“นกฮูก”มิตรเกษตรอินทรีย์ ปราชญ์ชุมชนคู่กลไกธุรกิจ

“นกฮูก”มิตรเกษตรอินทรีย์ ปราชญ์ชุมชนคู่กลไกธุรกิจ

นกฮูก กรุ๊ป การรวมกลุ่มคนรุ่นใหม่หวังนำกลยุทธ์การตลาดปลดล็อกปัญหาสินค้าเกษตร แต่เมื่อลงลึกไปเจอปัญหาเกษตรกรรายย่อย ยากต่อกรยักษ์ใหญ่ออร์แกนิก “ธนภณ เศรษฐบุตร”จึงเริ่มธุรกิจแบบเป็นมิตรที่ฟูมฟักเกษตรกรไทย ติดอาวุธรบลุยตลาดโลก

ธุรกิจเพื่อสังคม ไม่ใช่แค่คิดมีใจเมตตา ใส่ใจสังสังคมแล้วจะลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงสังคมได้ทันที เพราะการเติบโตยังต้องอาศัยเงินทุน แรงสนับสนุนจากผู้บริโภค และหน่วยงานต่างๆ ที่จะทำให้ธุรกิจโดนใจตลาด ปลดล็อกปัญหาสังคม ไปพร้อมกับการทำธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน

ผ่านการจัดเสวนาของศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) เปิดมุมมองธุรกิจที่ใส่ใจสังคมและสิ่งแวดล้อม (Social Enterprise) โดย “นกฮูก กรุ๊ป” คือหนึ่งในนั้น

ธนภณ เศรษฐบุตร ผู้ก่อตั้ง บริษัทนกฮูก กรุ๊ป (Nokhook Group) นักการตลาดที่ร่วมงานกับองค์กรยักษ์ใหญ่หลายแห่ง จนท้ายที่สุดหัวใจเรียกร้องให้ออกมาร่วมกันก่อตั้งธุรกิจเพื่อสังคมกับเพื่อน 3 คน เล่าว่า เป้าหมายเริ่มต้นของการทำธุรกิจ เพื่อต้องการปลดล็อกปัญหาพืชผลเกษตรล้น ไม่มีตลาด จึงหวังใช้วิชาความรู้ด้านการตลาด พลิกชีวิตเกษตรกรไทย ผ่านการทำเกษตรอินทรีย์ พลิกชีวิตเกษตรกรให้มีรายได้มั่นคง รักษาสิ่งแวดล้อมที่ดี

ทว่า จากแรกเริ่มทำงาน เข้าไปคลุกวงในคุยกับเกษตรกรจริงๆ เพื่อนำสินค้ามาขาย กลับพบปัญหาที่ไม่ใช่เพียงแค่ขาดตลาด แต่ไล่ไปตั้งแต่ ปัญหาการวางแผนการผลิต ความรู้เกษตรกรเรื่องการบริหารจัดการเกษตรอินทรีย์ ฯลฯ

กิจการเพื่อสังคมของนกฮูก กรุ๊ป จึงเข้าไปช่วยพัฒนาเกษตรกรไทยใน 3 ด้าน คือ การระดมทุนเพื่อนำมาช่วยเหลือปัจจัยการผลิต การฝึกอบรมความรู้และพัฒนามาตรฐาน รวมถึงการตลาด กระจายสินค้า

ตอนแรกเราแค่ต้องการรับสินค้าไปขายทำตลาด แต่ต่อมาต้องปรับวิธีคิดเป็นคู่คิด คู่ค้า (พาร์ทเนอร์) เติบโตไปด้วยกัน แม้ยอมรับว่าชุมชนไม่พร้อมเพราะเป็นเกษตรกรรายย่อยยังขาดความรู้ เครื่องมือกลับต้องแข่งขันกับยักษ์ใหญ่ จึงต้องเติมเต็มตั้งแต่การเพาะปลูก การจัดการ จนถึงมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ที่ไม่มีในไทย จึงต้องส่งไปทดสอบมาตรฐานระดับโลกในต่างประเทศ

เขายังบอกว่า การเข้าไปคุยกับชาวบ้านเพื่อให้เข้าใจสภาพปัญหาที่แท้จริง เข้าใจความต้องการเกษตรกรไทยมากขึ้นไม่ใช่เพียงหาตลาด แต่ต้องเติมเต็มกลไกการจัดการทำงานหลังบ้าน (แบ็ก ออฟฟิศ) ให้พร้อมสำหรับการพัฒนาตลาด

