'หม้อห้อม' ผ้าไทยรักษ์โลก

'หม้อห้อม' ผ้าไทยรักษ์โลก

ขึ้นชื่อในเรื่องความเป็นธรรมชาติทั้งเส้นใยและการย้อมสี แต่ต่อไปนี้หม้อห้อมไทยจะได้ชื่อว่าปลอดสารเคมีในทุกขั้นตอน  

ภัยเงียบจากสารเคมีที่แฝงอยู่ในทุกผลิตภัณฑ์ กลายเป็นตัวกระตุ้นให้การใช้ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติยังคงเป็นเทรนด์ที่มาแรงมากที่สุดในยุคนี้ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์เสื้อผ้าที่ถักทอด้วยเส้นใยและย้อมสีห้อมตามธรรมชาติอย่าง “ผ้าหม้อห้อม” ถือเป็นสินค้าอัตลักษณ์ของเมืองแพร่ที่กำลังได้รับความนิยมไปทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่ากระบวนการย้อมสีห้อมด้วยกรรมวิธีแบบภูมิปัญญาดั้งเดิม ยังคงมีข้อจำกัดทั้งในเรื่องระยะเวลาหมักย้อมนาน สีซีดจางไม่สม่ำเสมอ และยังมีการใช้สารเคมีในบางขั้นตอน ซึ่งผู้ผลิตต่างพยายามแก้ปัญหามาอย่างต่อเนื่อง กระทั่งล่าสุดนักวิจัยไทยได้พัฒนา เอนไซม์เอนอีซ (ENZease)” เอนไซม์จากธรรมชาติที่ช่วยเพิ่มคุณภาพ ผ้าหม้อห้อมไทยให้ติดสีน้ำเงินคราม...สวยใสไร้สารเคมี

*ลอกแป้ง ย้อมห้อม

หากจะกล่าวว่า “แพร่” คือดินแดนแห่งหม้อห้อมคงจะไม่ผิดนัก เพราะที่นี่มีแหล่งผลิตผ้าหม้อห้อมจากภูมิปัญญาอันเลื่องชื่อที่บ้านทุ่งโฮ้ง ต.ทุ่งโฮ้ง ชุมชนแห่งนี้มีกลุ่มชาวบ้านและผู้ประกอบการที่ยังคงยึดถือกรรมวิธีการผลิตหม้อห้อมธรรมชาติแบบดั้งเดิม ด้วยการเปลี่ยนผ้าฝ้ายขาวให้กลายเป็นสีน้ำเงินครามจากต้นห้อม จนได้รับการคัดเลือกให้เป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวโอทอปและศูนย์เรียนรู้การย้อมห้อม

ประภาพรรณ ศรีตรัย ตัวแทนกลุ่มวิสาหกิจชุมชนหม้อห้อมทุ่งเจริญย้อมสีธรรมชาติ ต.ทุ่งโฮ้ง จ.แพร่ กล่าวว่า การย้อมห้อมเป็นภูมิปัญญาที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษ กว่าจะได้ผ้าหม้อห้อมสีน้ำเงินสวยๆ สักหนึ่งผืนนั้น นอกจากความยากในการเตรียมน้ำย้อม การหมักน้ำสีย้อมที่ต้องใช้เวลาแล้ว ปัญหาอีกอย่างหนึ่งที่เป็นอุปสรรคอย่างมากในการย้อมสีห้อมคือ การลอกแป้ง และกำจัดสิ่งสกปรกออกจากผ้าฝ้ายก่อนนำไปย้อมสี

