‘นาโนเวชั่น’ปฏิบัติการสมุนไพร4.0

‘นาโนเวชั่น’ปฏิบัติการสมุนไพร4.0

นาโนเวชั่น โครงการเพิ่มมูลค่าสมุนไพรไทยในตลาดโลกด้วยนาโนเทคโนโลยี โต้โผโดยศูนย์นาโนเทค สวทช.และกระทรวงสาธารณสุข ตั้งเป้าปีแรกนำร่อง 15 ผลิตภัณฑ์

นาโนเวชั่น (nanovation) โครงการเพิ่มมูลค่าสมุนไพรไทยในตลาดโลกด้วยนาโนเทคโนโลยี โต้โผโดยศูนย์นาโนเทค สวทช.และกระทรวงสาธารณสุข ตั้งเป้าปีแรกนำร่อง 15 ผลิตภัณฑ์ พร้อมจัดกิจกรรมสัมมนาเฟ้น 15 ผู้ประกอบการเข้าร่วมบ่มเพาะโปรดักส์แชมป์เปี้ยน
ตามแผนแม่บทแห่งชาติว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพรไทย ฉบับที่ 1 ปี 2560-2564 โฟกัสไปที่ 4 สมุนไพรหลัก ได้แก่ บัวบก ขมิ้นชัน กระชายดำและไพล โดยมุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรให้มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับทั้งในประเทศและต่างประเทศด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) หวังเพิ่มมูลค่าในตลาดจาก 1.98 แสนล้านบาทเป็น 2.90-3.62 แสนล้านบาท ล่าสุดได้จัดสรรงบประมาณแผนบูรณาการพัฒนาสมุนไพรเชิงเศรษฐกิจมูลค่า 1,258 ล้านบาท


วิจัยเพิ่มค่าสมุนไพร


นายสัญชัย เอกธวัชชัย ที่ปรึกษาอาวุโส โปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย หรือ ITAP สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า “นาโนเวชั่น” เป็นโครงการเพิ่มมูลค่าสมุนไพรไทยด้วยนาโนเทคโนโลยี โดยความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุขกับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ภายใต้แผนงานบูรณาการขับเคลื่อนสมุนไพรเชิงเศรษฐกิจและโครงการเมืองสมุนไพรกลุ่มจังหวัด

โครงการจัดสรรงบ 2 ล้านบาท ระยะเวลา 1 ปี สำหรับการจัดสัมมนาสัญจรเพื่อแนะนำโครงการ รับฟังข้อมูลความคิดเห็นจากผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการ จากนั้นจะคัดเลือกเหลือ 15 บริษัทในปีแรก เพื่อเข้ารับการบ่มเพาะแนวคิดการทำตลาด การปรับปรุงผลิตภัณฑ์ ทั้งยังนำนักวิจัยจากศูนย์นาโนเทคและเครือข่ายมาช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์และออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่สามารถตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมาย คาดว่า มี.ค.2561 จะส่งมอบผลิตภัณฑ์ต้นแบบให้กระทรวงพาณิชย์นำไปทำตลาดและโปรโมท ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงอุตสาหกรรม


“ขณะนี้ยังไม่ได้ฟันธงว่าจะต้องเป็นไพล กระชายดำหรือขมินชัน ที่รัฐบาลอยากสร้างให้เป็นโปรดักส์แชมป์เปี้ยน แต่ถ้าสมุนไพรใดมีศักยภาพ ทางโครงการก็จะเปิดกว้างและผลักดันให้การทำงานในอีก 3-4 ปีข้างหน้าขับเคลื่อนไปได้อย่างครบวงจร ถือเป็นการปัดฝุ่นวงการสมุนไพรไทยครั้งใหญ่ เพื่อให้เติบโตต่อไป ไม่หยุดนิ่งเหมือนทุกวันนี้จากปัญหาด้านคุณภาพ มาตรฐาน รูปลักษณ์และบรรจุภัณฑ์ ทำให้ไม่สามารถออกสู่ตลาดต่างประเทศ” นายสัญชัย กล่าว


การจะแก้ปัญหาดังกล่าว จึงจำเป็นต้องพัฒนาในเชิงสร้างสรรค์ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ที่จะเพิ่มมูลค่าและสร้างความแตกต่างด้วยคุณภาพและมาตรฐาน ทั้งยังคงอัตลักษณ์เชิงภูมิปัญญาของวัฒนธรรมท้องถิ่น และประโยชน์ใช้สอยด้วยรูปลักษณ์ที่ทันสมัยในแบบสากล