หากไม่ได้มาตรฐานระดับสากล ก็ไม่สามารถการันตีได้ว่าสินค้าที่วางบนเชลฟ์เป็นสินค้าออร์แกนิก แม้จะรับซื้อในราคาออร์แกนิกก็ต้องจำหน่ายในราคาสินค้าทั่วไป ทำให้เขาต้องผลักดันสินค้าให้ได้มาตรฐานรับรอง ต้องทำงานหนักต่อไปเรื่อยๆ

ตัวอย่างกรณีศึกษาที่กลุ่มนกฮูก เข้าไปทำงานร่วมกันกับชุมชน มี 2 กลุ่มคือ กลุ่มชาวเขาเผ่ามูเซอ จังหวัดตาก และกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกข้าวอินทรีย์ จังหวัดบุรีรัมย์

โดยเข้าไปช่วยพัฒนากาแฟออร์แกนิกให้กับชาวเขาเผ่ามูเซอ จังหวัดตาก นอกจากเพาะปลูกแล้วก็ต้องเชิญวิทยากรไปสอนอบรมการเพาะปลูก แล้วยังอบรมเรื่องการคั่วเมล็ดกาแฟ ให้ได้มาตรฐาน

จนกาแฟ แบรนด์มูเซอพัฒนาขึ้นได้รับมาตรฐานจากเกาหลี ถึงระดับพิเศษ (Specialty Coffee) เทียบเท่ากาแฟ เกรดพรีเมี่ยมโลก จึงสามารถขึ้นไปจำหน่ายในสายการบินแอร์เอเชีย จากนั้นมาก็ทำให้แบรนด์นี้เป็นที่สนใจจากแหล่งทุน และนักธุรกิจต่างๆ มากขึ้น

กรณีศึกษาเผ่ามูเซอ ถือเป็นกรณีที่น่าสนใจตรงที่ พวกเขามีความรู้ทำกาแฟมายาวนาน เมื่อเข้าไปเติมองค์ความรู้ด้านมาตรฐานทำให้กาแฟมีความพิเศษ จนเป็นจุดขายทางการตลาด

เบื้องหลังของหมู่บ้านชาวเขาเผ่ามูเซอแห่งนี้ มีวิถีชีวิตที่น่าสนใจ พวกเขาเติบโตมากับผืนป่า ผูกพันกับผืนป่าโดยธรรมชาติ เพราะป่าคือวิถีชีวิต วัฒนธรรม ตั้งแต่เล็กจนโต จึงมีใจอนุรักษ์ป่าอยู่แล้ว การส่งเสริมให้ปลูกกาแฟใต้ต้นไม้ใหญ่ในป่า โดยมีพวกเขาเป็นผู้ดูแลผืนป่า จึงเกิดการร่วมมือเต็มใจ

กลุ่มบริษัทต้องทำให้คนเผ่ามูเซอเห็นว่า การรักษาป่าไม่ใช่ผลประโยชนเพียงมิติทางสังคมและสิ่งแวดล้อมดี แต่ตอบโจทย์ทางด้านเศรษฐกิจ สร้างมูลค่า รายได้เข้าเลี้ยงคนในหมู่บ้าน 250 ครัวเรือน จากการทำหน้าดูแลรักษาป่า 18,000 ไร่อีกด้วย

หรืออย่างกรณีของ ชุมชนในเครือข่ายนวัตกรรม จังหวัดบุรีรัมย์ ที่ปัจจุบันเหลือชาวบ้านกลุ่มเล็กทำเกษตรอินทรีย์เพียง 30 ราย จาก 300 ราย เพราะพวกเขาเจอทางตันที่ปลูกแล้วไม่มีแหล่งจำหน่ายสินค้า เกษตรกรจึงค่อยๆ ถอดใจถอยไปทำอย่างอื่น

