สกว.ผนึก มข.พัฒนาไก่พันธุ์พื้นเมืองสู่ระบบอุตสาหกรรม

สกว.ผนึก มข.พัฒนาไก่พันธุ์พื้นเมืองสู่ระบบอุตสาหกรรม

สกว. ร่วมกับ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และเอกชน ลงขันวิจัยพัฒนาสายพันธุ์ไก่ลูกผสมพื้นเมืองที่มีศักยภาพ 4 สายพันธุ์ รองรับการผลิตระดับอุตสาหกรรมในอนาคต

เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2560 ที่ห้องประชุมสารสิน มหาวิทยาลัยขอนแก่น ศ.นพ.สุทธิพัน จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) รศ.ดร. กิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น ,ศ.ดร. ศุภชัย ปทุมนำกุล รองอธิกำรบดีฝ่ายวิจัย และการถ่ายทอดเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น, รศ.ดร.ประภาพร ขอไพบูรณ์ ผู้อำนวยการฝ่ายเกษตร สกว. และกณพ สุจิฆะระ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท ตะนาวศรีไก่ไทย จำกัด ร่วมลงนามในบันทึกความร่วมมือด้านการพัฒนาสายพันธุ์ไก่ลูกผสมพื้นเมือง เพื่อรองรับการผลิตระดับอุตสาหกรรม และโครงการ "ศูนย์เครือข่ายวิจัยและพัฒนาด้านการปรับปรุงพันธุ์สัตว์ (ไก่พื้นเมือง) ระยะที่ 3" 

ศ.นพ.สุทธิพัน จิตพิมลมาศ กล่าวถึงความร่วมมือดังกล่าวว่า สกว. เป็นองค์กรภายใต้กำกับของสำนักนายกรัฐมนตรี มีภารกิจหลักในการสนับสนุนการสร้างองค์ความรู้ทั้งในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์การวิจัยเชิงนโยบาย และการวิจัยประยุกต์ ต่างๆ เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และวิชาการ ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ กระทั้งปัจจุบัน สกว.ดำเนินงานตามภารกิจ "สร้างสรรค์ปัญญา พัฒนาประเทศ" เข้าสู่ทศวรรษที่ 3 ซึ่งเป็นช่วงที่ประเทศจะมีการปฏิรูปหลายด้าน ประกอบกับบริบททั้งในและนอกประเทศกำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทำให้การใช้งานวิจัย เพื่อสร้างสรรค์องค์ความรู้เพื่อรับใช้การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมจึงมีความสำคัญยิ่งขึ้น 

ภายใต้ภารกิจดังกล่าว สกว. จึงตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาและมีแนวนโยบายที่จะสนับสนุนงานวิจัยในเชิงรุกใหม่ ๆ ซึ่งเป็นกลไกหลักขับเคลื่อนประเทศไทยด้วย ฐานความรู้และนวัตกรรม และตอบสนองแนวคิดการพัฒนาประเทศด้วย นโยบายรัฐบาล "Thailand 4.0" นอกจากนี้ สกว.ยังมุ่งเน้นการสนับสนุนประเด็นวิจัยขนาดใหญ่ที่มีผลกระทบสูงต่อสังคมและประเทศชาติ ให้เกิดเป็นกรอบการวิจัยระดับชาติ "National Research Program" ด้วยการบูรณาการองค์ความรู้จากสาขาวิชาต่างๆ บนฐานของการวิจัยพื้นฐาน การวิจัยและ พัฒนาและการต่อยอดงานวิจัย และจะต้องขับเคลื่อนงานวิจัยตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง ปลายทาง สู่การใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ อย่างแท้จริง

