‘หุ่นยนต์ช่วยกายภาพ’ ไฮไลต์งานเมดิคอลแฟร์ฯ

‘หุ่นยนต์ช่วยกายภาพ’ ไฮไลต์งานเมดิคอลแฟร์ฯ

หุ่นยนต์ผู้ช่วยนักกายภาพบำบัด ทำหน้าที่ช่วยฝึกการทรงตัวและการเดิน ตลอดจนอุปกรณ์สวมใส่อิเล็กทรอนิกส์ทำหน้าที่ตรวจเช็กสุขภาพแล้วส่งตรงข้อมูลถึงมือหมอ ไฮไลต์ในงาน “เมดิคอล แฟร์ ไทยแลนด์ 2017”

หุ่นยนต์ผู้ช่วยนักกายภาพบำบัด ทำหน้าที่ช่วยฝึกการทรงตัวและการเดิน ตลอดจนอุปกรณ์สวมใส่อิเล็กทรอนิกส์ทำหน้าที่ตรวจเช็กสุขภาพแล้วส่งตรงข้อมูลถึงมือหมอ ตัวอย่างไฮไลต์ในงาน “เมดิคอล แฟร์ ไทยแลนด์ 2017” งานนำเสนอสินค้าและเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น ระบบสารสนเทศเพื่อการดูแลสุขภาพ และเวชศาสตร์เพื่อการฟื้นฟู รวมไปถึงการจัดประชุมทางวิชาการในเรื่องที่เกี่ยวข้อง


นายเกอร์นอท ริงลิ่ง กรรมการผู้จัดการบริษัท เมสเซ่ ดุสเซลดอร์ฟ เอเชีย จำกัด กล่าวว่า งานปีนี้มุ่งเน้นด้านการดูแลฟื้นฟูสมรรถภาพ และการสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงระบบดูแลสุขภาพครบวงจร อาทิ อุปกรณ์และโซลูชั่นการดูแลสุขภาพแบบดิจิทัล รวมถึงเทคโนโลยีแบบสวมใส่ซึ่งกำลังเปลี่ยนแปลงตลาดไปอย่างรวดเร็ว โดยมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 800 บริษัท จาก 60 ประเทศ ระหว่างวันที่ 6-8 ก.ย.นี้ ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพมหานคร


ดิจิทัลหนุนการแพทย์เชิงรุก


พญ.อุไรรัตน์ ศิริวัฒน์เวชกุล นายกสมาคมเวชศาสตร์ฟื้นฟูแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุควบคู่กับการเป็นยุคดิจิทัล คนไข้และญาติสามารถค้นคว้าหาข้อมูล/บริการทางการแพทย์ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ยกตัวอย่าง ผู้ป่วยอัมพฤกษ์อัมพาตที่การดูแลเป็นแบบประคับประคอง ไม่ได้ช่วยเหลืออะไรมาก แต่ปัจจุบันญาติจะค้นข้อมูลแล้วออนไลน์สอบถามแพทย์ตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งยังใช้หุ่นยนต์ฝึกเดินช่วยฝึกการเคลื่อนไหวของผู้ป่วยอีกด้วย


การดูแลฟื้นฟูผู้สูงอายุในประเทศไทยในเชิงนโยบาย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ผลักดันงานด้านการฟื้นฟูผู้ป่วยระยะกลาง คือ ผู้ที่ผ่านพ้นภาวะเฉียบพลันมาแล้วแต่ยังกลับบ้านไม่ได้ อาจจะเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อน เมื่อเทียบค่าใช้จ่ายในการรักษาภาวะแทรกซ้อนที่จะเกิดขึ้นกับค่าใช้จ่ายในการช่วยฟื้นฟูผู้ป่วยแล้ว พบว่า ค่าใช้จ่ายอย่างแรกสูงกว่ามาก


