ไทยหวังหลุดบัญชีเกินดุลสหรัฐ หลังครึ่งปีแรกเกินดุลลด

ไทยหวังหลุดบัญชีเกินดุลสหรัฐ หลังครึ่งปีแรกเกินดุลลด

"พาณิชย์" เผยแนวโน้มไทยนำเข้าสินค้าจากสหรัฐเพิ่มขึ้น หวังลดความเสี่ยงในการถูกเพ่งเล็งจากสหรัฐได้ ชี้ครึ่งปีแรกยอดเกินดุลลดลง

ครึ่งปีแรก 2560 พบว่ายอดเกินดุลการค้ากับสหรัฐ ลดลงอยู่ที่ 4.82 พันล้านเหรียญสหรัฐ จากที่เกินดุล 6 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลมให้ทางการไทยหวังว่า ไทยจะหลุดจากการถูกจับตา ใน 16 ประเทศที่มีการเกินดุลกับสหรัฐ

ในช่วงปลายเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐ ได้ลงนามคำสั่งพิเศษ เพื่อดำเนินการตรวจสอบการขาดดุลการค้าของสหรัฐกับ 16 ประเทศทั่วโลก รวมถึงไทย เพราะจากข้อมูลของสหรัฐระบุว่า ในปี2559 ไทยได้ดุลการค้าสหรัฐราว 1.89 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นประเทศที่ได้ดุลการค้ากับสหรัฐมากเป็นอันดับที่ 11 ของโลก

ต่อมาในเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ของไทยได้ยื่นเอกสารข้อมูลและคำชี้แจง ต่อสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) ถึงสาเหตุที่สหรัฐขาดดุลการค้ากับไทย โดยระบุว่า สหรัฐมีมูลค่าการขาดดุลการค้ากับไทยเพียง 1.5% ของมูลค่าการขาดดุลการค้ารวมของสหรัฐ

ข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า ในช่วง 6 เดือนแรกปีนี้ ไทยนำเข้าสินค้าจากสหรัฐ คิดเป็นมูลค่า 7.79 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 35% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่มูลค่าการส่งออกไปสหรัฐ เพิ่มขึ้นเพียง 7% ส่งผลให้ยอดการเกินดุลการค้ากับสหรัฐ ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ ลดลงมาที่ 4.82 พันล้านเหรียญสหรัฐ จากที่เกินดุล 6 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยกับ สำนักข่าวรอยเตอร์ว่า แนวโน้มการนำเข้าจากสหรัฐที่เพิ่มขึ้น และหวังว่าจะช่วยลดความเสี่ยงของไทย ในการถูกเพ่งเล็งจากสหรัฐ ว่าเป็นประเทศที่มีการปกป้องค่าเงิน เพื่อประโยชน์ทางการค้าของตัวเองด้วย

สำหรับปีนี้การนำเข้าจากหสรัฐที่พิ่มขึ้นมาจากสินค้าเครื่องบิน และส่วนประกอบ, แผงวงจรไฟฟ้า, เคมีภัณฑ์, ผลิตภัณฑ์โลหะ รวมถึงเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ

โดยนายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สินค้าที่ไทยนำเข้าจากสหรัฐ ส่วนหนึ่งจะเป็นพวกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ที่บริษัทของสหรัฐมาลงทุนในไทยค่อนข้างมาก จึงมีการนำเข้าชิ้นส่วนเข้ามา และผลิตเป็นสินค้าสำเร็จรูปส่งออกไปอีกต่อหนึ่ง

ขณะที่นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า การนำเข้าจากสหรัฐที่เพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของอี-คอมเมิร์ซ ที่เติบโตขึ้น ซึ่งฐานการส่งสินค้าจากเว็บไซต์ดังๆ จะมาจากสหรัฐ อีกทั้งสินค้าที่มีเทคโนโยลยีสูง ก็มักเป็นสินค้าจากสหรัฐเช่นกัน เมื่อเศรษฐกิจไทยดีขึ้น มีการบริโภคสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีสูงขึ้น ก็จะมีการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐมากขึ้นด้วย ซึ่งก็มีส่วนช่วยลดแรงกดดันในการที่สหรัฐเพ่งเล็งไทยเรื่องการเกินดุลกับสหรัฐได้

ส่วนทางด้านนายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธปท.กล่าวกับรอยเตอร์ ว่า การนำเข้าของไทยในระยะต่อไป มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการนำเข้าสินค้าทุน และวัตถุดิบ ซึ่งจะทำให้การเกินดุลการค้าของไทย ไม่เฉพาะกับสหรัฐเพียงประเทศเดียว แต่ในภาพรวมก็จะลดลง เห็นได้จากประมาณการดุลบัญชีเดินสะพัด ที่ธปท.มองว่า จะลดลงในปีนี้และปีหน้า

แต่อย่างไรก็ตามจนถึงขณะนี้ สหรัฐ ยังไม่ได้มีความชัดเจนว่า จะดำเนินการอะไรหรือไม่ ต่อการค้าที่ไทยมีกับสหรัฐ แต่ในอีกด้านหนึ่ง การดำเนินการของ ธปท.ในการดูแลอัตราแลกเปลี่ยน และการซื้อขายเงินตราต่างประเทศ เพื่อดูแลเงินบาทให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ก็เป็นความเสี่ยงที่ทำให้ไทยอาจถูกมองจากสหรัฐ ว่ามีการปกป้องค่าเงินของตัวเองได้

ดังนั้นการจะถูกมองจากสหรัฐว่าเป็นประเทศที่มีการปกป้องค่าเงินนั้น เงื่อนไขหนึ่งที่ไทยยังไม่เข้าข่ายก็คือ การเป็นประเทศที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐ มากกว่า 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ และด้วยแนวโน้มการนำเข้าจากสหรัฐที่เพิ่มขึ้น น่าจะช่วยให้ความเสี่ยงดังกล่าวลดลงไปได้