“สาเหตุที่ต้องมีการลอกแป้งก่อนนำผ้าไปย้อม ก็เพราะในการทอผ้าฝ้าย เขาจะใส่แป้งลงไปที่ด้ายเส้นยืนก่อน เพื่อลดแรงเสียดทานในการดึงเส้นด้ายระหว่างทอ ทำให้เส้นด้ายไม่ขาดง่าย ฉะนั้นผ้าที่ได้มาก็จะมีแป้งเคลือบอยู่ เราจึงต้องลอกแป้ง กำจัดไขมันและสิ่งสกปรกออกให้หมดก่อน ซึ่งขั้นตอนนี้สำคัญมาก เพราะหากล้างแป้งออกไม่หมด เวลานำผ้าไปย้อม สีจะไม่ซึมเข้าไปในผืนผ้า ทำให้ไม่ติดสี หรือทำให้สีแทรกเข้าผืนผ้าฝ้ายไม่สม่ำเสมอ เกิดเป็นรอยด่าง นอกจากเรื่องสีแล้ว แป้งที่หลงเหลืออยู่บนผ้า ยังทำให้ผ้าแข็งกระด้าง ไม่อ่อนนุ่มด้วย”

เดิมทีการลอกแป้งของชาวบ้านทุ่งโฮ้ง จะใช้วิธีนำผ้าฝ้ายไปแช่ในน้ำหมักจากน้ำผักผลไม้นาน 3 วัน แล้วก็นำผ้ามาทุบ ขยี้เพื่อให้แป้งหลุดออก หรือใช้วิธีต้มผ้าฝ้ายกับผงซักฟอกประมาณ 1 ชั่วโมง ซึ่งนอกจะเสียเวลา สิ้นเปลืองพลังงานแล้ว ผ้าที่ได้กลับยังย้อมสีได้ไม่ดีเท่าที่ควร

“ในแต่ละวันเราย้อมผ้าเป็นร้อยๆ ผืน บางครั้งต้มผ้ากับผงซักฟอกเป็นวันๆ ต้มได้ครั้งละไม่กี่ผืน ตอนหลังลองเอามาปั่นกับผงซักฟอกในเครื่องซักผ้า แต่แป้งก็ยังไม่ค่อยออกดีนัก พอเอาผ้าไปย้อมสีก็ยังเกิดปัญหาสีด่างไม่สม่ำเสมอบ้าง ยิ่งถ้าเอาสีห้อมมาเพ้นท์ลายบนผ้า สีแทบไม่ซึมลงไปที่ด้านหลังของผ้าเลย แถมผ้าก็ยังมีกลิ่นด้วย”

*เอนไซม์มหัศจรรย์

แม้แป้งบนผ้าฝ้าย จะเป็นอุปสรรคของการย้อมติดสีของผ้าหม้อห้อมไทย แต่ก็ไม่ใช่โจทย์ยากเกินความสามารถของนักวิทยาศาสตร์ เมื่อศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ สวทช. และโรงงานสิ่งทอธนไพศาล ร่วมกันบูรณาการองค์ความรู้ในสหสาขาวิชาต่างๆ จนสามารถพัฒนา เอนไซม์เอนอีซ เอนไซม์อัจฉริยะที่ลอกแป้งและกำจัดสิ่งสกปรกบนผ้าฝ้ายได้หมดจดพร้อมกันในขั้นตอนเดียว ช่วยให้ผ้าไทยย้อมติดสีดีและนำไปใช้ทดแทนสารเคมีในกระบวนการผลิตผ้าได้ 100%

ดร.ธิดารัตน์ นิ่มเชื้อ นักวิจัยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ(ไบโอเทค) สวทช. กล่าวว่า เอนไซม์เอนอีซ คือ เอนไซม์ดูโอ ที่ประกอบไปด้วยเอนไซม์ 2 ตัว คือ เอนไซม์อะไมเลส และเพคติเนส ที่สามารถทำงานได้ดีในช่วงค่าพีเอช (pH) และอุณหภูมิที่ใกล้เคียงกัน คือ pH 5.5 และที่อุณหภูมิ 50 องศาเซลเซียส โดยเอนไซม์อะไมเลสจะเป็นเอนไซม์ที่ใช้ในการลอกแป้ง ส่วนเอนไซม์เพกติเนสคือเอนไซม์ที่กำจัดสิ่งสกปรกบนผ้า จึงทำให้เอนไซม์อีซสามารถลอกแป้งและกำจัดสิ่งสกปรกบนผ้าฝ้ายได้พร้อมกันในขั้นตอนเดียว ภายในเวลา 1 ชั่วโมงเท่านั้น โดยไม่ส่งผลเสียต่อคุณภาพความแข็งแรงของผ้า ทั้งนี้เอนไซม์เอนอีซเป็นเอนไซม์ที่ผลิตได้จากการหมักเศษวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร โดยใช้จุลินทรีย์จากธรรมชาติที่คัดเลือกจากศูนย์ชีววัสดุประเทศไทย

