'บาทแข็ง'ฉุดส่งออก-สินค้าโภคภัณฑ์อ่วม

'บาทแข็ง'ฉุดส่งออก-สินค้าโภคภัณฑ์อ่วม

“ผู้ส่งออกข้าว” ห่วงเงินบาทแข็ง กระทบขีดแข่งขันตลาดโลก สอดคล้องนักวิเคราะห์ ชี้บาทแข็งกระทบกำไรขั้นต้น โดยเฉพาะสินค้าโภคภัณฑ์กำไรต่อหน่วยต่ำ "สอท." เล็งถกกกร.กันยาฯนี้ สางปัญหา

การแข็งค่าของเงินบาท ที่แข็งค่าสูงสุดเมื่อเทียบกับภูมิภาค เมื่อวันศุกร์ที่ 4 ส.ค.ที่ผ่านมา สร้างความกังวลให้กับ“ผู้ส่งออกไทย” โดยเฉพาะผู้ส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ ว่าจะสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน จากกำไรต่อหน่วย(มาร์จิ้น)ที่บางอยู่แล้วจะบางลงอีก ส่อดับฝันรายได้ส่งออกเติบโตต่อเนื่องในครึ่งปีหลังของปี

นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยว่า เงินบาทที่กำลังแข็งค่าขึ้นเป็นปัจจัยลบต่อการส่งออกข้าวอย่างมาก และมีท่าทีว่าจะแข็งค่าต่อเนื่องจนอาจเห็น 33 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อราคาส่งออกข้าวในรูปแบบเอฟโอบี (FOB-Free on Board -ราคา ณ ท่าเรือต้นทาง) รวมทั้งกระทบต่อศักยภาพทางการแข่งขันในตลาด

เนื่องจากคู่แข่งส่งออกข้าวอย่างเวียดนาม ปัจจุบันมีราคาขายเอฟโอบีต่ำกว่าไทยอยู่แล้ว และหากเงินบาทแข็งค่าต่อเนื่อง ก็อาจเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้เวียดนามมีโอกาสในการส่งออกมากกว่า

“ตั้งแต่ต้นปีจนถึงขณะนี้เวียดนามส่งออกข้าวในปริมาณที่เพิ่มขึ้นแล้วกว่า 20% ส่วนไทยก็เพิ่มขึ้น แต่ยังไม่สูงเท่า ซึ่งส่วนหนึ่งยอมรับว่ามาจากราคาโค้ดที่เวียดนามมีโอกาสมากกว่า ราคาถูกกว่า และหลังจากนี้หากเงินบาทแข็งค่าเรื่อยๆ ก็จะทำให้ช่องว่างราคาต่างกันมากอีก โดยเบื้องต้นประเมินว่า ทุกการปรับขึ้นของค่าเงินบาท 1 บาท จะส่งผลให้ราคาข้าวขาวปรับขึ้นตันละ 8 - 9 ดอลลาร์ ส่วนข้าวหอมมะลิ จะปรับขึ้นสูงตันละ 17 - 18 ดอลลาร์”

อย่างไรก็ดี ในฐานะผู้ส่งออก ยอมรับว่าเงินบาทที่ส่งสัญญาณเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้ส่งออกต้องได้รับแรงกดดันในการทำธุรกิจเพิ่มขึ้น ต้องเหนื่อยมากขึ้น รวมทั้งต้องประเมินสถานการณ์และบริหารความเสี่ยงกับอัตราแลกเปลี่ยนมากขึ้น

ทั้งนี้อยากให้ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรักษาเสถียรภาพของค่าเงินให้ดีที่สุด แม้บางครั้งต้องแทรกแซงบ้าง เพราะไม่อยากให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นมากไปกว่านี้

เร่งธุรกิจ“บริหารเสี่ยงค่าเงิน”

