‘ดีอี’เล็งตั้งสถาบันไอโอทีดึงต่างชาติยกระดับอุตฯ

‘ดีอี’เล็งตั้งสถาบันไอโอทีดึงต่างชาติยกระดับอุตฯ

ดีอี เล็งตั้งสถาบันไอโอทีแห่งชาติ แห่งแรกในอาเซียน ดึงนักลงทุนต่างชาติ พัฒนาภาคอุุตสาหกรรม ด้านสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ หวังเห็นความชัดเจน ดิจิทัล พาร์คภายใน 1 ปี แนะจัดทำแผนเชิงลึกสร้างความมั่นใจเอกชนต่างประเทศตั้งสำนักงานในไทย 

นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวว่า การหารือร่วมกับนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ที่เดินทางตรวจเยี่ยมและติดตามการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลของกระทรวง เกี่ยวกับการลงทุนในดิจิทัล พาร์ค วานนี้(2 ส.ค.)

โดยรองนายกฯ แนะนำให้กระทรวงทำแผนลงรายละเอียดให้ชัดเจนว่าบริษัทที่จะเข้ามาลงทุนในดิจิทัล พาร์คจะอยู่ในพื้นที่ใดบ้าง ขอให้มีสิ่งปลูกสร้างและความชัดเจนของพื้นที่โครงการเกิดขึ้นภายใน 1 ปี เพื่อให้ต่างชาติเกิดความมั่นใจในการเข้ามาตั้งสำนักงาน รวมถึงขอให้หน่วยงานที่รับผิดชอบช่วยกันพัฒนาขีดความสามารถเทคโนโลยีที่จะเข้ามามีบทบาทสำคัญกับระบบเศรษฐกิจและขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ อาทิ สมาร์ทซิตี้ ,อินเทอร์เน็ต ออฟ ธิงค์ (ไอโอที) ,บิ๊กดาต้า, การใช้ปัญญาประดิษฐ์ในการทำธุรกิจ โดยขอให้มีความคืบหน้าในการรองรับการมาของเทคโนโลยี และการวางยุทธศาสตร์เพื่อพัฒนาให้แล้วเสร็จในปีนี้ พร้อมกับต้องตั้งสถาบันไอโอทีขึ้นในดิจิทัลแห่งนี้ด้วย

นายพิเชฐกล่าวว่า หลังการหารือได้ปรับแผนการทำงาน โดยเตรียมจัดตั้งสถาบันไอโอทีแห่งชาติขึ้นเป็นแห่งแรกในอาเซียน เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ เพื่อพัฒนาภาคอุตสาหกรรมในหลายด้าน ๆ คาดว่าจะเสนอแผนเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ในช่วงเดือน ก.ย.นี้ และเริ่มสร้างอาคารช่วงปลายปี โดยจะเปิดให้ภาคเอกชนเป็นผู้ลงทุนในสัดส่วนที่มากที่สุด รวมถึงมีสถาบันการศึกษา มหาวิทยาลัยร่วมมือพัฒนาด้วย 

"นักลงทุนจากญี่ปุ่น 500 คน จะเดินทางเข้ามาดูโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ก็จะพาไปดูโครงการดิจิทัล พาร์คไทยแลนด์ด้วย ซึ่งหากญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนจัดตั้งไอโอทีในไทย จะเป็นผลดีต่อทั้งอุตสาหกรรมญี่ปุ่นที่อยู่ในไทย และเป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมรถยนต์ญี่ปุ่น การผลิตรถยนต์ไฟฟ้า แขนกลในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ด้วย”

นอกจากนี้จะส่งเสริมให้เอกชนจากประเทศอื่น ๆ เข้ามาลงทุนในไอโอที รวมถึงจีน ที่ขณะนี้ได้ชวนบริษัท หัวเว่ย ขยายการลงทุนเข้ามาในไทย 

สำหรับแผนงานเกี่ยวกับดิจิทัลพาร์คไทยแลนด์ เริ่มศึกษารายละเอียดปีนี้ โดยโครงการตั้งอยู่ใน อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี พื้นที่ 700 ไร่ ใช้งบประมาณ 100 ล้านบาท ใน 2 ปี จากนั้นจะก่อสร้างอาคารซึ่งเบื้องต้นใช้งบประมาณ 1,000 ล้านบาท ซึ่งที่ผ่านมามีบริษัทเอกชนขนาดใหญ่จากต่างประเทศหลายราย ได้ขยายโครงการลงทุนด้านดิจิทัลในพื้นที่อีอีซีแล้ว

นอกจากนี้ กระทรวงดีอียังลงนามบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ว่าด้วยความร่วมมือด้านการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และพัฒนาสมาร์ท ซิตี้ และสตาร์ทอัพระหว่างกับสำนักงานคณะกรรมการเศรษฐกิจการค้าและสารสนเทศ เมืองเซินเจิ้น  เพื่อส่งเสริมการศึกษาค้นคว้าทางด้านเทคโนโลยี การวิจัย และนวัตกรรม แลกเปลี่ยนการศึกษาและเยี่ยมชมการดำเนินงานของแต่ละประเทศ แลกเปลี่ยนข้อมูลที่แต่ละฝ่ายให้ความสนใจ เช่น เทคโนโลยีสารสนเทศในการบริหารจัดการเมือง การคมนาคมขนส่งอัจฉริยะ บิ๊กดาต้า และคลาวด์ คอมพิวติ้ง เพื่อขยายความเชื่อมโยงไทย- จีน โดยไทยเป็นประตูสู่สมาชิกอาเซียนด้วย

ด้านนายสมคิด ได้แสดงความชื่นชมการทำงานของรัฐมนตรี และเจ้าหน้าที่ ที่ผลักดันหลายโครงการให้สำเร็จและมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะโครงการอินเทอร์เน็ตหมู่บ้านจำนวน 24,700 หมู่บ้าน หรือโครงการเน็ตประชารัฐ ซึ่งจะถือเป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมที่สำคัญและเข้าถึงประชาชนทุกภาคส่วนได้อย่างจริงจัง ซึ่งขณะนี้ได้ดำเนินงานติดตั้งเสร็จแล้วจำนวน 14,000 แห่ง ซึ่งจะถือเป็นการช่วยสนับสนุนนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ได้อย่างเป็นรูปธรรม

พร้อมทั้งขอให้กระทรวงดีอีพัฒนา การนำโครงสร้างพื้นฐานไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในทุกมิติ ทั้งการพัฒนาพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การใช้เทคโนโลยีพัฒนาผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) การพัฒนาตลาดซื้อขายสินค้าออนไลน์ การพัฒนาระบบบริการสาธารณสุขทางไกล

“ในการทำงานขอให้ร่วมมือกับภาคเอกชนเพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน บมจ.ทีโอที บมจ.กสท โทรคมนาคม และบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด มีหน้าที่สำคัญมากในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ขอให้เปิดกว้างดูว่าจะเป็นพันธมิตรกับใครได้”