื่อให้ซัพพลายด์เดิมที่มีอยู่ในตลาดถูกดูดซับไปหมดก่อน และการชะลอการเปิดตัวโครงการนี่เอง จะส่งผลกระทบต่อทั้งผู้ประกอบการ บริษัทก่อสร้าง และภาคแรงงาน ทำให้การเติบโตของภาคธุรกิจอสังหาฯเกิดอาการสะดุดได้

“ลูกค้าถูกรีเจ็กส์ สินค้าที่จองไปก็ต้องนำกลับมาขายใหม่ ส่วนกรณีที่โอนไปแล้ว แต่ผู้บริโภคกังวลเรื่องภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ก็นำสินค้ามาขายในรูปแบบบ้านมือสอง ตอนนี้เริ่มเห็นแล้วในกลุ่มบ้านพักตากอากาศ ตั้งแต่ราคาล้านต้นๆไปถึงหลักร้อยล้าน โดยเฉพาะที่หัวหินและพัทยา ซึ่งยังคาดการณ์ไม่ได้ว่า รีเวิร์สซัพพลายด์จะเกิดขึ้นมากน้อยแค่ไหน แต่เป็นเรื่องน่ากังวล”

 

ดึง ‘นอนแบงก์’ช่วยลูกค้าถูกรีเจ็กส์

ด้าน พรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย กล่าวว่า การปฏิเสธสินเชื่อของธนาคารยังเป็นคงเป็นปัญหาสำหรับธุรกิจอสังหาฯในช่วงครึ่งปีหลัง โดยปัจจุบันยอดปฏิเสธดังกล่าวอยูที่ประมาณ 30- 40%  ซึ่งขณะนี้ทางสมาคมฯอยู่ระหว่างการเจรจากับบรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย (บตท.) เพื่อตั้งคณะศึกษาการขยายตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัยไปยังสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ หรือ “นอนแบงก์”

ทั้งนี้ เพื่อช่วยลูกค้าที่ถูกปฏิเสธสินเชื่อจากธนาคาร โดยเฉพาะในกลุ่มรายย่อยที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยระดับราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาท คาดว่า จะได้ข้อสรุปในช่วงไตรมาส 4 ของปีนี้ และเริ่มดำเนินการในช่วงต้นปี 2561

“กลุ่มนอนแบงก์ที่เราเจรจา ก็ได้แก่ บริษัทลีสซิ่ง บริษัทประกัน เป็นต้น รูปแบบ คือ กลุ่มนอนแบงก์จะเป็นผู้ปล่อยสินเชื่อให้ผู้ที่ต้องการ แต่อัตราดอกเบี้ยที่จะเสนอให้จะสูงกว่าสินเชื่อรายย่อย หรือ MRR ทั่วไป ประมาณ 2% ส่วนลูกค้าที่จะกู้เราจะมีการคัดกรองไปอีกชั้นด้วย”