‘เส้นใยคอลลาเจน’ตอบเทรนด์สิ่งทอ4.0

‘เส้นใยคอลลาเจน’ตอบเทรนด์สิ่งทอ4.0

“ฟิลาเจน” เส้นใยผสมคอลลาเจนจากเกล็ดปลามิลค์ฟิช ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสิ่งทอในเซกเมนต์ “ฟังก์ชั่นนัล เท็กซ์ไทล์” ตอบโจทย์ผู้บริโภคที่ต้องการประโยชน์ใช้สอยมากกว่าความสวยงาม

“ชุดคลุมท้องฟิลาเจน” ตัดเย็บจากเส้นใยฟิลาเจนผสมสารสกัดคอลลาเจนจากเกล็ดปลาทะเล ออกแบบพิเศษเพื่อแก้ปัญหาความไม่สบายตัวจากสรีระที่เปลี่ยนแปลง ผลงานความร่วมมือระหว่าง บมจ.ไทยวาโก้ โดยแบรนด์อินไนน์ บาย วาโก้ กับ “จีอีพี สปินนิ่ง” ผู้ผลิตเส้นใยผสมคอลลาเจน
“ฟิลาเจน” เส้นใยผสมคอลลาเจนจากเกล็ดปลามิลค์ฟิช ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสิ่งทอในเซกเมนต์ “ฟังก์ชั่นนัล เท็กซ์ไทล์” ตอบโจทย์ผู้บริโภคที่ต้องการประโยชน์ใช้สอยมากกว่าความสวยงาม สร้างความแตกต่างจากคู่แข่งที่มีค่าแรงงานถูกกว่าไทย


ติดอาวุธสิ่งทอไทย


จากประสบการณ์อุตสาหกรรมสิ่งทอในไต้หวัน ที่ต้องเผชิญกับการสูญเสียขีดความสามารถในการแข่งขัน เพราะต้นทุนการผลิตสูงขึ้น โดยเฉพาะค่าแรงงานแต่สุดท้ายเริ่มฟื้นตัวมาได้ด้วยนวัตกรรม จึงเป็นที่มาแนวคิดพัฒนาเส้นใยเซลลูโลสผสมสารสกัดคอลลาเจนจากเกล็ดปลาทะเล
นายเซิ่น จุ้น ซิน กรรมการผู้จัดการ บริษัท จีอีพี สปินนิ่ง จำกัด กล่าวว่า จากการเล็งเห็นถึงแนวโน้มกระแสโลก และพฤติกรรมผู้บริโภคที่หันมาให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพและความงาม ทำให้จีอีพี สปินนิ่ง และทีมงานผู้เชี่ยวชาญด้านนาโนเทคโนโลยีจากไต้หวัน วิจัยและพัฒนาเส้นใยผสมคอลลาเจน

โดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยใส่สารสกัดคอลลาเจนเข้าไปในเส้นใยวิสโคสเรยอน ทำให้เส้นใยมีคุณสมบัติพิเศษคือ รักษาความชุ่มชื้นแก่ผิว ยับยั้งแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของกลิ่นไม่พึงประสงค์ ป้องกันรังสียูวีและให้อุณหภูมิผิวสัมผัสที่เย็นพอเหมาะ
คุณสมบัติเหล่านี้รองรับโดยการวิจัยพัฒนาทางวิทยาศาสตร์ที่พิสูจน์ได้ จะติดทนบนเส้นใยแม้จะผ่านการซักล้าง อีกทั้งเส้นใยฟิลาเจนยังผลิตมาจากวัสดุธรรมชาติ 100% สามารถย่อยสลายเองได้ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม


“เราใช้เวลาถึง 3 ปีลองผิดลองถูกหลายครั้งกว่าได้เส้นใยคุณสมบัติพิเศษดังกล่าว ถือเป็นมิติใหม่แห่งอุตสาหกรรมสิ่งทอไทยที่จะช่วยยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์และคุณภาพชีวิตผู้บริโภค โดยไม่ใช้ราคาเป็นจุดขายแข่งกับสิ่งทอจากประเทศเพื่อนบ้าน” นายเซิ่น จุ้น ซิน กล่าว


ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการสิ่งทอไทยสามารถก้าวสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 ได้จากการใช้เส้นใยคอลลาเจนเป็นส่วนผสมหรือถักทอร่วมกับผ้าฝ้าย ผ้าลินิน ผ้าไหม ผ้าขนแกะและเส้นใยสังเคราะห์อีกหลายชนิด เพื่อเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ และให้ผลิตภัณฑ์ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นต่อไป ยกตัวอย่างที่มีการผลิตและเข้ามาทำตลาดแล้วบางส่วน อาทิ ชุดชั้นในสตรี ชุดกีฬา เครื่องนอนและชุดตกแต่งในแบรนด์ชั้นนำต่างๆ ที่กำลังมองหานวัตกรรมมาสร้างความแตกต่างในตลาด


นายเซิ่น จุ้น ซิน กล่าวอีกว่า เส้นใยผสมคอลลาเจนจากเกล็ดปลามิลค์ฟิช มีเส้นทางการเติบโตคล้ายกับผลิตภัณฑ์จากฝ้ายธรรมชาติอย่าง “คอตตอน ยูเอสเอ” ที่ต้องใช้ระยะเวลาสร้างการรับรู้และคุ้นเคยในผู้บริโภคทั่วไป ขณะที่กลุ่มเป้าหมายหลักของบริษัทคือ ผู้ผลิตสินค้าระดับพรีเมียมที่ต้องการตอบสนองความต้องการของกลุ่มผู้รักสุขภาพและความงาม
ทั้งนี้ ไทยเป็นประเทศแรกที่บริษัทเข้ามาทำตลาดอย่างจริงจังในภูมิภาคอาเซียน เนื่องจากไทยเป็นผู้ผลิตระดับต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำที่สมบูรณ์ มีพื้นฐานที่ดีและเป็นตลาดใหม่ที่ยังไม่มีผู้ประกอบการเข้ามาทำตลาดในด้านของนวัตกรรมเส้นใยรูปแบบใหม่ๆ อย่างจริงจัง


ค้นหาคอลลาเจนในปลาไทย


ที่ผ่านมารายได้ของจีอีพี สปินนิ่ง ปีละ 400-500 ล้านบาท แต่จากการเปิดตัวเส้นใยฟิลาเจนคาดว่าในปีนี้จะเพิ่มเป็น 1,000 ล้านบาท และคาดว่าจะมีส่วนแบ่งทางการตลาดในกลุ่มสิ่งทอและเส้นใยที่มีคุณสมบัติพิเศษประมาณ 10% ปัจจุบันมีพันธมิตรทางธุรกิจแล้วกว่า 50 ราย อาทิ อินไนน์ บาย วาโก้ พาซาญ่า แกรนด์สปอร์ต ผลิตสินค้า อาทิ ชุดชั้นใน เสื้อกีฬา ชุดเครื่องนอน และคาดว่าในอนาคตจะมีไม่ต่ำกว่า 100 ราย
บริษัทมีแผนที่จะใช้ไทยเป็นฐานการผลิตสินค้าครบวงจร ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในการสกัดคอลลาเจนจากเกล็ดปลานวลจันทร์ทะเล ซึ่งมีสายพันธุ์เดียวกับปลามิลค์ฟิชจากไต้หวัน หากทำได้ก็ไม่จำเป็นต้องนำเข้าวัตถุดิบสารสกัดจากไต้หวัน เพื่อความสะดวกในการผลิตสินค้าส่งขายตลาดในภูมิภาคอาเซียน อาทิ อินโดนีเซียและมาเลเซีย


นางสาวนิสากร จึงเจริญธรรม รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า สถานการณ์ปัจจุบันของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มทั้งภายในประเทศและต่างประเทศมีอัตราการแข่งขันที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของทางภาครัฐ ที่ผลักดันเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม  ฉะนั้น ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มต้องตื่นตัวในเรื่องการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันให้มากขึ้น ผ่านการประยุกต์ใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีมากยิ่งขึ้น ตั้งแต่การเพิ่มประสิทธิภาพ-ลดต้นทุนการผลิต การเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ ตลอดจนการสร้างเครือข่ายในกลุ่มอุตสาหกรรม (ซัพพลายเชน) เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมมูลค่าสูงให้มีศักยภาพเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตัวเลขมูลค่าการส่งออกสิ่งทอในช่วงต้นปี 2560 (มกราคม-เมษายน) 1,373 ล้านดอลลาร์ เติบโตขึ้นกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปี 2559 ถึง 5.65%