แก่นทอง

สำหรับการพัฒนาสายพันธุ์ไก่ลูกผสมพื้นเมือง เพื่อรองรับการผลิตระดับอุตสาหกรรม และ โครงการ ศูนย์เครือข่ายวิจัยและพัฒนาด้านการปรับปรุงพันธุ์สัตว์ (ไก่พื้นเมือง) นับตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา สกว. มหาวิทยาลัยขอนแก่น และบริษัทตะนาวศรีไก่ไทย ได้ร่วมสนับสนุนทุนวิจัย "การพัฒนาสายพันธุ์ไก่สายพันธุ์สังเคราะห์ (Synthetic lines) เพื่อรองรับการผลิตลูกผสมไก่บ้านไทย และไก่เนื้อไทย" มาแล้ว 2 ระยะ โดยผลการวิจัยปรากฏผลชัดเจน ว่า ไก่ สายพันธุ์สังเคราะห์มีอัตราการเจริญเติบโตดีกว่าไก่พื้นเมืองและมีประสิทธิภาพในการสืบพันธุ์สูงขึ้น ที่สำคัญมีศักยภาพในการใช้เป็นพ่อแม่พันธุ์ในการผลิตไก่ลูกผสมพื้นเมืองและไก่เนื้อไทยในอนาคต 

พร้อมกันนี้ ทีมวิจัยได้ทำการผสมพันธุ์แบบ inter se (การผสมพันธุ์ภายในรุ่น และพันธุ์เดียวกัน) และคัดเลือกด้านความสม่ำเสมอของลักษณะภายนอกอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลา 5 ชั่วรุ่น ปัจจุบันมีฝูงไก่สายพันธุ์สังเคราะห์ 4 ฝูง ประกอบด้วย ไข่มุกอีสาน สร้อยเพชร สร้อยนิล และแก่นทอง โดยตามกรอบความร่วมมือที่ผ่านมา บริษัทตะนาวศรีไก่ไทย ได้รับสิทธิในการเลือกสายพันธุ์สังเคราะห์จาก 4 ฝูงในการเลือกเป็นคู่ผสมที่เหมาะสมกับสายพันธุ์ทั้งสิ้น 2 สายพันธุ์ ส่วนอีก 2 สายพันธุ์ที่เหลือทางโครงการเปิดโอกาสให้แก่เกษตรกร หรือ ผู้ประกอบการที่สนใจได้ต่อยอดการวิจัยและพัฒนาด้านการปรับปรุงพันธุ์สัตว์ (ไก่พื้นเมือง) เพื่อสร้างสายพ่อพันธุ์สำหรับผลิต "ลูกผสมไก่บ้านไทย" และสายแม่พันธุ์ที่เน้นการคัดเลือกผลผลิตไข่สูง รวมทั้งสายพ่อ แม่พันธุ์ที่เน้นการคัดเลือกด้านการเจริญเติบโต และการให้ผลผลิตไข่ต่อไป

ไข่มุกอีสาน

ด้าน รศ.ดร.มนต์ชัย ดวงจินดา ศูนย์เครือข่ายวิจัยและพัฒนาด้านการปรับปรุงพันธุ์สัตว์ (ไก่พื้นเมือง) กล่าวว่า การขับเคลื่อนอาชีพเกษตรกร สู่ ภาคอุตสาหกรรม ผ่านตัวสินค้าใหม่จะต้องได้รับการยอบรับ และการสนองตอบจากผู้บริโภค และงานวิจัย ถือเป็นใบเบิกทางหนึ่งของการขับเคลื่อนพัฒนาการใช้ประโยชน์ทั้งในภาคเอกชนและกลุ่มเกษตรกร เพื่อค้นหาอัตลักษณ์การตรวจสอบย้อนกับ และส่งเสริมการผลิตไก่พื้นเมืองไทย ไก่ บ้านไทย (ไก่ลูกผสมพื้นเมือง) และการ รับรู้แก่ผู้บริโภค โดยใช้เทคโนโลยีทาง อณูพันธุศาสตร์ เข้ามาช่วยในการศึกษา genetic identity สร้างความเป็นอัตลักษณ์ของไก่พื้นเมืองไทย สู่ภาคอุตสาหกรรมในอนาคต

