บล.เคทีบีมอง 'หุ้นไทยสัปดาห์นี้' แกว่งกรอบแคบ

บล.เคทีบีมอง 'หุ้นไทยสัปดาห์นี้' แกว่งกรอบแคบ

"บล.เคทีบี(ประเทศไทย)" มองหุ้นไทยสัปดาห์นี้เคลื่อนไหวกรอบแคบ จากบาทแข็ง-เงินทุนย้ายเข้าตลาดพันธบัติ แนะลุยหุ้นโภคภัณฑ์-สื่อสาร-ขนส่ง

ดร.วิน อุดมรัชตวนิชย์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์ เคทีบี (ประเทศไทย) จำกัด หรือ KTBST ประเมินแนวโน้มหุ้นไทยในสัปดาห์นี้ (7-11 ส.ค.) ว่า SET Index สัปดาห์นี้ ยังขาดปัจจัยหนุนและเม็ดเงินใหม่ๆ ขณะที่ปัจจัยภายนอกที่ยังทำให้ตลาดคลุมเครือ คือ เรื่องแนวโน้มการปรับลด QE , ทิศทางการเมืองสหรัฐฯ แต่อาจได้ตัวช่วยหากตัวเลขส่งออกของ จีน-ยุโรป ที่จะรายงานในสัปดาห์นี้ออกมาดี จะกลับมาเป็นแรงหนุนต่อตลาดหุ้นทั่วโลก ส่วนปัจจัยภายในจะเป็นเรื่องของการรายงานผลประกอบการที่เข้าสู่ช่วงสองสัปดาห์สุดท้าย และเริ่มมีการทยอยขึ้น “XD” รวมถึงการติดตามสถานการณ์น้ำท่วม ซึ่งความเสียหายล่าสุดอยู่ที่ 1-3 พันล้านบาท (ประเมินโดย ม.หอการค้าฯ) และมาตรการต่างๆของภาครัฐฯ ทั้งช่วยเหลือน้ำท่วม ช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย (4 หมื่นล้านบาท) และโครงการลงทุนต่างๆ

ทั้งนี้จะเห็นได้ว่านักลงทุนย้ายเงินลงทุนออกจากตลาดหุ้นและเข้าลงทุนในตลาดพันธบัตร เนื่องด้วยปัจจัยต่างๆ อาทิ ค่าดอลล่าร์อ่อนค่า , ดอกเบี้ยต่ำและตลาดมีความเสี่ยง ซึ่งเป็นสัญญาณว่านักลงทุนไม่ได้มีความกังวลต่อการปรับนโยบายการเงินของธนาคารกลางต่างๆในเวลานี้แต่อย่างใด โดยที่ตลาดหุ้นในเอเชียที่ถูกขายออกมามาก คือ ไทย อินเดีย และเกาหลีใต้ หากแนวโน้มนักลงทุนยังมีการขายหุ้นและซื้อพันธบัตรต่อเนื่องมาถึงสัปดาห์นี้ จะเป็นผลลบต่อตลาดหุ้นไทยและดันค่าเงินบาทให้แข็งค่าขึ้นต่อได้

ดังนั้นกลยุทธ์ลงทุนสัปดาห์นี้ ด้วยกรอบการเคลื่อนไหวที่จะแคบลง (หากไม่มีปัจจัยใหม่ๆ) การลงทุนจึงควรเป็นแบบลงซื้อ-ขึ้นขาย และเปลี่ยนตัวเล่นในแต่ละวัน โดยหุ้นที่เราให้ความสนใจในสัปดาห์นี้ จะเป็นหุ้นที่มีปัจจัยบวกเฉพาะตัวมากกว่า หรือหุ้นที่ราคาปรับตัวลงมามาก (ส่วนใหญ่เป็นหุ้นเล็ก) ขณะที่การสลับเข้าลงทุนเป็นรายกลุ่ม (Sector) นั้น คาดว่าจะสลับระหว่างกลุ่ม สินค้าโภคภัณฑ์ , สื่อสาร , ขนส่ง , ไฟฟ้า คาดดัชนีฯ ในสัปดาห์นี้ ยังเล่นในกรอบ 1,566-1,586 จุดสำหรับการลงทุนแนะให้พิจารณาเข้าลงทุนเป็นรายตัว ที่ถูกคาดว่าผลประกอบการจะออกมาดี อาทิ TFG , SIRI , MEGA , ARROW , JMT , JMART , FSMART , MAJOR และ GFPT

สำหรับปัจจัยสำคัญในประเทศที่ควรติดตามคือ เงินบาทที่แข็งค่ายังกดดันตลาด ล่าสุด 33.2 บาท/ดอลล่าร์ แข็งค่าขึ้นจากปลายไตรมาส 2 อยู่ 1.9% และจากต้นปี 7.0% หากเงินไหลเข้าตลาดพันธบัตรไทยต่อ จะทำให้เงินบาทแข็งค่ามากขึ้น จึงยังมีแนวโน้มเป็นลบต่อผู้มีรายได้เป็นดอลล่าร์ (อีเล็คทรอนิคส์) แต่เป็นผลดีต่อผู้กู้ดอลล่าร์ (ส่วนใหญ่จะเป็นหุ้นในกลุ่มพลังงาน-ปิโตรเคมี หรือบริษัทที่ทำ hedging ไว้)

ส่วนอีกปัจจัย คือ เรื่องผลกำไรไตรมาส 2 ของตลาด ที่รายงานมาแล้ว 58 บริษัท กำไร -6% YoY และ 13% QoQ สอดคล้องกับการสำรวจโดย Bloomberg ที่ประเมินจากกว่า 120 บริษัท ว่าจะ -8% YoY และ -12% QoQ การลดลงของกำไรตลาดทำให้ตลาดหุ้นไทยขาดความคึกคักไปบ้าง แต่ downside risk ถือว่าไม่สูง ด้วยค่า P/E ที่ current P/E และ Forward P/E ที่ใกล้เคียงกันที่ 16 เท่า