“ทีมวิจัยได้ทดสอบเปรียบเทียบปริมาณแป้งบนผ้าฝ้าย 3 ชนิด คือ ผ้าฝ้ายที่ไม่ผ่านการลอกแป้ง ผ้าฝ้ายที่ลอกแป้งด้วยวิธีดั้งเดิม และผ้าฝ้ายที่ลอกแป้งด้วยเอนไซม์เอนอีซ ด้วยการหยดน้ำยาไอโอดีน พบว่า น้ำยาไอโอดีนที่หยดลงบนผ้าฝ้ายเปลี่ยนสีเป็นสีน้ำเงินเข้ม น้ำเงิน และไม่เปลี่ยนสี ตามลำดับ แสดงให้เห็นว่าผ้าฝ้ายที่ผ่านการลอกแป้งด้วยเอนไซม์เอนอีซแทบไม่เหลือแป้งอยู่เลย สีที่ปรากฏจึงยังคงเป็นสีเหลืองของไอโอดีนไม่เปลี่ยนเป็นสีน้ำเงิน อีกทั้งน้ำยาไอโอดีนที่หยดยังซึมผ่านผ้าได้ทันที หมายความว่าผ้าถูกกำจัดพวกแวกซ์ไปหมดแล้ว ซึ่งจะช่วยให้การย้อมผ้าติดสีดี เฉดสีสม่ำเสมอ ที่สำคัญการใช้เอนไซม์เอนอีซยังช่วยให้ผ้าฝ้ายมีคุณภาพดีกว่าสารเคมีหรือผงซักฟอก เพราะเอนไซม์จะทำปฏิกิริยาแบบจำเพาะเจาะจงกับแป้งและสิ่งสกปรก โดยไม่ทำลายเส้นใยผ้าเหมือนสารเคมีหรือผงซักฟอก ทำให้เนื้อผ้านิ่ม เหมาะสำหรับการสวมใส่”

ปัจจุบัน ไบโอเทค สวทช. ได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตเอนไซม์เอนอีซให้กับ บริษัท เอเชียสตาร์ เทรด จำกัด ซึ่งมีความชำนาญในการผลิตเอนไซม์ในระดับอุตสาหกรรม เพื่อผลิตและจัดจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ โดยคาดว่าจะสามารถผลิตเอนไซม์เอนอีซเพื่อจำหน่ายได้มากกว่า 10 ตันต่อเดือน และยังได้เผยแพร่ผลงานวิจัยนี้ให้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนหม้อห้อมทุ่งเจริญย้อมสีธรรมชาติ ต.ทุ่งโฮ้ง และ ร้านอวิกาหม้อห้อมแฟชั่น ต.เวียงทอง อ.สูงเม่น จ.แพร่ แหล่งผ้าทอหม้อห้อมพื้นเมืองของไทย

