พลิกเกมโตนอกบ้าน ยกฐานะ 'เจดับเบิ้ลยูดี'

พลิกเกมโตนอกบ้าน ยกฐานะ 'เจดับเบิ้ลยูดี'

เมื่อแหล่งสร้างเงินในประเทศหดหาย หลังตัวเลขการขยายตัว 'จีดีพี' เมืองไทยยังต่ำ 'ชวนินทร์ บัณฑิตกฤษดา' นายใหญ่ 'เจดับเบิ้ลยูดี อินโฟโลจิสติกส์' จำต้องหาทางเติบโตใหม่ ด้วยการสยายปีกตลาดต่างประเทศ

ยังมองไม่เห็นว่าตัวเลขการขยายตัวของ 'ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ จีดีพี' จะกลับมาเติบโตในระดับสูง หากเมืองไทยยังไม่มีอุตสาหกรรมใหม่ที่ดึงดูดการลงทุนใหม่ๆ เข้ามาผลักดันตัวเลขจีดีพีคาดว่าปี 2560 อยู่ที่ 'ระดับ3%' เมื่อเป็นเช่นนี้จะหวังหาการเติบโตในประเทศคงทำได้ยากมาก !!

บมจ.เจดับเบิ้ลยูดี อินโฟโลจิสติกส์ หรือ JWD ผู้ประกอบการบริการโลจิสติกส์ภาคพื้นดินครบวงจร จำเป็นต้องปรับ 'กลยุทธ์ธุรกิจใหม่' ด้วยการออกไปชอปปิงในต่างแดน น่าจะช่วยผลักดันฐานะการเงินได้ดีกว่านั่งรอการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศที่ไม่รู้ว่าจะมาเมื่อไหร่..? หรือมาก็ต้องใช้เวลาลงทุนไม่ต่ำกว่า 5 ปี แม้ว่าปัจจุบันรัฐบาลพยายามเร่งขับเคลื่อน 'การลงทุนเอกชน' ทั้งโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC และ โครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่ก็ต้องใช้เวลา...

สะท้อนผ่านตัวเลข ผลประกอบการของ JWD ปี 2559 ที่บริษัทพลิกขาดทุนสุทธิ 8.86 ล้านบาท ถือว่าเป็นการขาดทุนครั้งแรกในรอบ 10 กว่าปี จากอดีตผลประกอบการเติบโตเป็นตัวเลข 'สองหลัก' 

'ฉะนั้น หากต้องการเห็นการเติบโตเป็นตัวเลขสองหลัก บริษัทต้องแตกตัวออกไปหาแหล่งผลิตเงินใหม่ในต่างแดนทดแทนในประเทศ และประเทศกัมพูชา ,เมียนมา และ ลาว คือเป้าหมายแรกที่บริษัทเลือกเข้าไปลงทุน'

'ชวนินทร์ บัณฑิตกฤษดา' ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เจดับเบิ้ลยูดี อินโฟโลจิสติกส์ หรือ JWD บอกกับ 'กรุงเทพธุรกิจ BizWeek' ว่า เริ่มมองหาโอกาสการลงทุนในต่างประเทศเมื่อ 2 ปีก่อน ด้วยการออกไปลงทุนในประเทศลาว เมียนมา และกัมพูชา เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยนำธุรกิจการให้บริการทางด้านโลจิสติกส์ที่หลากหลาย ตั้งแต่การให้บริการรับฝากและบริหารสินค้า การให้บริการขนส่งสินค้า การบริการขนย้าย และการให้บริการรับฝากเอกสารและข้อมูล

โดยคาดว่าการลงทุนใน 3 ประเทศ (ลาว กัมพูชา เมียนมา) จะถึง 'จุดคุ้มทุน' ในปี 2561 และเป็น 'กำไร' หลังจากช่วงที่ผ่านมามีจำนวนลูกค้าเข้ามาใช้บริการเพิ่มมากขึ้น โดยตลาดที่บริษัทโฟกัสเป็นพิเศษ คือ 'กัมพูชา' เพราะว่าเป็นตลาดที่ความต้องการมีมากเกินความคาดหมายที่มองไว้ก่อนเข้าไปลงทุน โดยพบว่ามีอัตราการ 'เติบโต7-8%' ซึ่งกลายปัจจุบันบริษัทมีพื้นที่ห้องเย็นไม่เพียงพอในการเซอร์วิสลูกค้า