ผลการทดสอบการเจริญเติบโต พบว่า ไก่ลูกผสมที่มีสายเลือดพื้นเมือง 25% จะมีอัตราการเจริญเติบโตดีกว่าไก่ลูกผสมที่มีเลือดพื้นเมือง 50% และ 75% แต่ไก่ลูกผสมที่มีสายเลือดพื้นเมือง 25% จะมี คอเลสเตอรอล สูง กว่า ดังนั้น ไก่ลูกผสมที่มีเลือดพื้นเมือง 50-75% จึงเหมาะสำหรับกลุ่มผู้บริโภค ที่สนใจอาหารสุขภาพ ส่วนลูกผสมที่มีเลือดพื้นเมือง 25% มีศักยภาพที่จะผลิตเป็นไก่เนื้อ (Thai broiler) ได้ใน 

อนาคตและการขยายฝูง หรือ ฝูงพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ สังเคราะห์ทั้ง 4 สายพันธุ์ที่มีลักษณะรูปร่างสม่ำเสมอไม่น้อยกว่า 95% โดยทั้ง 4 สายพันธุ์พร้อมในการจดทะเบียนรับรองพันธุ์ต่อไป และพร้อมที่จะนำไปใช้ประโยชน์ทั้งในด้านการผลิตไข่ และการผลิตเนื้อ ภายใต้ความร่วมมือในการวิจัย ระยะที่ 3 โดยเน้นการเป็นสายไข่ (egg type) ของสายพันธุ์แก่นทอง ส่วนสายพันธุ์ไข่มุกอีสาน มีศักยภาพด้านการเน้นเป็นสายเนื้อ (meat type), ส่วนสายพันธุ์สร้อยนิลและสร้อยเพชร มีความสามารถทั้งด้านการให้ผลผลิต เนื้อและไข่ได้ดี (dual purposes)

การการเจริญเติบโต รศ.ดร. มนต์ชัย อธิบาย พร้อมยกตัวอย่างน้ำหนักตัวของไก่ทดลองเลี้ยงใน 3 รุ่น ช่วงอายุ 14 สัปดาห์ ว่า มีการการเจริญเติบโตของไก่บ้านลูกผสม จากรุ่นที่ 1-3 ในสายพันธุ์มุกอีสาน สร้อยนิล และสร้อยเพชร มีค่าเฉลี่ยไม่แตกต่างกันทาง สถิติ เท่ากับ 1,380.85, 1,367.13, 1,383.57 กรัม ตามลำดับ (P>0.05) ส่วนสายพันธุ์แก่นทองมีค่าเฉลี่ยน้ำหนักตัวน้อยกว่า 3 สายพันธุ์ เท่ากับ 1281.36กรัม (P < 0.005 )ค่าอัตราพันธุกรรมของลักษณะการเจริญเติบโตของน้ำหนักตัวอายุ 14 สัปดาห์ของแต่ละฝูง สายพันธุ์สร้อยนิล มุก อีสาน และสร้อยเพชร มีแนวโน้มทางพันธุกรรมของน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ย เท่ากับ 10.40 กรัม/รุ่น, 21.28 กรัม/รุ่น และ 22.41 กรัม/รุ่น ตามลำดับ ส่วนสายพันธุ์แก่นทอง มีแนวโน้มค่าเฉลี่ยน้ำหนักตัวลดลง -12.85 กรัม/รุ่น ดังนั้นสายพันธุ์สร้อยนิลและมุกอีสาน มีผลตอบสนองต่อการคัดเลือกของลักษณะการเจริญของน้ำหนักตัวสูงสุด ที่จะใช้ในการสร้างสายพันธุ์เพื่อผลิตไก่ลูกผสมพื้นเมืองที่มีศักยภาพต่อไป

ขาวสร้อยนิล