เขื่อนราษีไศลเร่งระบายรับมือมวลน้ำ-เผย9อำเภอเสี่ยงท่วม

เขื่อนราษีไศลเร่งระบายรับมือมวลน้ำ-เผย9อำเภอเสี่ยงท่วม

ผู้ว่าฯศรีสะเกษเรียกประชุมด่วน! เผย9อำเภอเสี่ยงน้ำท่วม หลังเขื่อนราษีไศลเร่งระบายน้ำออกจากอ่าง หวั่นมวลน้ำจากเขื่อนลำปาว จากสุรินทร์ บุรีรัมย์ โคราช ร้อยเอ็ด ไหลมาสมทบ

วันที่ 2 ส.ค.2560 ที่เขื่อนราษีไศล อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดศรีสะเกษ ได้ไปติดตามเฝ้าดูสถานการณ์น้ำที่เก็บกักอยู่ในอ่างเก็บน้ำเขื่อนราษีไศล พบว่ามีเป็นจำนวนมาก ขณะที่เจ้าหน้าที่ กำลังเร่งเปิดประตูระบายน้ำออก พร้อมการเฝ้าติดตามดูสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด

โดยขณะนี้ได้เพิ่มการเปิดประตูระบายน้ำออกเป็นระยะๆ จากเมื่อบ่ายวานนี้เปิดยกประตูระบายน้ำอยู่ที่ระดับ 2.50 เมตร ขณะนี้ เปิดเพิ่มเป็นระดับ 3.10 เมตร แล้ว และจะเพิ่มขึ้นในบ่ายวันนี้ที่ระดับ 4 เมตร เพื่อระบายน้ำออกให้ทันกับมวลน้ำที่กำลังท่วมมาจากจังหวัดบุรีรัมย์, สุรินทร์ จากเขื่อนลำปาว และจากฝั่งลำน้ำเสียวที่จะเติมมาจากจังหวัดร้อยเอ็ด ที่จะไหลลงสู่แม่น้ำมูล ก่อนที่จะไหลลงแม่น้ำโขงที่จังหวัดอุบลราชธานี โดยเซียนเบ็ดหาปลาที่เฝ้าตกปลาอยู่ที่ข้างเขื่อนราศีไศล ได้แจ้งว่าระดับน้ำขณะนี้ไหลแรงน่ากลัวมาก เพราะเจ้าหน้าที่เร่งระบายน้ำออก หวั่นพื้นที่ด้านล่างจะท่วมไร่นาจากการระบายน้ำ เตือนทุกฝ่ายเฝ้าระวัง

ส่วนที่ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดศรีสะเกษ นายธวัช สุระบาล ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ ได้เรียกประนายอำเภอทั้ง 9 อำเภอที่อยู่ในเขตพื้นที่เสี่ยง อันได้ อำเภอกันทรลักษ์, ขุนหาญ, โนนคูณ, น้ำเกลี้ยง, พยุห์, ไพรบึง, ภูสิงห์, ศรีรัตนะ และ อ.เบญจลักษ์ รวม 62 ตำบล 467 หมู่บ้าน โดยมี นายบุญประสงค์ นวลสาย ป้องกันบรรเทาสาธารณะภัยจังหวัด ร่วมกับหัวหน้ารักษาลำมูลล่าง เขื่อนราษีไศล ร่วมให้ข้อมูลในการเตรียมเฝ้าระวังในสถานการณ์น้ำที่อาจจะส่งผลกระทบมาจากน้ำท่วมในพื้นที่ด้านบนทั้งจากจังหวัดสุรินทร์, บุรีรัมย์, ยโสธร และจังหวัดร้อยเอ็ด

โดยเบื้องต้นเร่งให้มีการระบายน้ำออกจากอ่างเก็บน้ำทั้งเขื่อนหัวนา เปิดยกประตูทั้ง 14 บาน และเขื่อนราษีไศล กำลังเร่งค่อยๆ ยกระดับเปิดประตูทั้ง 7 บาน เพื่อป้องกันน้ำไหลท่วมพื้นที่ด้านล่างด้วย ส่วนอ่างเก็บน้ำด้านบนที่รับน้ำป่าจากเทือกเขาพนมดงรัก ขณะนี้ระดับน้ำอยู่ในระดับปกติแล้ว

พร้อมกันนี้ได้จัดระบบการแจ้งเตือนภัยแก่ประชาชน โดยจัดทำธงสีสัญญาณแจ้งเตือนภัยและติดตั้งตามจุดพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย หรือใช้หอกระจายเสียงประจำหมู่บ้าน ชุมชน ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนสามารถรับรู้และเข้าใจสถานการณ์ในพื้นที่และเตรียมความพร้อมได้อย่างรวดเร็ว