นกฮูกเข้าไปช่วยพัฒนาความรู้วิถีเกษตรอินทรีย์ที่ไม่ใช่ แค่ไม่ใช้ปุ๋ยและยาฆ่าแมลงปลอดเคมี แต่ลึกซึ้งไปถึงการบริหารจัดการนา หากแปลงข้างๆ ทำเกษตรเคมีจะมีวิธีการทำอย่างไร เฟ้นหาจุดแข็งของท้องถิ่นให้มีข้าวพันธุ์หลากหลาย ไม่ใช่พอตลาดนิยมข้าวไรซ์เบอร์รี่นิยมก็แห่ปลูกกัน แต่เน้นพัฒนาข้าวพันธุ์ดีมีจุดขายประจำท้องถิ่นให้มีคุณค่าขึ้นมา

เขาจึงปลุกปั้นแบรนด์ ข้าวโชคดี ที่มีหลากหลายสายพันธุ์พื้นเมือง อาทิ ข้าวออร์แกนิกผสม 3 สายพันธุ์ คือ หอมมะลิอินทรีย์ ข้าวหอมนิลสุรินทร์ ข้าวหอมโตแบบอินทรีย์ หรือข้าวหอมมะลิดินภูเขาไฟ ใช้พื้นที่อดีตเคยมีล่องรอยดินลาวาจากภูเขาไฟมาเป็นจุดขายมีแร่ธาตุและสารอาหารสูงในข้าว หรือข้าวจิ๊บ ข้าวพันธุ์พื้นเมืองที่เกือบสูญพันธุ์ ให้มีตลาดขึ้นมา

ข้าวพันธุ์พื้นเมือง มีความแตกต่างเฉพาะแต่ละท้องถิ่น ควรทำให้ผู้บริโภคเข้าใจเรื่องความหลากหลายทางอาหาร ที่จะทำให้เกิดความต้องการทางการตลาด โดยไม่ต้องเน้นสารอาหารแค่ข้าวไรซ์เบอร์รี่ที่เป็นกระแสในปัจจุบัน

ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ที่กลุ่มนกฮูกส่งเสริมเกษตรกรได้วางจำหน่ายในบนสายการบินแอร์เอเชีย และส่งกาแฟไปในสถานทูตสวีเดน และกำลังจะยกระดับร้านกาแฟ แฟร์เทรด (ค้าขายเป็นธรรม ทุกฝ่ายได้ประโยชน์) ในย่านเอกมัย ซอย 4 ชื่อร้าน เออร์บี้ (Urby Café) ซึ่งมีคนชอบในคอนเซ็ปต์ติดต่อมาขอแฟรนไชส์ ในจังหวัดพังงา

หลังจากทำมา 3 ปี พบความยากของธุรกิจเพื่อสังคม อยู่ตรงที่การเชื่อมโยงกลุ่มทุนเข้ากับเกษตรกร เมื่อเชิญคนเข้าไปเยี่ยมเกษตรกร มักจะตั้งคำถามในเชิงธุรกิจที่ไกลจากชีวิตจริงของเกษตรกร จนทำให้หัวหน้าชุมชนตื่นกลัว เนื่องจากกลุ่มทุนยังไม่เข้าใจบริบทของชาวบ้านที่แท้จริง

วิถีชุมชนเป็นชีวิตของเขา คนที่ลงพื้นที่มักถามว่าจะให้ช่วยเกษตรกรกี่บาท มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างไร ชาวบ้านมูเซอกลัวคำถาม จนไม่ขอรับเงินทุนจากคนภายนอก” เขาเล่า

นกฮูก กรุ๊ป ยังวาดหวังว่า ธุรกิจเพื่อสังคมที่พัฒนาขึ้นมานี้จะนำไปสู่ปรัชญาเศรษฐกิจที่ทำให้เกิดห่วงโซ่ (ซัพพลายเชน) ธุรกิจที่เกื้อกูลและเติบโตไปด้วยกัน โดยมีวิถีการบริหารจัดการ ผนึกกับวิถีปราชญ์ชาวบ้านที่มีศักยภาพการจัดการ จากการสั่งสมภูมิปัญญาท้องถิ่น ผสมผสานกับกลไกการบริหารจัดการเชิงองค์รวมแบบธุรกิจ ก็จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต ชุมชน สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจไปพร้อมกัน

ดังความหมายของชื่อกิจการเพื่อสังคมในกลุ่ม นกฮูก ที่มีปรัชญาซ่อนอยู่เป็นเหมือนสัญลักษณ์แทนการเป็น “นักปราชญ์” คือ หูตั้ง ฟังเยอะ ตาโต มองกว้างไกล ปากเล็ก พูดน้อย แต่พูดทุกครั้งมีความแหลมคม