“เบทาโกร” แบ่งสมดุล กำไรกับความยั่งยืน 

“เบทาโกร” แบ่งสมดุล กำไรกับความยั่งยืน 

เติบโตมากับอุตสาหกรรมหนัก ที่เผชิญแรงบีบการแข่งขันรอบทิศ ด้วยวิชั่นมุ่งสู่ความยั่งยืน ผลิตอาหารปลอดภัย ยังต้องจัดแบ่งสมดุลระหว่างสินค้าทั่วไปกับสินค้ามูลค่าสูง เพื่อให้ธุรกิจเลี้ยงตัว ทอนเป็นกำไรไปส่งต่อคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม

คณะผู้จัดงานประชุม ซัสเทนเนเบิล แบรนด์ 2017 แบงค็อก (Sustainable Brands 2017 Bangkok หรือ SB’17 Bangkok) ร่วมกับศูนย์บริหารจัดการความยั่งยืนศศินทร์ (Sasin Center for Sustainability Managementหรือ SCSM) จัดงานเสวนาย่อยหัวข้อ“Redefining the Good Food”ขึ้น เพื่อให้แบรนด์ผู้ผลิตอาหารและผู้สนใจเรื่องราวเกี่ยวกับความยั่งยืนได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนมุมมอง ความคิด และร่วมกันวางกรอบแนวสร้างความยั่งยืนให้อุตสาหกรรมอาหาร เมื่อเร็วๆนี้

วสิษฐ แต้ไพสิฐพงษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เครือเบทาโกร เป็นหนึ่งกรณีศึกษาของอุตสาหกรรมแปรรูปเกษตร ที่ค้นหาคำตอบของคำว่า อาหารดีมีคุณภาพ จากกลุ่มธุรกิจที่มีอายุเกือบ 50 ปี มีความคล่องตัวในการกำหนดนโยบายสูงและมีความเป็นอิสระสูง เล่าถึงนิยามของ “Good Food” ซึ่งสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของกลุ่มธุรกิจในเครือเบทาโกร ตั้งแต่คนรุ่นพ่อ (ชัยวัฒน์ แต้ไพสิฐพงษ์ ประธานกรรมการ เครือเบทาโกร)ที่ต้องการส่งมอบอาหารคุณภาพให้กับทุกชีวิต (Quality of Life)

โดย 3 ห่วงแห่งความยั่งยืน ที่บริษัทให้ความสำคัญควบคู่กัน คือ 3P-Profit(กำไร),P-People(คน) และP-Planet(สิ่งแวดล้อม) โดยบริษัทปรับนโยบายไม่มองเรื่องกำไรอย่างเดียว แต่หันมาเน้นเรื่อง คน สิ่งแวดล้อม แม้ในความเป็นจริง กำไรจะเป็นจุดเริ่มต้นของการวัดผลความสำเร็จ ก็ตาม แต่ก็ต้องสำเร็จไปพร้อมกันทั้งธุรกิจ คน สิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจ

ดังนั้น 3 เสา จึงต้องอยู่รวมกันอย่างสมดุล

เราอยู่ในอุตสาหกรรมอาหาร มีความโชคดีตรงที่ หากทำดีรักษาคุณภาพสินค้า จะมีความยั่งยืนไปในตัว เพราะเป็นสินค้าบริโภคที่ใกล้ตัวผู้คนมาก” วสิษฐ เล่า 

ทว่า ความโชคดีกลับตีคู่มากับความท้าทายกับพลวัตทางเทคโนโลยีการผลิต พฤติกรรมผู้บริโภค การบริหารจัดการอุตสาหกรรมสัตว์ บริษัทจึงต้องเตรียมตัวให้พร้อมกับความเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นอยู่ตลอดเวลา

นอกจากนี้ ธุรกิจอาหารถูกจัดเป็นแหล่งโปรตีนราคาถูก เป็นสินค้าขายในปริมาณมากหรือแมส แต่กลับมีกำไรไม่ถึง 5% จากรายได้ทั้งกลุ่มธุรกิจเกือบแสนล้านบาท ทำให้บริษัทต้องมุ่งสู่สินค้าอาหารที่ดีและมีมูลค่าสูง ด้วยการเปิดตัวสินค้าใหม่ภายใต้แบรนด์ เอสเพียว(S-Pure) ซึ่งเป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ควบคุมคุณภาพและมีระบบตรวจสอบย้อนกลับ ทั้งซัพพลายเชน ตั้งแต่ฟาร์มเลี้ยง โรงคัดแยก การบริหารจัดการกระจายสินค้า จุดกระจายสินค้า ร้านค้าปลีก ไปจนถึงมือผู้บริโภคปลายทาง

อย่างไรก็ตาม แม้สินค้าดีมีมูลค่าสูง แต่ยังทำกำไรสัดส่วน10-15% และภาพรวมรายได้ยังมีมูลค่าเล็กน้อยเพียงหลักพันล้านบาท เทียบกับทั้งกลุ่มธุรกิจแสนล้าน 

สัดส่วนดังกล่าวสะท้อนว่า แต่คนไทยยังไม่ยอมจ่ายแพง และยังคงโฟกัสที่ ราคา” มากกว่า

“กู๊ดฟู้ดในด้านยอดขายยังไม่ได้มีสัดส่วนทั้ง100เปอร์เซ็นต์แต่วิวัฒนาการการเดินทางที่ตลาดเริ่มรับรู้บางส่วนว่าเบทาโกรมีสินค้าเพิ่มมูลค่าขณะที่พฤติกรรมผู้บริโภคชาวไทยก็เพิ่งเริ่มต้นเรียนรู้สินค้ามูลค่าสูง”

