‘นักรบพันธุ์ใหม่’ เด็กปั้นจากสถาบันอาหาร

‘นักรบพันธุ์ใหม่’ เด็กปั้นจากสถาบันอาหาร

เปิดแผนยุทธศาสตร์ 20 ปีของสถาบันอาหาร ปั้นนักรบอาหารไทย/ผู้ประกอบการพันธุ์ใหม่ 3 หมื่นคน เล็งยื่นของบปริมาณปีละกว่า 1,000 ล้านบาท

เปิดแผนยุทธศาสตร์ 20 ปีของสถาบันอาหาร ปั้นนักรบอาหารไทย/ผู้ประกอบการพันธุ์ใหม่ 3 หมื่นคน เล็งยื่นของบปริมาณปีละกว่า 1,000 ล้านบาทสร้างห้องปฏิบัติการ โรงงานต้นแบบผลิตเมนูมูลค่าสูง ทั้งยังจัดทำค่ามาตรฐานรสและกลิ่น อาหารไทยโดยเครื่องตรวจวัดรสชาติ หวังใช้เป็นสูตรอ้างอิงให้ครัวไทยในต่างประเทศ ไม่ว่าจะปรุงในประเทศใดก็จะได้รสชาติความอร่อยที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน


ติดอาวุธให้กิจการไทย


นายยงวุฒิ เสาวพฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กล่าวว่า สถาบันฯ มีแผนการส่งเสริมอุตสาหกรรมอาหารในระยะยาว ด้วยการสร้างผู้ประกอบการอาหารพันธุ์ใหม่ หรือนักรบด้านอาหารปีละ 1,000 คน และอีก 20 ปีจะมี 3 หมื่นคน เพราะทุกวันนี้อุตสาหกรรมอาหารมีประมาณ 1.10 แสนราย 99.5% เป็นเอสเอ็มอี ส่วนที่เหลืออีกเกือบ 600 รายเป็นรายใหญ่ ซึ่งมีสัดส่วนรายได้ประมาณ 70%ของจีดีพี
นักรบพันธุ์ใหม่นี้จะมีความเชี่ยวชาญด้านการใช้องค์ความรู้สมัยใหม่เพื่อเพิ่มผลิตภาพการประกอบธุรกิจอาหารและเพิ่มมูลค่า จะผลักดันให้เกิดปีละ 1,000 คน ซึ่งจะเริ่มในปี 2561 หลังจากยื่นของบประมาณปีละ1,000 กว่าล้านบาทจากรัฐบาลเพื่อมาทำโครงการนี้ ซึ่งจะเชื่อมโยงตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยจะเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในเดือนสิงหาคมนี้ สำหรับนำไปลงทุนห้องปฏิบัติการ โรงงานต้นแบบรวมทั้งการพัฒนาผู้ประกอบการที่มีศักยภาพมาเป็นนักรบอาหาร


นักรบอาหารจะเข้าไปอยู่ในพื้นที่ของฟู้ดวัลเลย์ ที่เอื้อให้เข้าถึงเทคโนโลยีการผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่ม (HVA) ผลิตสินค้าเพื่ออนาคต (ฟิวเจอร์ ฟู้ด) ตอบโจทย์กระแสสุขภาพ และขยายสู่การเป็นตลาดอาหารที่สำคัญของโลก เพียงปั้น 100 รายรวมกันให้มีศักยภาพเท่าบริษัทขนาดใหญ่หนึ่งบริษัทก็เพียงพอแล้ว


รัฐบาลพยายามผลักดัน “ครัวไทย” สู่ “ครัวของโลก” ด้วยศักยภาพประเทศไทยที่เป็นแหล่งผลิตอาหารที่อุดมสมบูรณ์ และอาหารไทยเป็นที่นิยมของต่างชาติ แต่การตลาดยังทำในรูปแบบเดิมๆ จากนี้ไปจึงต้องเปลี่ยนแปลงให้ทันกระแสโลกเพื่อก้าวสู่อุตสาหกรรม 4.0 ที่นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในการผลิตสินค้าตามเทรนด์อาหารในอนาคต ได้แก่ อาหารและเครื่องดื่มเสริมสุขภาพ (ฟังก์ชันนัลฟู้ด) อาหารทางการแพทย์ (เมดิคัลฟู้ด), อาหารอินทรีย์ (ออร์แกนิกฟู้ด) และอาหารที่ผลิตขึ้นมาใหม่ทางนวัตกรรม (novel foods)

รสชาติไม่เพี้ยนด้วยเทคโนโลยี


พร้อมกันนี้ ทางสถาบันฯได้จ้างผลิตเครื่องมือตรวจ “รสไทยแท้” ภายใต้โครงการ Authentic Thai Food for the World เพื่อส่งเสริมเครื่องหมายมาตรฐานอาหาร “รสไทยแท้” ให้กับผลิตภัณฑ์เหล่านี้ ซึ่งเท่ากับเป็นการช่วยอุตสาหกรรมเครื่องปรุงรสและเครื่องเทศให้มีโอกาสขยายตลาดมากขึ้น ทั้งจากผู้บริโภคและผู้ประกอบการร้านค้า ในส่วนร้านอาหารไทยในต่างประเทศ ทางสถาบันฯ ไม่ได้รับรองร้านอาหาร แต่จะเข้าไปตรวจรับรองเฉพาะเมนูว่ามีที่เป็นรสไทยแท้อะไรบ้าง เช่น ร้านนี้มีต้มยำกุ้งรสไทยแท้ มีโภชนาการ/สารอาหารอะไรบ้างในหนึ่งชาม เพื่อจะบอกให้รับรู้ว่ากำลังกินยาที่อร่อยที่สุดในโลก


“ถือเป็นการประกาศภาพลักษณ์อาหารไทย ที่อาหารประเทศอื่นพูดแบบนี้ไม่ได้ เพราะยังไม่มีการวัดค่าแบบนี้และเมนูบ้านเรามีสมุนไพรรสเผ็ดร้อนเกือบทุกเมนู จึงต้องทำตรงนี้เพื่อรักษาภาพลักษณ์อาหารไทย โดยมีตราสัญลักษณ์รสไทยแท้การันตี ทั้งยังเป็นการสร้างมาตรฐานเทียบเคียงด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไม่ใช่แค่ความรู้สึก วันนี้ยังไม่มีใครทำ ไทยเป็นประเทศแรกในโลกที่ทำเรื่องนี้” นายยงวุฒิ กล่าว
โครงการนี้จะอาศัยเทคโนโลยีเซนเซอร์ที่เรียกว่า Electronic nose และ Electronic tongue ราคาเครื่องละ 2 ล้านบาท มาช่วยตรวจวัดค่ากลิ่นและค่ารสชาติเผ็ด เค็ม หวานและเปรี้ยว เพื่อรวบรวมฐานข้อมูลใช้เป็นค่ามาตรฐานอ้างอิงจัดทำหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการให้การรับรองมาตรฐานอาหารไทยส่งออก ตลอดจนรับรองเมนูที่ชาวต่างชาติรู้จักดี เช่น ผัดไทย ต้มยำกุ้ง ส้มตำ


ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กล่าวว่า หากทำได้ตามเป้าหมายจะเกิดแรงขับเคลื่อนมหาศาล และสามารถผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 หลุดพ้นจากประเทศกับดักรายได้ปานกลางสู่ประเทศที่มีรายได้สูงอย่างมั่นคงและยั่งยืน