‘พิโก’ยอดให้กู้16ล้าน

‘พิโก’ยอดให้กู้16ล้าน

"พิโก" ยอดให้กู้16ล้าน สศค.ชี้ไร้ "เอ็นพีแอล"

สศค. ยืนยันหนี้เสีย “นาโนไฟแนนซ์” ทั้งระบบต่ำเพียง 2.45% ส่วนสินเชื่อทรงตัว 2 พันล้าน ขณะ “พิโก” ไฟแนนซ์ยังไร้เอ็นพีแอล แต่ยอมรับยอดสินเชื่อยังต่ำเพียง 16 ล้านบาท จำนวนผู้ได้รับสินเชื่อ 521 ราย เหตุเพิ่งเริ่มดำเนินการ

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) ประเมินภาพรวมการปล่อยสินเชื่อรายย่อยของผู้ประกอบการธุรกิจนาโนไฟแนนซ์และพิโกไฟแนนซ์ว่า สินเชื่อในกลุ่มดังกล่าวยังขยายตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป

โดยสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์นั้น ขณะนี้ ยอดปล่อยสินเชื่อยังอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจาก เป็นช่วงที่เพิ่งเริ่มดำเนินการ โดยมียอดปล่อยสินเชื่อไปประมาณ 16 ล้านบาท คิดเป็นจำนวนสินเชื่อที่ปล่อย 521 ราย ยังไม่มียอดหนี้เสีย ขณะนี้ กระทรวงการคลังอนุมัติผู้ให้บริการสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ไปแล้วจำนวนกว่า 100 ราย มีจำนวนรายที่ปล่อยสินเชื่อแล้ว 47 ราย ขณะที่ มียอดผู้ขอให้บริการที่อยู่ระหว่างการพิจารณาอนุมัติ 312 ราย 

นายกฤษฎา เชื่อว่า ผู้ประกอบการส่วนหนึ่งที่เข้ามาขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจดังกล่าว จะเป็นผู้ที่เคยปล่อยหนี้นอกระบบมาก่อน ก็ถือว่า เราสามารถดึงให้ผู้ประกอบการส่วนนี้เข้ามาอยู่ในระดับได้

ทั้งนี้ สำหรับสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์นั้น เกิดขึ้นเพราะกระทรวงการคลังเล็งเห็นถึงความจำเป็นที่ต้องเพิ่มช่องทางการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบให้แก่ประชาชนรายย่อย โดยจะเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบแก่ประชาชนไปด้วยในเวลาเดียวกัน จึงได้อนุญาตให้มีการประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยประเภทใหม่ ได้แก่ สินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้ การกำกับที่เรียกว่าสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ ซึ่งเป็นการปล่อยสินเชื่ออเนกประสงค์ต่อรายไม่เกิน 5 หมื่นบาท ผู้ประกอบธุรกิจจะต้องมีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 5 ล้านบาท สามารถเรียกเก็บดอกเบี้ย ค่าปรับ ค่าบริการ และค่าธรรมเนียมใดๆ ได้ไม่เกิน 36% ต่อปี

ส่วนผู้ประกอบการนาโนไฟแนนซ์ ซึ่งเปิดดำเนินการมาได้ระยะหนึ่งนั้น ยอดสินเชื่อก็อยู่ในระดับทรงตัวที่ 2 พันล้านบาท ส่วนยอดสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์นั้น ถือว่า ยังอยู่ในระดับต่ำ แต่ก็เป็นช่วงที่เพิ่งเริ่มดำเนินการ จึงอาจต้องใช้เวลาในการดำเนินการอีกระยะ

สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์เป็นสินเชื่อที่ปล่อยเพื่อการประกอบอาชีพ อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย ผู้ประกอบการต้องมีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 50 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยที่คิดแก่ลูกหนี้ต้องไม่เกิน 36% ต่อปี วงเงินที่ให้แก่ลูกหนี้ไม่เกิน 1 แสนบาทต่อราย ปัจจุบันมีผู้ประกอบการที่ให้เปิดให้บริการสินเชื่อดังกล่าวประมาณ 27 ราย ในจำนวนนี้ สามารถปล่อยสินเชื่อแล้ว 2.5 พันล้านบาท คิดเป็นจำนวนรายสินเชื่อที่ปล่อยกว่า 1 แสนราย มีหนี้เสียอยู่ที่ 2.45%