'บิ๊กตู่' ขีดเส้นต้องหาผู้ร่วมทุน 'ไอแบงก์'ให้จบในปีนี้

'บิ๊กตู่' ขีดเส้นต้องหาผู้ร่วมทุน 'ไอแบงก์'ให้จบในปีนี้

"นายกรัฐมนตรี" สั่ง "ไอแบงก์" เร่งหาพันธมิตรร่วมทุนภายในสิ้นปีนี้ เผย "วิชัย ทองแตง" สนซื้อหุ้นเสนอขอทำดิวดิลิเจนท์แล้ว ขณะที่ "กองทุนและแบงก์อิสลาม" จากมาเลย์เสนอตัวเป็นพันธมิตร

รัฐบาลยังคงเดินหน้าแก้ไขสถานะทางการเงินของ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย(ไอแบงก์) ล่าสุดในที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(คนร.) ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้สั่งการให้ ไอแบงก์ เร่งหาพันธมิตรร่วมทุนให้แล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2560

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการกำกับนโยบายรัฐวิสาหกิจ(สคร.) กล่าวว่า ในที่ประชุม คนร. ผู้บริหารไอแบงก์ ได้รายงานต่อที่ประชุมเกี่ยวกับแผนการสรรหาพันธมิตรเพื่อเข้าร่วมทุนของธนาคารว่า ขณะนี้ มีผู้สนใจเข้าเจรจาเป็นพันธมิตรกับธนาคาร 3 ราย โดยเป็นนักลงทุนที่อยู่ในประเทศและต่างประเทศ คาดว่าการเจรจาจะแล้วเสร็จในเร็วๆนี้

"ทางผู้บริหารอิสลามแบงก์รายงานว่า มีนักลงทุนที่อยู่ระหว่างการเจรจาเข้าร่วมทุนกับธนาคารจำนวน 3 ราย แต่ยังบอกไม่ได้ว่า เป็นใครบ้าง เพราะบางรายก็อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ด้วย แต่เป็นนักลงทุนที่อยู่ทั้งในและต่างประเทศ"

ขีดเส้นหาพันธมิตรก่อนสิ้นปีนี้

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ได้มอบนโยบายในเรื่องการเจรจาหาพันธมิตรร่วมทุนดังกล่าวว่า ให้ธนาคารเร่งเจรจา โดยให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้ เพื่อให้การบริหารจัดการธนาคารเดินหน้าไปอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งทางผู้บริหารของธนาคารก็รับปากจะทำหน้าที่เจรจาให้แล้วเสร็จ

สำหรับแผนการเพิ่มทุนในวงเงิน 1.8 หมื่นล้านบาทนั้น เขากล่าวว่า การเพิ่มทุนดังกล่าว เป็นหนึ่งในเงื่อนไขที่ทางธนาคารจะต้องหาพันธมิตรเข้าร่วมทุน ซึ่งกระทรวงการคลังได้เตรียมเม็ดเงินลงทุนไว้เรียบร้อยแล้ว โดยจะนำมาจากกองทุนแบงก์รัฐที่มีวงเงินอยู่ประมาณ 1 หมื่นล้านบาท แต่การใส่เงินเพิ่มทุนนั้น จะไม่ใส่ไปในคราวเดียว ซึ่งจะขึ้นอยู่กับแผนการดำเนินงานของธนาคารหลังมีพันธมิตรเข้ามาร่วมทุนแล้ว

"การใส่เงินเพิ่มทุนจะขึ้นอยู่กับเงื่อนไขการหาพันธมิตร โดยเมื่อหาพันธมิตรได้แล้ว เราจึงจะใส่เงินเพิ่มทุนให้ตามแผนการดำเนินธุรกิจ" เขากล่าวและว่า ทั้งนี้ กองทุนแบงก์รัฐถูกจัดตั้งขึ้นมา เพื่อรักษาเสถียรภาพแบงก์รัฐทั้งหมด ฉะนั้น การนำเงินดังกล่าวมาใช้ในการเพิ่มทุนอิสลามแบงก์ ก็ถือว่า เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกองทุน

ดึงเงินกองทุนแบงก์รัฐเพิ่มทุน

ด้านนายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.)ในฐานประธานประชุมคณะอนุกรรมการบริหารและอำนวยการในคณะกรรมการกองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ(กองทุนแบงก์รัฐ)กล่าวว่า ขณะนี้ กองทุนแบงก์รัฐมีเงินอยู่ประมาณ 1 หมื่นล้านบาท พร้อมนำเงินดังกล่าวไปเพิ่มทุนให้อิสลามแบงก์ แต่ในการเพิ่มทุนคงต้องรอการแก้ไขกฎหมายของธนาคารให้แล้วเสร็จก่อน รวมถึงการหาพันธมิตร ซึ่งเงินเพิ่มทุนที่กองทุนแบงก์รัฐต้องใส่ให้กับไอแบงก์อยู่ประมาณ 1.6 หมื่นล้านบาท ส่วนที่เหลือจะมาจากงบประมาณ