ด้วยอุตสาหกรรมอาหาร ปศุสัตว์ ถูกตีกรอบด้วยกฎระเบียบทางกฎหมาย ให้เข้ามาตรฐานสากล ทั้งภายในและภายนอกประเทศ ตลอดจนการยกระดับศักยภาพการผลิตให้ทัดเทียมการแข่งขันในเวทีการค้าระดับโลก ส่งผลให้บริษัทต้องลงทุนมหาศาลเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตตลอดเวลา 

ตัวอย่างหนึ่ง คือ การทำผลิตภัณฑ์อาหารแบรนด์เอสเพียว ต้องลงทุนสูง จากการดำเนินการมากว่า 20 ปี ต้องยอมรับว่า15 ปีแรก ยอมขาดทุน และค่อยๆ เริ่มเห็นกำไรขึ้นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

เราอยู่ในอุตสาหกรรมหนักและยาก เพราะมีอุปสรรคมากมายอีกทั้งกำไรบางมาก หมู และไก่ ไข่ เป็นโปรตีนพื้นฐานที่ประชาชนต้องเข้าถึงได้ สินค้าเอสเพียว ไม่ได้อยากขายของแพง ลงทุนที่สูงและต้นทุนต่อหน่วย(Economy of Scale)ยังไม่ได้

อย่างไรก็ตาม แม้กู๊ดฟู้ด เป็นพันธสัญญาที่วางไว้ แต่การตัดสินใจเปลี่ยนแปลงต้องขึ้นอยู่กับการหาสมดุลระหว่างทิศทางธุรกิจ และผู้บริโภคเลือก ซึ่งปัจจุบันกู๊ดฟู้ดที่ว่าตรวจสอบย้อนกลับตั้งแต่ ต้นทางยันปลายทาง และเป็นสินค้าออแกนิก ยังไม่ได้อยู่ในโลกสมดุล สัดส่วนในตลาดจริงยังน้อย 

ดังนั้นหน้าที่ของผู้ผลิต ผู้สร้างความยั่งยืนในกลุ่มธุรกิจ และพัฒนากู๊ดฟู้ด จึงต้องดำเนินการลงทุนควบคู่การให้การศึกษาตลาด เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภค โดยร่วมมือกันพันธมิตรต่างๆมากขึ้น เช่น ร้านค้าปลีกต่างๆ

“แม้ไม่สามารถเปลี่ยนให้ผู้บริโภคหันมาทานอาหารคุณภาพทั้งหมด แต่เราต้องเริ่มต้นสร้างกระแสให้ซูเปอร์มาร์เก็ต และผู้กระจายสินค้าให้ความสำคัญกับอาหารปลอดภัยมากขึ้น”

วันนี้ เบทาโกร มองความยั่งยืน และกู๊ดฟู้ด เป็นวิวัฒนาการ ที่ค่อยไต่สเต็ปการบริหารจัดการประสิทธิภาพ แบ่งเซ็กเมนท์สินค้าแมสให้กับผู้บริโภคทั่วไป และสินค้ามูลค่าสูงตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายตลาดเฉพาะหรือนิชมาร์เก็ต ที่หวังว่าจะค่อยๆเติบโต เอื้อให้ธุรกิจเลี้ยงตัวเองได้และนำไปลงทุนสินค้าคุณภาพทั้งระบบโดยมีการลงทุนพัฒนานวัตกรรม การผลิตตลอดเวลา

เป็นแผนโรดแมปที่ผู้ผลิตต้องทำให้ผู้บริโภคเข้าใจอาหารปลอดภัย มีคุณภาพ มาจากการบริหารจัดการซัพพลายเชนที่ต้องลงทุนระบบ และด้านทรัพยากรมนุษย์สูง นับเป็นความท้าทายที่ต้องทำต่อไป

ทั้งนี้ เบทาโกร ได้วางแผนระยะยาวในการมุ่งสู่กู๊ดฟู้ด โดย 10 ปีที่ผ่านมา ได้ลงทุนซื้ออาคารเพื่อพัฒนาเป็นศูนย์วิจัยและพัฒนา(R&D) และยังเชื่อมต่อกับมหาวิทยาลัย สถาบันการศึกษาต่างๆ ทั้งภายในและต่างประเทศ เพื่อสร้างเครือข่าย นำผลงานวิจัยเข้ามาพัฒนาต่อยอดพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตสินค้า รวมไปถึงการลงทุนเรื่องทรัพยากรมนุษย์ เกื้อหนุนให้พนักงานเครือเบทาโกรกว่า 35,000 คนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี ตลอดจนสร้างวัฒนธรรมการส่งมอบสินค้ามีคุณภาพถึงมือผู้บริโภคด้วย

นี่เป็นเพียงก้าวแรกของความท้าทายที่ตลาดสินค้าคุณภาพค่อยเข้ามามีผลกับผู้บริโภคแต่ก็เพียงบางกลุ่มเท่านั้น เพราะในอนาคต เบทาโกรยังต้องเจอโจทย์ความยั่งยืนด้านอาหารมากมาย ไม่ว่าจะเป็นทางเลือกแหล่งโปรตีนใหม่ การพัฒนานวัตกรรมใหม่ล่าสุด ที่ทำให้โลกฮือฮา อย่างการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อโดยไม่ต้องผ่านการเลี้ยง หรือ ฆ่าสัตว์ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งทางเลือกอาหารที่ราคาต้นทุนยังสูง แต่เป็นแหล่งอาหารอนาคตที่อาจจะมาทดแทนตลาดโปรตีนแบบเดิม