ส่วนตลาดที่ต่ำกว่าการคาดการณ์จะเป็น 'เมียนมาและลาว' บริษัทเตรียมพื้นที่เช่าไว้ประมาณที่กัมพูชา แต่กลับพบว่า ตลาดเมียนมากับเติบโตช้า ขณะที่ตลาดลาวเป็นไปตามที่บริษัทมองไว้ก่อนมาลงทุนแล้วเพราะว่าเป็นตลาดเล็กจึงไม่ได้ผิดคาดมากนัก

สำหรับ สเต็ปต่อไปคือ การศึกษาเข้าไปลงทุน 'ซื้อกิจการ' (M&A) ในประเทศ 'อินโดนีเซียและเวียดนาม' เช่น คลังสินค้า ,ห้องเย็น เป็นต้น หากไม่มีอะไรผิดพลาดคาดว่าจะเห็นการลงทุนใน 2 ประเทศ ภายในปีนี้ หลังความต้องการ (ดีมานด์) ด้านโลจิสติกส์ในอินโดนีเซียและเวียดนามอยู่ในระดับสูง อย่าง ในอินโดนีเซียมีต้นทุนด้านโลจิสติกส์สูงถึง 20% ขณะที่ประเทศไทยอยู่ที่ 10%

ฉะนั้น บริษัทมองเห็นโอกาสเติบโตยังมีอีกกว้าง ประกอบกับเป็นประเทศอินโดนีเซียมีประชากรกว่า 240 ล้านบาท ความต้องการสินค้าประเภทอุปโภคและบริโภคจึงเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ สอดคล้องกับธุรกิจบริการคลังสินค้าที่บริษัทเข้าไปลงทุน

ล่าสุด กำลังคุยอยู่กับพาร์เนอร์ท้องถิ่นในการเข้าไปซื้อกิจการ ซึ่งบริษัทมีขีดความสามารถซื้อกิจการราว 3,000-6,000 ล้านบาท แต่ในอินโดนีเซียและเวียดนามไซด์ไม่ใหญ่มาก 'เราจะไม่พยายามลงทุนเกินตัว และไม่ก่อหนี้ก้อนใหญ่ให้กระทบผู้ถือหุ้น'

โดยแหล่งเงินลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ บริษัทยังมีวงเงินที่ได้ขออนุมัติออกหุ้นกู้ไว้เหลืออยู่ 2,500 ล้านบาท และการจัดตั้งกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REIT) ขนาด 1,500 ล้านบาท และยังมีวงเงินกับสถาบันทางเงินอีก ปัจจุบันมี 'หนี้สินต่อทุน' (D/E) 0.9 เท่า ซึ่งเงินลงทุนน่าจะเพียงพอต่อการลงทุนใหม่ๆ ได้

สำหรับ เป้าหมายขององค์กรแห่งนี้ นั่นคือ ในปี 2563 สัดส่วนรายได้ต่างประเทศเป็น 25% จากปัจจุบัน 8-10% เพื่อสร้างการเติบโตและบรรลุเป้าหมายสู่การเป็นผู้นำธุรกิจให้บริการด้านโลจิสติกส์ในภูมิภาคอาเซียน และจะมีการลงทุนใหม่ๆ ในภูมิภาคอาเซียนอีกเพื่อเสริมสร้างธุรกิจให้มีเน็ตเวิร์คความครบวงจร