"ในการเพิ่มทุนนั้น อิสลามแบงก์ทำตามมติ ครม. คือ ต้องแก้กฎหมายให้คลังสามารถถือหุ้นได้เกิน49% และต้องหาพันธมิตรให้ได้ก่อน ซึ่งกองทุนแบงก์รัฐมีเงินพร้อม เพราะการเพิ่มทุนนั้นเป็นลักษณะการทยอยใส่เงินเข้าไป สิ่งสำคัญคือ ไอแบงก์ต้องทำตามเงื่อนไขข้างต้นให้ได้ก่อน" นายกฤษฎา กล่าว

สำหรับเงินกองทุนแบงก์รัฐนั้นเป็นเงินที่แบงก์รัฐต้องส่งเงินเข้ากองทุน 0.25% ของเงินฝาก โดยนำส่งเข้ากองทุนปีละ 2 งวดคือ ในช่วงกลางปีกับปลายปี โดยจะมีเงินเข้ามางวดละกว่า 4 พันล้านบาท หรือปีละ 8 พันล้านบาท ในปี 2561 เงินดังกล่าวน่าจะเพียงพอ

ผู้สนใจร่วมทุนเพิ่มเป็น 4 ราย

ส่วนการเพิ่มทุนไอแบงก์ทั้งหมด หลังจากนั้นจะนำเงินไปใช้ในการพัฒนาแบงก์รัฐในด้านอื่นๆ เช่น การพัฒนาระบบเพื่อรองรับมาตรฐานทางบัญชีใหม่ การทำระบบไอทีกลางเพื่อใช้ร่วมกันเป็นต้น

แหล่งข่าวจากธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย กล่าวว่า นอกจากผู้แสดงความสนใจทั้ง 3 ราย ที่ขอเข้ามาเจรจาร่วมเป็นพันธมิตรกับธนาคารแล้ว ล่าสุดมีผู้สนใจเพิ่มเข้ามาอีก 1 ราย ทำให้ปัจจุบันมีผู้แสดงความสนใจเข้าเป็นพันธมิตรร่วมทุนกับธนาคารรวมแล้ว 4 ราย

สำหรับผู้แสดงความสนใจเหล่านี้มีทั้งผู้ลงทุนไทยและต่างประเทศ โดยผู้ลงทุนจากต่างประเทศ เป็นกองทุนอิสลามจากมาเลเซีย และธนาคารพาณิชย์จากมาเลเซีย ได้แสดงความสนใจที่จะเข้ามาร่วมทุนกับธนาคาร

โดยคุณสมบัติพันธมิตรที่จะเข้ามาร่วมทุน สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธนาคาร ผู้ที่เข้ามาจะต้องช่วยสนับสนุนฟื้นฟูธนาคารให้มีการเติบโตให้เร็วที่สุด สำหรับสัดส่วนการเสนอขายหุ้นให้กับพันธมิตร มีโอกาสที่จะปรับเพิ่มขึ้น จากเดิมกำหนดไว้ไม่เกิน 74.5% แต่ถ้ามีผู้ลงทุนสนใจสามารถเจรจาเพิ่มสัดส่วนได้ถึง 80% ขึ้นอยู่กับการพิจารณาและข้อเสนอ

"วิชัย ทองแตง" สนร่วมทุน

ส่วนผู้ลงทุนไทยที่แสดงความสนใจ คือ นายวิชัย ทองแตง อดีตประธานกรรมการบริหาร บริษัท ซีทีเอช จำกัด (มหาชน) ซึ่งได้ขอเข้ามาตรวจสอบฐานะทางการเงิน(ดิวดิลิเจนท์) ของธนาคาร อย่างไรก็ตาม การเปิดให้เข้ามาดูสถานะข้อมูลของธนาคารนั้น จะดำเนินการพร้อมกัน คือ เปิดให้ผู้ที่แสดงความสนใจเข้ามาตรวจสอบสถานะธนาคารพร้อมกัน

แหล่งข่าวกล่าวว่า การหาพันธมิตรเข้าร่วมทุนนั้น ธนาคารจะดำเนินการควบคู่ไปกับการเพิ่มทุน ล่าสุดคณะรัฐมนตรี(ครม.) มีมติอนุมัติให้ใส่เงินเพิ่มทุนจำนวน 1.81 หมื่นล้านบาท ซึ่งทุกอย่างคาดว่าจะจบภายในสิ้นปีนี้

สำหรับผลดำเนินงานไตรมาสแรกปี 2560 ธนาคารมีผลขาดทุนสุทธิ 418.25 ล้านบาท โดยธนาคารมีหนี้สินรวมสูงกว่าสินทรัพย์รวม 17,505.91 ล้านบาท และมีสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ 56,384 ล้านบาท คิดเป็น 61% ของเงินให้สินเชื่อและรายได้ทางการเงินค้างรับ