จากท้องถิ่นสู่เวทีโลก


ด้าน นายรัชกฤช คล่องพยาบาล ที่ปรึกษาด้านการวางแผนธุรกิจ และกรรมการชุดโครงการแผนธุรกิจนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย กล่าวว่า แม้จะมีความพยายามยกระดับสมุนไพรด้วย วทน.มานานแล้ว เช่น ศึกษาวิจัยการออกฤทธิ์ แต่ค่อนข้างกระจัดกระจายและไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจนว่าจะเติบโตไปในทิศทางไหน อาทิ อาหารเสริมซึ่งเป็นเซกเมนต์หลักที่มีศักยภาพ และผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่ออกฤทธิ์แก้หวัดแก้แพ้ หากสามารถส่งจำหน่ายในตลาดยุโรปและสหรัฐจะมีโอกาสการขยายตัวสูงมาก


เพราะประชากรมีปัญหาด้านระบบทางเดินหายใจ ขณะที่สมุนไพรไทยส่วนใหญ่จะมีฤทธิ์ร้อน สามารถแก้หวัดได้ดี แต่ถ้าสรรพคุณบรรเทาปวดจะเกี่ยวกับกระท่อมหรือกัญชา ซึ่งคล้ายมอร์ฟีน ทำให้เกิดอาการชาของประสาท ในประเทศไทยไม่อนุมัติให้นำมาใช้ แต่มาเลเซียกำลังนำไปใช้ทำเป็นผลิตภัณฑ์แล้ว


นายรัชกฤช กล่าวอีกว่า ผลิตภัณฑ์สมุนไพรยังเกี่ยวกับเรื่องความปลอดภัย ประสิทธิภาพและปริมาณวัตถุดิบว่าเพียงพอกับการผลิตระดับอุตสาหกรรมหรือไม่ ฉะนั้น ควรโฟกัสในสมุนไพรที่มีปริมาณมากพอที่นำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ได้ เช่น สมุนไพรในกลุ่มอาหารที่เป็นเครื่องเทศซึ่งมีมากมาย ทั้งขิง ข่า พริก


อย่างไรก็ตาม การมีแผนแม่บทในการขับเคลื่อนเพื่อพัฒนาสมุนไพรไทยถือเป็นสิ่งที่ดี แต่ต้องใช้ระยะเวลาดำเนินการและหากทำได้ 20-30% ตามแผนแม่บทก็ถือว่าสำเร็จแล้ว เพราะอย่างน้อยทำให้หน่วยงานรัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องมีทิศทางเดินไปร่วมกัน กลุ่มที่มีบทบาทในตลาดสมุนไพรไทยมีอยู่จำกัด 106 โรงงาน ทั้งๆ ที่มีโรงงานผลิตอยู่กว่า 1,000 แห่ง ซึ่งรวมถึงวิสาหกิจชุมชนที่แทบทุกแห่งล้วนมีผลิตภัณฑ์สมุนไพร ไม่ว่าจะเป็น ฟ้าทะลายโจร ขมิ้นขัน บัวบก ไพล กระชายดำ จึงควรที่จะมีการศึกษาถอดสูตรตำรับยาสมุนไพรให้เป็นเรื่องเป็นราว เตรียมพร้อมไปทำตลาดในต่างประเทศ ไม่ใช่ใช้แค่ตลาดในประเทศเท่านั้น


ทั้งนี้ ข้อมูลของสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร ปี 2559 ระบุว่า ประเทศไทยมีมูลค่าการใช้และส่งออกสมุนไพรไทยโดยรวมกว่า 2.4 แสนล้านบาท แบ่งเป็นกลุ่มเครื่องสำอาง 1.4 แสนล้านบาท กลุ่มผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร 8.0 หมื่นล้านบาท ผลิตภัณฑ์สปา 1.0 หมื่นล้านบาท ยาแผนโบราณและแพทย์แผนไทย 1.0 หมื่นล้านบาท ดังนั้น อุตสาหกรรมสมุนไพรในประเทศ จึงต้องปรับทิศทางของสินค้าให้เหมาะกับความต้องการของผู้บริโภคและสภาพการแข่งขันในตลาดเพื่อความอยู่รอด โดยเฉพาะผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม