จัดการซึมเศร้าอย่างเข้าใจ

จัดการซึมเศร้าอย่างเข้าใจ

เบื่อหน่ายชีวิตแค่ไหน ถึงเรียกว่า เป็นโรคซึมเศร้าแล้ว

.....................

หากรู้สึกเศร้าและเบื่อเป็นครั้งคราว ก็เป็นเรื่องธรรมดา 

แต่ถ้าเมื่อใดอาการเหล่านี้เกิดขึ้นทุกวัน ติดต่อกันเกือบสองอาทิตย์ แล้วรู้สึกว่า คุณภาพชีวิตไม่ดี รัชนี แมนเมธี หรือป้าหนู วิทยากรเรื่องจิตเวชและสุขภาพจิต และประธานกรรมการบริหารศูนย์บริการคนพิการทางจิตสายใยครอบครัว บอกว่า ต้องรีบไปหาจิตแพทย์ เพราะเธอเคยเป็นเช่นนั้นมาก่อน 

“คนป่วยเป็นโรคซึมเศร้า ดูเหมือนมาจากปัญหาทางจิตใจ แต่มาจากสมองที่ควบคุมความคิด เกิดจากสารสื่อประสาทในสมองไม่ปกติ ทำให้ไม่อยากคุยกับใคร ไม่สนุก โดยปัจจุบันมีคนป่วยเป็นโรคซึมเศร้าประมาณ 4-10 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมด อีกไม่กี่ปีโรคที่ฆ่าชีวิตคน ซึมเศร้าจะติดอันดับหนึ่ง องค์การอนามัยจึงพยายามรณรงค์เรื่องนี้”

 ย้อนไปถึงตอนที่รัชนีเป็นครูสอนหนังสือที่โรงเรียนสายปัญญา ตั้งแต่วัยสาวจนเข้าสู่วัยกลางคน จนมาถึงจุดเบื่อหน่ายชีวิต และนำไปสู่การป่วยเป็นโรคซึมเศร้า

“เพราะสารเคมีในสมองไม่สมดุล เนื่องจากสารสื่อประสาทที่ผู้ป่วยซึมเศร้าขาดก็คือ สารที่ทำให้รู้สึกสดชื่น ตอนนั้นก็ไม่คิดว่าตัวเองป่วย คิดแค่ว่าสิ่งแวดล้อมน่าเบื่อ เวลาสอนเด็กๆ แล้วพวกเขาไม่ตั้งใจเรียน เราก็หงุดหงิด”

เธอพยายามอธิบายให้เห็นว่า การป่วยเป็นโรคซึมเศร้า เป็นปัญหาทางสมอง หากมีปัญหาเรื่องจิตใจด้วย ก็สร้างปัญหาให้ชีวิตมากขึ้น

“เป็นโรคซึมเศร้ามาปีกว่าๆ ทำร้ายจิตใจคนรอบข้างอยู่เรื่อยๆ โดยไ่ม่รู้ตัว ตอนนั้นไม่อยากทำอะไร สามีต้องทำงานบ้านให้ เขาก็เห็นความผิดปกติ เราเองก็เบื่อสามี ขอหย่าเลย ตอนนั้นแอบซะใจ

นัดไปที่ว่าการอำเภอ เราไปตามนัด แต่สามีไม่ยอมไป ”

ส่วนวินาทีที่เลวร้ายที่สุด เธอบอกว่า คิดจะฆ่าตัวตาย ทั้งๆ ที่ไม่ได้ผิดหวัง หรือเศร้าเรื่องอะไร แต่คิดว่า เป็นทางที่ควรทำ รู้สึกตัวเองไร้ค่าที่จะอยู่บนโลกใบนี้

“ตอนนั้นแม้เราจะรักลูกมาก แต่ลูกก็ไม่มีอิทธิพลในการยับยั้งการทำร้ายตัวเอง ธรรมะกลับทำให้เรายับยั้งชั่งใจ เพราะเรากลัวบาป”

กระทั่งหมอฟันที่คุ้นเคยกัน แนะว่าควรไปพบจิตแพทย์ รัชนีเล่าให้หมอฟังว่า อยากไปปลีกวิเวก ่หมอบอกว่า เราไม่ได้อยากปลีกวิเวก แต่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า

“ตอนนั้นไม่เชื่อว่าตัวเองป่วย แต่ก็กินยา เมื่อกินไปได้สามเดือน หมอก็บอกว่าหายแล้ว แต่ต้องกินยาต้านเศร้า เพราะเกรงว่าจะป่วยซ้ำ ถ้าป่วยซ้ำต้องกินยาแรงกว่าเดิม เราก็กลัวว่าจะมีคุณภาพชีวิตไม่ดี “ รัชนี เล่าถึง 15 ปีที่แล้วที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า โดยปัจจุบันวัยล่วงเลยมา 67 ปี เธอก็ยังไม่หยุดกินยา 

