'สมาคมบล.'วอนก.ล.ต.ผ่อนเกณฑ์

'สมาคมบล.'วอนก.ล.ต.ผ่อนเกณฑ์

สมาคมบล."วอนก.ล.ต." ผ่อนเกณฑ์ หวังตัดกติกาซ้ำซ้อน-เคลียร์กฎอินไซด์ให้ชัดเจน ภาพรวมครึ่งปีปรับตามมาตรการลงโทษทางแพ่งกฎหมายใหม่ 14 ล้าน

สมาคมบล.ชี้การดำเนินคดีกับผู้บจ.มีความรวดเร็วขึ้น แต่การบังคับใช้เกณฑ์การใช้ข้อมูลภายในยังครุมเครือ หวังก.ล.ต.ผ่อนคลายและตัดที่ไม่จำเป็นออกไป ด้านภาพรวมครึ่งปีแรกลงโทษผู้บริหารผ่านมาตรการทางแพ่งตามกฎหมายใหม่ครึ่งปีเฉียด 14 ล้านบาท พร้อมเรียกเงินชดใช้อีก 9 ล้าน พบสถิติการกล่าวโทษจำนวนคดีลดลง ด้านนักวิเคราะห์มองวอลุ่มการซื้อขายหุ้นลดไม่เกี่ยวกฎหมายใหม่

ภาพรวมครึ่งปี 2560 การดำเนินคดีและลงโทษผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยเกิดขึ้นอย่างคึกคัก ซึ่งถือว่าเป็นผลงานของฝ่ายกำกับตลาดทุนที่มีการพัฒนาการเอาผิดผู้กระทำความผิดได้อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น

รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ระบุในรายงานสถิติการดำเนินคดีครึ่งปีแรกพบว่า การดำเนินคดีด้วยมาตรการลงโทษทางแพ่ง ตามพ.ร.บ.หลักทรัพย์ฉบับใหม่ ที่เริ่มบังคับใช้ในปลายปี 2559 นั้น มีผู้ที่กระทำความผิดทั้งสิ้น 4 คดี และมีจำนวนผู้กระทำความผิดทั้งสิ้น 10 ราย โดยมาการเปรียบเทียบค่าปรับทางแพ่งในครึ่งปีแรกรวมกัน 13.95 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีการชดใช้เงินเท่าผลประโยชน์ที่ได้รับในช่วงครึ่งปีแรกอีก 9.10 ล้านบาท

ทั้งนี้ สถิติการกล่าวโทษช่วงครึ่งปีแรก พบว่า มีจำนวนคดี ทั้งสิ้น 9 คดี ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนมี 15 คดี จำนวนผู้ที่ถูกกล่าวโทษ 25 ราย ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 42 ราย ส่วนการเปรียบเทียบปรับ มีจำนวนข้อหา 64 ข้อหา เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 7 ข้อหา จำนวนราย 43 ราย เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 22 ราย จำนวนเงินค่าปรับ 9.96 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนที่ 45.28 ล้านบาท

นอกจากนี้สำนักงานก.ล.ต.ได้ลงโทษผู้ที่เกี่ยวกับตลาดทุนครึ่งปีแรก มีการดำเนินการสั่งพักการทำงาน ทั้งสิ้น 6 ราย เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 3 ราย การเพิกถอนความเห็นชอบ ครึ่งปีแรกอยู่ที่ 4 ราย จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 10 ราย

นางภัทธีรา ดิลกรุ่งธีระภพ นายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ เปิดเผยว่า การลงโทษผู้กระทำความผิดและการดำเนินคดีของสำนักงานก.ล.ต.ช่วงที่ผ่านมามีพัฒนาการที่ดีและมีความรวดเร็วมากขึ้น เป็นสิ่งที่ผู้ที่เกี่ยวข้องในตลาดทุนต้องการจะเห็น เพราะจะช่วยป้องปรามผู้ที่คิดจะกระทำความผิดในตลาดทุนไทยได้

“การลงโทษและการบังคับใช้กฎหมายของสำนักงานก.ล.ต.มีพัฒนาการที่ดีมีความรวดเร็วมากขึ้น และมองว่า ปัจจัยในเรื่องความรวดเร็วของการดำเนินคดีเป็นสิ่งที่สำคัญ เนื่องจากจะทำให้นักลงทุนในตลาดหุ้นไม่ลืมกับสิ่งที่ผิดปกติในตลาดทุน และรับทราบถึงบทลงโทษของผู้กระทำความผิด จะช่วยให้เกิดความระมัดระวังมากขึ้น”

นายกสมาคมบล.กล่าวว่า หลังจากการบังคับใช้พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฉบับใหม่ในปลายปี 2559 นักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์มีความเข้าใจในกฎเกณฑ์มากขึ้น ซึ่งการบังคับใช้กฎเกณฑ์ในระยะแรก อาจมีอุปสรรคและความไม่เข้าใจเกิดขึ้น จึงต้องใช้เวลาอธิบายกฎเกณฑ์ใหม่ให้นักลงทุนได้รับทราบ โดยปัจจุบันปัญหาที่ยังพบในผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน รวมถึงนักลงทุนและผู้บริหารบริษัทหลักทรัพย์ คือ  กฎเกณฑ์การใช้ข้อมูลภายใน ที่ยังมีความคลุมเครือค่อนข้างมาก และต้องอาศัยเวลาในการเรียนรู้และทำความเข้าใจเพิ่มเติม

และอีกปัญหาที่สำคัญคือ ปัจจุบันกฎเกณฑ์ของสำนักงานก.ล.ต.นั้นอาจจะมีมากเกินความจำเป็น โดยช่วงที่ผ่านมา สำนักงานมักใช้วิธีการออกกฎเกณฑ์ตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในตลาดทุน ทำให้กฎเกณฑ์ต่างๆ มีจำนวนที่มากเกินไป โดยเฉพาะกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับบริษัทจดทะเบียน ซึ่งสำนักงานก.ล.ต.ต้องทบทวนกฎเกณฑ์และปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพสูงสุด และกฎหมายที่ไม่จำเป็นออกไปทั้งหมด

สำหรับมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันของนักลงทุนรายบุคคลปรับตัวลดลงนั้น ส่วนตัวมองว่า เกิดจากภาวะตลาดหุ้นที่แกว่งตัวแคบ และไม่มีปัจจัยใหม่เข้าสนับสนุนให้ดัชนีปรับขึ้นได้ ทำให้นักลงทุนเลือกที่จะหยุดการซื้อขายลง ซึ่งไม่เกี่ยวกับการบังคับใช้กฎเกณฑ์ตามพ.ร.บ.หลักทรัพย์ฉบับใหม่

นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรมผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บริษัท หลักทรัพย์ เอเซีย พลัสเปิด เผยว่า มูลค่าการซื้อขายที่ลดลงของนักลงทุนรายบุคคลไม่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฉบับใหม่ เนื่องจากการปรับตัวลดลงของนักลงทุนรายบุคคลเมื่อเทียบกับช่วง 10 ปีที่ผ่านมา พบว่า ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง จากพัฒนาการการลงทุนที่มีเครื่องมือและทางเลือกมากขึ้นอย่างการลงทุนผ่านนักลงทุนสถาบัน ซึ่งในค่าเฉลี่ยระยะยาวยังเชื่อว่านักลงทุนรายบุคคลจะมีสัดส่วนต่อมูลค่าการซื้อขายในระดับ 40 -50 %