หุ่นยนต์มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่จะนำมาใช้ฟื้นฟูสุขภาพผู้สูงอายุ โดยเฉพาะช่วยในเรื่องการเคลื่อนไหว เช่น หุ่นยนต์ฝึกเดิน หุ่นยนต์ฝึกการทำงานของแขน และหุ่นยนต์ช่วยคนแก่หรือหุ่นยนต์ดินสอ เป้าหมายก็เพื่อทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น ไทยกำลังก้าวไปสู่การเป็น ประเทศอัจฉริยะ หรือสมาร์ทเนชั่น ภายใต้กรอบแผนพัฒนาเศรษฐกิจสู่อุตสาหกรรม 4.0 ซึ่งรวมถึงการปรับเปลี่ยนอุตสาหกรรมด้านการแพทย์ ส่วนหนึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของประชากร ไปสู่สังคมผู้สูงอายุและยุคดิจิทัล ส่งผลให้มีความต้องการด้านการแพทย์ที่ต่างจากสมัยก่อน ซึ่งเน้นการตั้งรับเปลี่ยนมาเป็นการรักษาดูแลเชิงรุกเพื่อป้องกันแทนรักษา รวมทั้งเพื่อให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น อาทิ การใช้หุ่นยนต์ฝึกเดิน ช่วยฝึกการเคลื่อนไหวให้กับผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยอัมพฤกษ์ อัมพาต


ฉะนั้น เทคโนโลยีที่ก้าวหน้า คือคำตอบของความท้าทายที่กำลังเพิ่มขึ้นของอุตสาหกรรมการแพทย์ของประเทศที่กำลังเผชิญอยู่ เพื่อบริหารจัดการความต้องการงานบริการด้านการแพทย์และการดูแลสุขภาพ จากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของประชากรไปสู่สังคมผู้สูงอายุ ที่ต้องการการดูแลการฟื้นฟูสมรรถภาพเฉพาะทาง


เทรนด์โลกมุ่งการฟื้นฟูร่างกาย


ปัจจุบันกลุ่มประเทศอาเซียนมีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปในอัตราส่วนเพิ่มขึ้น โดยไพรซ์วอเทอร์เฮาส์คูเปอส์ ระบุว่า ในปี 2593 จะมีมากกว่า 4 เท่าตัว จะส่งผลให้เกิดการใช้จ่ายด้านการดูแลสุขภาพเพิ่มเป็นอย่างมาก ข้อมูลจาก Markets and Markets ในรายงาน Rehab Equipment Market Forecasts to 2021 คาดการณ์ว่าตลาดการดูแลสุขภาพด้วยตัวเองที่บ้านในเอเชียจะมีมูลค่า 6.232 หมื่นล้านดอลลาร์ภายในปี 2563 จากที่มีมูลค่า 3.907 หมื่นล้านดอลลาร์เมื่อปี 2558 ด้วยอัตราการเติบโตเฉลี่ยสะสมต่อปี 9.8% จากปี 2558 ถึงปี 2563 การเติบโตของตลาดนี้ มีปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนอยู่หลายตัว เช่น อัตราคนพิการที่เพิ่มขึ้นจากโรคกลุ่มที่ไม่ติดต่อ การปฏิรูประบบการดูแลสุขภาพเพื่ออำนวยความสะดวก และการเติบโตอย่างรวดเร็วของประชากรผู้สูงอายุ บวกกับภาวะแทรกซ้อนที่เพิ่มขึ้นอันเนื่องมาจากโรคเรื้อรังต่างๆ


"ราคาและค่าบำรุงรักษาที่สูงของอุปกรณ์ที่ช่วยในการฟื้นฟู คือตัวแปรสำคัญที่จะเป็นอุปสรรคการเติบโตของตลาดอยู่บ้าง ความรุนแรงของสถานการณ์นี้เป็นที่จับตามองขององค์กรระหว่างประเทศหลายองค์กร รวมถึงองค์การอนามัยโลก (WHO) ซึ่งได้ให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูสมรรถภาพทั่วโลกที่ทวีความสำคัญขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในประเทศกลุ่มที่มีรายได้น้อยถึงปานกลางที่มีปัญหาในด้านนี้เป็นอย่างมาก” นายกสมาคมฯ กล่าว