จากผู้ป่วยซึมเศร้าที่เข้าใจภาวะการป่วยเป็นอย่างดี รัชนีผันตัวมาเป็นวิทยากรที่ให้ความรู้ผู้ป่วยซึมเศร้า และให้คำปรึกษาผู้ป่วยจิตเวชทุกรูปแบบ ไม่เว้นแม้กระทั่งผู้ต้องขัง

 “เมื่อเรามาเป็นวิทยากร ก็ได้รู้ว่า ถ้าจะหายป่วย ต้องใช้จิตบำบัด และการฟื้นฟูสมรรถภาพ ควบคู่ไปด้วย เหมือนธรรมะจัดสรร เราใช้วิธีนี้ ทำให้หายไว”

  แม้เธอมาถึงจุดที่รับมือกับอาการซึมเศร้าได้แล้ว แต่ก็ต้องหาความรู้เพิ่มเติมอยู่เรื่อยๆ ประกอบกับมีประสบการณ์จากตัวเองและการให้คำปรึกษา จนกลายเป็นวิทยากรเดินสายทั่วประเทศตั้งแต่ปี 2548

อีกบทบาทเธอเป็นประธานคณะทำงานพิทักษ์สิทธิผู้อยู่กับโรคจิตเวช เธอเล่าถึงการทำงานเรียกร้องให้ผู้ป่วยว่า โรคจิตเวชยังแยกย่อยออกไปได้อีก ทั้งซึมเศร้า ไบโพล่าร์ จิตเวช ออทิสติก ย้ำคิดย้ำทำ โรคเกี่ยวกับสมอง ฯลฯ

“คนป่วยเหล่านี้ ถ้าเดินไปหาหมอ ประกันสังคมจะไม่คุ้มครองให้ ต้องอาการหนักหามเข้าโรงพยาบาล หมอจะรักษาให้แค่ 15 วัน หลังจากนั้นต้องจ่ายเงินเอง ซึ่งระยะเวลาแค่นี้ผู้ป่วยจิตเวชไม่สามารถฟื้นตัว ต้องรักษาไม่ต่ำกว่าสามเดือน แรงงานที่ป่วยเป็นจิตเวชจึงลำบากมาก เราคิดว่าไม่ยุติธรรม หลายฝ่ายเห็นปัญหา ก็พยายามต่อสู้เรื่องนี้ และเมื่อ 5 ปีที่แล้วพวกเราสู้จนมีประกาศว่า จะให้การคุ้มครองแรงงานที่เป็นจิตเวชให้สามารถเบิกจ่ายประกันสังคมได้มากกว่า 15 วัน”

จากที่รู้สึกว่าตัวเองไม่มีคุณค่า ณ วันนี้เธอหันมาทำงานเพื่อผู้ป่วยจิตเวช และทำงานเพื่อสังคมที่หลากหลาย  อาทิิ เป็นผู้ให้คำปรึกษาด้านจิตสังคม ศาลอาญาธนบุรี และศาลจังหวัดตลิ่งชัน

“เป็นที่ปรึกษาให้ผู้ต้องหาในเรือนจำและที่ปรึกษาให้ผู้พิพากษาในเรื่องจิตเภท ผู้ต้องหาบางคนยิงพ่อตัวเองเพราะเกิดภาพหลอน แต่ผู้พิพากษาไม่เข้าใจ จะยัดเข้าคุกอย่างเดียว ก็ป่วยซ้ำ เมื่อเราเข้าไปทำงานในเรือนจำก็ต้องหาความรู้ทางกฎหมายเพิ่มเติม ก็ฟันฝ่าไปได้ั

การทำงานส่วนนี้ ศาลจะพิจารณาแล้วส่งผู้ต้องหามาปรึกษาเรา เราต้องเข้าไปในเรือนจำ ซึ่งคนพวกนี้พร้อมจะฆ่าตัวตาย เราต้องทำให้เขาอยากมีชีวิตอยู่ต่อไป เพราะผู้ต้องหาพูดกับใครไม่ได้ แต่พูดกับเราได้ ทำให้เขาได้ระบาย" 

    เพราะทำงานคลุกคลีลงลึกกับผู้ป่วยจิตเวชมาเยอะ และตัวเธอเองก็เคยป่วย จึงเห็นว่า การให้ความรู้ที่ถูกต้องเป็นเรืื่องสำคัญ จึงอยากให้ความรู้เรื่องจิตเวชเข้าไปอยู่ในการศึกษาภาคบังคับ 

“หลายคนไม่รู้ว่าตัวเองป่วย ถ้ามีความรู้ ก็จะเข้าสู่กระบวนการรักษาได้เร็ว เราพยายามผลักดันเรื่องการให้ความรู้เรื่องนี้ในระบบการศึกษา เพราะกรมสุขภาพจิตก็เห็นด้วย”