ประภาพรรณ กล่าวว่า จากการใช้เอนไซม์เอนอีซในกระบวนการลอกแป้งและกำจัดสิ่งสกปรกบนผ้าฝ้าย ลดเวลาในการแช่ผ้ากับน้ำหมักในน้ำผักผลไม้จาก 3 วัน เหลือเพียงแค่ 18 ชั่วโมง ซึ่งลอกแป้งทำความสะอาดสิ่งสกปรกได้หมด เมื่อนำผ้าที่ได้มาพิมพ์ลายหรือย้อมสีห้อมพบว่า ผ้าดูดซึมน้ำสีได้ดี ติดสีสม่ำเสมอกันทั้งผืน จากที่ต้องย้อมสีพื้น 7-8 ครั้ง กว่าจะได้สีเข้ม ก็ย้อมเพียงแค่ 2-3 ครั้ง ทำให้ประหยัดทั้งเวลาและพลังงาน ช่วยลดต้นทุนค่าแก๊ซหุงต้มได้มาก แถมผ้าที่ได้ก็นุ่ม ไม่มีกลิ่น และไม่ต้องบำบัดน้ำทิ้งด้วย

ด้าน ชวัลณัฏฐ์ ถิ่นจอมธ์ ผู้ประกอบการร้านอวิกาหม้อห้อมแฟชั่น กล่าวว่า ที่ร้านเริ่มนำเอมไซม์เอนอีซมาใช้ลอกแป้งและทำความสะอาดผ้าฝ้ายแล้วพบว่า ลดขั้นตอนการทำความสะอาดได้มาก และช่วยลดกลิ่นเหม็นของแป้งที่ติดอยู่บนผ้าได้ดีมาก แช่เอมไซม์เอนอีซเพียง 1 คืน สิ่งสกปรกและแป้งก็หลุดออกโดยง่าย จึงประหยัดแรง ประหยัดน้ำ ประหยัดเวลา ผ้าย้อมสีติดสม่ำเสมอ สีของห้อมที่ได้จะเป็นสีน้ำเงินครามที่ดูสว่างขึ้นกว่าเดิม เป็นที่พอใจของลูกค้า

*สิ่งทอปลอดสารเคมี

แม้ว่าการนำเอนไซม์เอนอีซไปใช้ในกระบวนการผลิตผ้าหม้อห้อมจะได้ผลลัพธ์เป็นที่น่าพอใจ แต่ทีมวิจัยยังมีเป้าหมายสำคัญคือ การปรับโฉมอุตสาหกรรมสิ่งทอของไทยให้ปสู่ความยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งภายใต้โจทย์นี้ โรงงานสิ่งทอธนไพศาล ในฐานะผู้ร่วมวิจัยได้ทดลองนำเอนไซม์เอนอีซไปใช้เพื่อพัฒนากระบวนการผลิตผ้าฝ้ายให้ไร้สารเคมี

ปิลันธน์ ธรรมมงคล กรรมการผู้จัดการห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล ธนไพศาล กล่าวว่า ทราบกันดีว่ากระบวนการทางอุตสาหกรรมสิ่งทอมักจะใช้สารเคมีในปริมาณมาก รวมไปถึงการใช้พลังงานสูง ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาต่อสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระบวนการลอกแป้ง และกำจัดสิ่งสกปรกบนผ้าฝ้ายที่ต้องใช้สารเคมีที่มีฤทธิ์เป็นกรดหรือด่างอย่างรุนแรง อาทิ ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ และโซดาไฟ ที่สำคัญกระบวนการทั้งสองต้องทำแยกกันเพราะมีการใช้สารเคมีในสภาวะที่แตกต่างกัน ทำให้ใช้พลังงานสูง สิ้นเปลืองเวลา และน้ำที่ใช้ในระบบ

“เอนไซม์เอนอีซ เป็นงานวิจัยที่เป็นประโยชน์อย่างมาก เพราะจากเดิมที่ต้องนำผ้าฝ้ายไปลอกแป้งด้วยไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์และโซดาไฟที่อุณหภูมิสูงเกือบ 100 องศา 1 ชั่วโมง แล้วนำไปผ่านการกำจัดสิ่งสกปรกด้วยโซดาไฟและสารซักฟอกหรือดีเทอร์เจนท์ที่อุณหภูมิเกือบ 100 องศาอีก 1 ชั่วโมง เราก็สามารถรวบทั้ง 2 ขั้นตอนนี้มาไว้ในกระบวนการเดียวกันโดยใช้เอนอีซซึ่งใช้อุณหภูมิในการต้มเพียง 50 องศาเท่านั้น เรียกว่าลดทั้งขั้นตอน ลดเวลา ลดการทำงานของเครื่องจักร ลดพลังงาน ค่าน้ำ ค่าไฟและต้นทุนการผลิตโดยรวมลงกว่า 50% เมื่อเทียบกับกระบวนการดั้งเดิม 