นายชูเกียรติ ยังกล่าวอีกว่า ภาคเอกชนเองก็ต้องระมัดระวังในการบริหารความเสี่ยงของค่าเงินเองด้วย แต่อย่างไรก็ดี ยังมั่นใจว่าปีนี้ส่งออกข้าวยังมีปัจจัยบวกจากความต้องการในตลาดโลกสูง ทำให้คำสั่งซื้อข้าวในรูปแบบต่างๆ ยังทยอยเข้ามาในไทยอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เป้าหมายส่งออกข้าวปริมาณ 10 ล้านตันในปีนี้ ยังมองว่ามีความเป็นไปได้สูง อีกทั้งปริมาณส่งออกปิดตัวเลข 7 เดือนแรกของปี ไทยสามารถส่งออกไปได้แล้วกว่า 6 ล้านตัน

กระทบ“ขีดแข่งขัน”ผู้ส่งออก

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า จากการหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พบว่าสาเหตุหลักที่ทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าสูงสุดในภูมิภาคนี้ เนื่องจากตัวเลขการท่องเที่ยวของไทยเติบโตดี และการส่งออกขยายตัวเป็นบวกต่อเนื่อง ทำให้ดุลการค้าไทยเติบโตในระดับสูง จึงทำให้ต่างชาติมองว่าไทยมีความมั่นคงทางการเงิน จึงได้นำเงินเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น ซึ่งการที่ไทยมีค่าเงินแข็งค่าสูงสุดในภูมิภาค เป็นสิ่งที่น่าห่วง ทำให้ศักยภาพการแข่งขันกับประเทศคู่แข่งลดลงมาก

“โดยเงินลงทุนในระยะยาวไม่น่าเป็นห่วง ห่วงแต่เงินทุนระยะสั้นที่เข้ามาเก็งกำไรในตลาดหุ้นและพันธบัตรระยะสั้น ซึ่ง ธปท. ก็พยายามเร่งแก้ไขปัญหาเริ่มจำกัดพันธบัตรระยะสั้นไปแล้ว อย่างไรก็ตามหากพบว่ายังมีเงินระยะสั้นไหลเข้ามาเป็นจำนวนมาก ก็ควรจะใช้มาตรการทางการเงิน การคลังอื่นๆที่มีอยู่เข้าไปเร่งอุดรูรั่วตรงนี้เพิ่มขึ้น”

ผู้ใช้วัตถุดิบในประเทศอ่วม

ส่วนผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ก็คือผู้ผลิตที่ใช้วัตถุดิบภาคการเกษตรภายในประเทศเป็นส่วนใหญ่ เพราะจะแลกเป็นเงินบาทได้น้อยลง กระทบซัพพลายเชนภายในประเทศ ส่วนผู้ส่งออกที่นำเข้าชิ้นส่วนจากต่างประเทศเกิน 50%ขึ้นไปจะได้รับประโยชน์เพิ่มขึ้น

โดยแนวทางการแก้ปัญหาช่วยลดภาวะขาดทุน ก็คือการเร่งทำประกันค่าเงินบาท หรือไม่ก็ทยอยขายดอลลาร์ล่วงหน้าไปเลย เอลดผลกระทบด้านอัตราแลกเปลี่ยน

ชงกกร.“กันยาฯ”แก้บาทแข็ง

นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) กล่าวว่า ค่าเงินบาทที่แข็งค่าในขณะนี้สูงกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค ถือเป็นสัญญาณที่ไม่ดีนัก ที่จะส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถทางการแข่งขันของผู้ส่งออก ซึ่งจะต้องติตตามว่าค่าเงินบาที่แข็งจะเป็นไปในระยะสั้นหรือระยะยาวเพียงใด

โดยในขณะนี้คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ได้จัดตั้งคณะทำงาน 1 ชุด ประกอบด้วย สมาชิกของสมาคมธนาคารไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย รวมถึงตัวแทนของธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อประชุมหารือและติดตามผลกระทบของค่าเงินบาทที่แข็งค่า ก่อนที่จะนำเข้าหารือในที่ประชุมกกร.ประจำเดือนก.ย.นี้ เพื่อสรุปแนวทางการแก้ไขปัญหานี้ต่อไป

