กสทช.หวั่นงานเข้าหลังเคาะเงินเยียวยาค่ายมือถือ

กสทช.หวั่นงานเข้าหลังเคาะเงินเยียวยาค่ายมือถือ

"กสทช." หวั่นงานเข้า!! หลังเคาะเงินเยียวยาค่ายมือถือนำส่งเงินรายได้เข้ารัฐลดลง

รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า หลังจาก กสทช.ได้ร่วมกับสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) จัดตั้งคณะทำงานสนับสนุนการตรวจสอบรายได้นำส่งคลัง เพื่อร่วมกันตรวจสอบเงินรายได้จากการใช้งานคลื่นความถี่ 1800 เมกกะเฮิร์ตซ์ (MHz) ในช่วงมาตรการเยียวยาหลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทานตามประกาศ กสทช.ปี 2556 ที่ยังล่าช้ามานานกว่า 3 ปีนั้น ขณะนี้คณะทำงานร่วมได้เสร็จสิ้นกระบวนการตรวจสอบตัวเลขเงินเยียวยาจากการใช้งานคลื่น 1800 แล้ว โดยได้สรุปตัวเลขรายได้ที่จะให้ กสทช.มีคำสั่งทางปกครองไปยังบริษัท ทรูมูฟ จำนวน 3,500 ล้านบาทเศษ จากที่คณะทำงานติดตามและตรวจสอบเงินรายได้นำส่งรัฐที่คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) เคาะตัวเลขไว้เดิม 13,939 ล้านบาท และที่คณะทำงานกลั่นกรอง กสทช.ประเมินไว้ 1,509 ล้านบาท

นอกจากนี้ คณะทำงานยังได้เชิญ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส มาชี้แจงกรณียื่นอุทธรณ์คำสั่งทางปกครองของ กสทช.ที่ให้บริษัทนำส่งเงินรายได้จากการใช้งานคลื่นความถี่ 900 เมกกะเฮิร์ตซ์ ในช่วงมาตรการเยียวยาตามประกาศกสทช.ปี 2558 เข้าคลังเป็นจำนวน 7,221 ล้านบาทด้วย แต่เนื่องจากอยู่นอกเหนืออำนาจที่กสทช.จะรับอุทธรณ์ จึงยังไม่มีการพิจารณาทบทวนตัวเลขดังกล่าวแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม คณะทำงานได้รับทราบรายงานกรณีที่เอไอเอสได้ใช้สิทธิ์ยื่นฟ้องกสทช.ต่อศาลปกครองกลาง กรณีที่กสทช.มีคำสั่งทางปกครองให้บริษัทนำส่งเงินรายได้ในช่วงมาตรการเยียวยาจำนวน 7,221 ล้านบาทแล้ว โดยบริษัทอ้างว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมและมีการนำหลักเกณฑ์การประเมินรายได้ที่แตกต่างกันมาใช้ ซึ่งเรื่องดังกล่าวคงปล่อยให้เป็นไปตามกระบวนการ

รายงานข่าวระบุว่า แม้คณะทำงานจะได้ข้อยุติตัวเลขเงินเยียวยาดังกล่าว แต่สำนักงานกสทช.ยังไม่กล้านำเสนอต่อที่ประชุมบอร์ดกสทช.เพื่อให้ความเห็นชอบ เนื่องจากยังต้องการตรวจสอบความถูกต้องอีกครั้งคาดว่าจะนำเสนอบอร์ดกสทช.ในเดือน ส.ค.นี้

นอกจากนี้ ผลพวงจากการที่คณะอนุกรรมการไต่สวนป.ป.ช.เตรียมเช็คบิลน.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พร้อมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทั้งคณะ 34 คนกรณีร่วมกันมีมติครม.อนุมัติจ่ายเงินเยียวยาแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมืองปี 2548-2553 โดยไม่มีกฎหมายรองรับนั้น ทำให้มีการนำกรณีดังกล่าวมาเปรียบเทียบกับกรณีเงินเยียวยาจากการใช้งานคลื่นความถี่ 1800 MHz ที่บอร์ดดกสทช.กำลังพิจารณาอยู่ โดยอาจถูกมองว่าอนุมัติให้ปรับลดตัวเลขรายได้นำส่งคลังออกไปโดยไม่มีกฎหมายรองรับ

"กรรมการกสทช.บางท่านเห็นว่า กสทช.ควรมีคำสั่งทางปกครองยื่นไปตามข้อสรุปของคณะทำงานติดตามและตรวจสอบเงินรายได้นำส่งรัฐที่บอร์ดกทค.ตั้งขั้นมาแต่แรก เพราะหากบริษัทเอกชนเห็นว่า ไม่ได้รับความเป็นธรรมย่อมสามารถร้องต่อศาลปกครองได้อยู่แล้วเช่นเดียวกับที่เอไอเอสดำเนินการไปก่อนหน้าและน่าจะเป็นหนทางออกที่เหมาะสมที่สุด"