การใช้งานก็สามารถใช้เครื่องจักรที่มีอยู่เดิม ไม่จำเป็นต้องดัดแปลงเครื่องจักรและสายการผลิตแต่อย่างใด ที่สำคัญเอนอีซเป็นเอนไซม์ที่ผลิตขึ้นจากจุลินทรีย์ตามธรรมชาติ ไม่ส่งผลเสียต่อคุณภาพของผ้า ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และลดขั้นตอนการบำบัดน้ำเสียด้วย”

เส้นด้ายและผ้าผืนไร้สารเคมีจากโรงงานสิ่งทอธนไพศาล ไม่เพียงถูกส่งต่อเพื่ออุตสาหกรรมสิ่งทอรายใหญ่เท่านั้น แต่ยังถูกส่งมอบให้แก่กลุ่มผู้ประกอบการในเมืองแพร่ เช่น ร้านแก้ววรรณา เพื่อสร้างโอกาสและส่งเสริมให้แพรพรรณย้อมห้อมของไทย เป็นผลิตภัณฑ์ที่สรรค์สร้างจากธรรมชาติ 100%

วุฒิไกร ผาทอง เจ้าของร้านแก้ววรรณา กล่าวว่า ตอนแรกที่ทำผ้าหม้อห้อม เรารับซื้อเส้นด้ายมาจาก จ.เชียงใหม่ ซึ่งเส้นด้ายเอามาจากไหนเราไม่รู้ ภายหลังมี “บ้านสิ่งทอ” ของ บริษัท ธนไพศาล มาเปิดที่แพร่ ซึ่งทราบว่าเป็นเส้นด้ายที่มีการใช้เอนไซม์เอนอีซในกระบวนการผลิตแทนการใช้สารเคมี ก็จะสั่งเส้นด้ายของที่นี่ เพราะร้านแก้ววรรณาเน้นใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติ 100% 

ดังนั้น หากเราบอกว่าเป็นหม้อห้อมธรรมชาติ แต่ยังใช้ด้ายหรือผ้าผืนที่ผ่านการฟอกด้วยไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ และโซดาไฟ ก็ถือว่าไม่เป็นธรรมชาติ ซึ่งการที่ได้เห็นนักวิจัยมาถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องเอนไซม์เอนอีซให้กับผู้ประกอบการ ก็ดีใจ ที่ได้เห็นความพยายามของนักวิจัยในการลดสารเคมีในกระบวนการผลิตสิ่งทอ และยังทำให้ประสิทธิภาพในการดูดซึมสีดีขึ้น ทำให้หม้อห้อมไทยคงเสน่ห์ในความเป็นธรรมชาติ ซึ่งลูกค้าของแก้ววรรณายังเป็นคนไทยที่ชื่นชอบในความเป็นธรรมชาติมากกว่า 95 %

ถือได้ว่าผ้าฝ้ายย้อมห้อมธรรมชาติแห่งเมืองแพร่ ไม่เพียงสืบสานภูมิปัญญาของคนรุ่นก่อนไว้ให้ไม่สูญหาย แต่ยังถูกพัฒนาต่อยอดให้โดดเด่นด้วยวิทยาศาสตร์ เป็นหม้อห้อมที่ก้าวข้ามขีดจำกัดของงานหัตถกรรมพื้นบ้าน สู่สินค้าที่มาจากธรรมชาติที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล