ซอฟต์แวร์ไทยซบต่อเนื่องคาดปี60ตลาดตกลงอีก5%

ซอฟต์แวร์ไทยซบต่อเนื่องคาดปี60ตลาดตกลงอีก5%

“ดีป้า" เปิดผลสำรวจตลาดซอฟต์แวร์ไทย ชี้ปี 2560-2561 แนวโน้มหดตัว 5% เหตุตลาดเปลี่ยน-ภาคธุรกิจหันลงทุนคลาวด์ ชง 3 มาตรการกระตุ้น เร่งช่วยผู้ประกอบการซอฟต์แวร์-เพิ่มสิทธิประโยชน์ทางภาษี-สร้างมาตรฐานไอเอสโอ พร้อมตั้งสถาบันไอโอทีเสริมแกร่งอินฟราฯ

นายธนชาติ นุ่มนนท์ ผู้อำนวยการสถาบันไอเอ็มซี ตัวแทนคณะผู้วิจัย กล่าวว่า ภาพรวมตลาดซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์ในประเทศไทยไม่รวมเกมและแอนิเมชั่นว่า ปี 2560 และ 2561 มีแนวโน้มหดตัวลดลงราว 4-5% ต่อปี หรือมีมูลค่าการผลิตในประเทศราว 47,623 - 48,124 ล้านบาท

ทั้งนี้ สาเหตุสำคัญสืบเนื่องมาจากตลาดเปลี่ยน ธุรกิจหันมาใช้คลาวด์ซึ่งช่วยประหยัดงบการลงทุน ผลักดันให้ผู้ประกอบการณ์ซอฟต์แวร์ต้องเร่งปรับตัวหาบิสสิเนสโมเดลใหม่ๆ มาเพิ่มทางรอด มิเช่นนั้นมีโอกาสที่บริษัทจะตายไปได้ 20-30% ส่วนเทรนด์เทคโนโลยีที่มีอิทธิพลหลักๆ คือ คลาวด์ ไอโอที บิ๊กดาต้า และการวิเคราะห์ข้อมูล 

สำหรับปัจจัยบวกมาจากการตื่นตัวเทคสตาร์ทอัพ นโยบายภาครัฐทั้งไทยแลนด์ 4.0 ดิจิทัลพาร์ค พร้อมเพย์ กระตุ้นให้มีการใช้งานไอทีมากขึ้น ทั้งจะมีธุรกิจที่ใช้ซอฟต์แวร์มาให้บริการมากขึ้น

เขากล่าวว่า หนึ่งในปัญหาเร่งด่วนควรหันมาพัฒนาความร่วมมือเพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนบุคลากรด้านซอฟต์แวร์ที่เรื้อรังมานานนับ 10 ปี ปรับปรุงการขออนุญาตเข้ามาทำงาน ด้านการตลาดควรมองการพัฒนารูปแบบเช่าใช้ หรือเป็นผู้ให้บริการซอฟต์แวร์ซึ่งยั่งยืนมากกว่าเป็นโครงการ สอดรับกับอุตสาหกรรมที่เปลี่ยนโมเดลการขายไปสู่ซอฟต์แวร์แอสอะเซอร์วิสมากขึ้น

ขณะที่ด้านเงินทุน นโยบายสนับสนุนควรขยายไปสู่บริษัทขนาดกลาง มีข้อกำหนดให้ผู้ลงทุนต่างชาติถ่ายโอนความรู้ทางเทคโนโลยีแก่ไทย ที่สำคัญภาครัฐควรต้องศึกษาและทำความเข้าใจอุตสาหกรรมไอทีให้ลึกซึ้งเพื่อให้การกฏระเบียบและเงื่อนไขต่างๆ เกิดประโยชน์สูงสุด

ผลสำรวจระบุว่า ปี 2559 ตลาดรวมมีมูลค่าราว 50,129 ล้านบาท ตกลงจากปี 2558 ประมาณ 4.63% และนับเป็นการลดลงครั้งแรกในรอบ 10 ปี สัดส่วนแบ่งเป็นผลิตเพื่อใช้ในประเทศ 46,415 ล้านบาท ลดลง 5.72% ส่งออก 3,714 ล้านบาท เติบโต 11.53% เหตุส่งออกเติบโตเนื่องจากบริษัทต่างชาติที่เข้ามาตั้งสำนักงานสาขาในไทยใช้จ่ายมากขึ้น ผู้ประกอบการขยายตลาดไปต่างประเทศได้มากขึ้น โดยรวมภาคการเงินยังคงเป็นสาขาที่มีการใช้จ่ายด้านซอฟต์แวร์และบริการมากที่สุด รองลงมา คือ หน่วยงานราชการและท่องเที่ยว แต่ทั้งนี้ด้วยตลาดเปลี่ยนการเก็บตัวเลขจึงยังไม่ครอบคลุม ปีหน้าต้องเพิ่มซอฟต์แวร์ที่ธุรกิจนำไปใช้ให้บริการเข้าไปด้วย

นายณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) กล่าวว่า อุตฯซอฟต์แวร์ไทยเปลี่ยนรูปแบบมาต่อเนื่องจากปีที่แล้ว แทนที่จะขายไลเซนส์ซอฟต์แวร์เปลี่ยนเป็นนำซอฟต์แวร์มาสร้างเป็นบริการ แม้ภาพรวมตลาดลดลง ทว่าการส่งออกเพิ่มขึ้น นำเข้าลดลง มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 

สำหรับบทบาทรัฐ มีความจำเป็นต้องเข้าไปช่วยกระตุ้น สร้างบรรยากาศการแข่งขัน ดีป้าจึงได้ผลักดัน 3 มาตรการได้แก่ 1. สร้างตลาดโดยการเพิ่มสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษี ให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าถึงผลิตภัณฑ์หรือบริการซอฟต์แวร์ 2.สร้างความเชื่อมั่น โดยส่งเสริมผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ให้ได้รับมาตรฐานไอเอสโอ (ISO 29110)

พร้อมกันนี้ 3. สร้างขีดความสามารถการพัฒนานวัตกรรมดิจิทัล พร้อมร่วมมือกับภาคเอกชนเช่น บมจ.ทรูคอร์ปอเรชั่น จัดตั้งสถาบันไอโอที พื้นที่สำหรับโคเวิร์คกิ้งสเปซ, คลาวด์ อินโนเวชั่น เซ็นเตอร์ และศูนย์รวมผู้พัฒนา จับคู่ธุรกิจ เชื่อว่ามาตรการดังกล่าวจะเป็นตัวแปรสำคัญช่วยผลักดันให้อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยฟื้นกลับมาเติบโตระดับ 5% มูลค่าแตะ 5.2-5.3 หมื่นล้านบาทในปีนี้