นอกจากนี้ สอท. ยังได้เสนอแนะให้ผู้ประกอบการที่มีแผนการลงทุนใช้โอกาสที่เงินบาทแข็งค่านำเข้าเครื่องจักร เทคโนโลยี จากต่างประเทศเพื่อขยายกำลังการผลิต แต่ทั้งนี้การขยายกำลังการผลิตของผู้ประกอบการยังเพิ่มขึ้นไม่มากนัก

นักวิเคราะห์แจงกระทบกำไรขั้นต้น

นายกำพล อดิเรกสมบัติ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์(บล.) กสิกรไทย กล่าวว่า การแข็งค่าของเงินบาทคงไม่มีผลต่อมูลค่าการส่งออกของไทยมากนัก แต่ผลกระทบจะออกมาในรูปของกำไรขั้นต้น(มาร์จิ้น) ของผู้ส่งออกที่ลดลงเมื่อแปลงรายได้ในรูปเงินดอลลาร์มาเป็นเงินบาท

“ถ้าดูจากสถิติในอดีต จะเห็นชัดว่ามูลค่าการส่งออกกับการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินไม่ได้ไปด้วยกันมากนัก คือ ไม่ใช่ว่าเงินบาทแข็งแล้วจะทำให้การส่งออกแย่ หรือเงินบาทอ่อนแล้วทำให้การส่งออกดีขึ้น ความสัมพันธ์ไม่ได้ชัดเจนแบบนั้น แต่ที่ชัด คือ เงินบาทที่แข็งค่า ทำให้มาร์จิ้นของผู้ส่งออกลดลง ดังนั้นเงินบาทที่แข็งค่า จึงมีผลต่อกำไรของผู้ส่งออกมากกว่า”

ส่วนแนวโน้มการส่งออกของไทยช่วงครึ่งปีหลัง มองว่าจะชะลอลงเมื่อเทียบกับครึ่งปีแรก เพราะถ้าดูการเติบโตของการส่งออกไทยในครึ่งปีแรกที่เติบโต 7-8% จะพบว่า เกินกว่า 50% มาจากสินค้าโภคภัณฑ์ ซึ่งเป็นการเติบโตจากราคาที่สูงขึ้น แต่ล่าสุดราคาสินค้าเหล่านี้เริ่มปรับตัวลดลง จึงอาจส่งผลต่อการส่งออกในช่วงที่เหลือของปีนี้ได้

นอกจากนี้ การส่งออกในช่วงครึ่งปียังมาจากการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อใช้ผลิตสินค้าประเภทไอโฟน8 ที่จะออกขายในเดือนก.ย.นี้ ทำให้มีการเร่งนำเข้าสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ค่อนข้างมากในช่วงก่อนหน้า จึงไม่แน่ใจว่าช่วงครึ่งปีหลัง การส่งออกสินค้าในกลุ่มนี้จะทำได้ดีต่อเนื่องหรือไม่

ฉุด“มาร์จิ้น”สินค้าโภคภัณฑ์

นายพิพัฒน์ เหลือนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์(บล.) ภัทร กล่าวว่า การแข็งค่าของเงินบาทคงมีผลต่อผู้ประกอบการกลุ่มส่งออกบ้าง โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ทำให้รายได้ของผู้ประกอบการกลุ่มนี้ลดลง ขณะที่กลุ่มสินค้าอื่น คงต้องขึ้นกับความสามารถทางการแข่งขันในแต่ละราย รายไหนที่มีมาร์จิ้นต่ำก็คงได้รับผลกระทบแน่นอน

“ตั้งแต่ต้นปีเงินบาทแข็งค่าแล้วประมาณ 7.5% หากใครที่มีมาร์จิ้นต่ำกว่านี้ก็คงจะขาดทุน ส่วนใครที่มีความสามารถการแข่งขันที่สูงขึ้นมาหน่อย ก็น่าจะพอรับมือได้”