ประธานกรรมการบริหาร เล่าถึงธุรกิจอื่นๆว่า สำหรับแผนลงทุนในประเทศ 'ธุรกิจคลังสินค้า' ในปี 2560 บริษัทมีการปรับโมเดลธุรกิจคลังสินค้าประเภทห้องเย็น เพื่อลดการพึ่งพาสินค้าอาหารทะเลที่มีความต้องการเช่าพื้นที่ลดลง จากเดิมที่มีสัดส่วนการเช่าพื้นที่เป็นอาหารทะเล 70% ของรายได้คลังสินค้าห้องเย็น แต่ในปีนี้บริษัทตั้งเป้าลดสัดส่วนเหลือ 40% โดยจะมุ่งเน้นการรับฝากสัตว์ปีกเข้ามาทดแทน

พื้นที่คลังสินค้าห้องเย็นบนถนนบางนา-ตราด กม.19 ที่อยู่ในพื้นที่เขตปลอดภาษี (Free Zone) ปัจจุบันมีลูกค้าสนใจเช่าพื้นที่เพื่อใช้เป็น International Hub กระจายสินค้าในภูมิภาค ส่วนห้องเย็นบนถนนสุวินทวงศ์ ได้ลงทุนสร้างห้องแช่แข็ง เพื่อสร้างรายได้เพิ่มขึ้น คาดว่าจะเริ่มมีรายได้เข้ามาในไตรมาส 3 ปี 2560 และทั้งปีนี้จะมีรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 5-6 ล้านบาท ส่วนปี 2561 คาดว่าจะมีรายได้ราว 20 ล้านบาท อีกทั้งได้ลงทุนติดตั้งแผงโซลาร์ รูฟท็อปบนหลังคาอาคารคลังสินค้าห้องเย็น ซึ่งสามารถลดค่าไฟฟ้าได้กว่า 3 ล้านบาทต่อปี

'ธุรกิจรับฝากและบริหารยานยนต์และชิ้นส่วน' คาดว่าจะมีการเติบโตที่ดีหลังจาก 5 ปีที่ผ่านมาธุรกิจรถยนต์หดตัว ทว่าหลังจากบริษัทได้ร่วมมือกับบริษัท สยามกลการอุตสาหกรรม จำกัด ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์รายใหญ่ จัดตั้งบริษัทร่วมทุนเพื่อขยายธุรกิจสู่การให้บริการด้านโลจิสติกส์ชิ้นส่วนยานยนต์ และบริษัทยังคาดหวังการขยายธุรกิจการรับฝากและบริหารยานยนต์และชิ้นส่วนมากขึ้นในส่วนของลูกค้าหลัก อย่าง ค่ายรถยนต์นิสสัน ที่ปีนี้มีแผนการส่งออกรถยนต์ไปยังประเทศเพื่อนบ้านเพิ่มขึ้น

ส่วน 'ธุรกิจรับฝากและบริหารสินค้าอันตราย' บริษัทได้เปิดให้บริการคลังสินค้าใหม่ที่ขยายเพิ่มเติมในแหลมฉบังด้านนอกท่าเรือ และจะเริ่มรับรู้รายได้เต็มปีจากศูนย์กระจายสินค้าเคมีภัณฑ์ (JCS) จะรองรับการจัดการสินค้าเคมีภัณฑ์ที่ออกจากท่าเรือเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มมากยิ่งขึ้น คาดหวังว่าปีนี้จะเพิ่ม Occupancy ให้เป็นราว 60-70% จากปัจจุบันมี Capacity อยู่ที่ 40-50% และในปีหน้าบริษัทก็มีแผนจะขยายคลังสินค้าอันตรายด้านนอกท่าเรือเพิ่มเติมอีก

ขณะที่การรับฝากและบริหารคลังสินอันตรายด้านในพื้นที่ท่าเรือแหลมฉบัง ปีนี้ไม่ได้มีค่าใช้จ่ายในเรื่องของค่ารายได้แบ่งให้ท่าเรือย้อนหลัง 5 ปี แล้ว แต่จะเป็นการแบ่งรายได้ให้กับท่าเรือจำนวน 2-3 ล้านบาทต่อเดือน ซึ่งปริมาณสินค้าหมุนเวียน คาดว่าปีนี่จะเติบโตไม่ต่ำกว่า 5% ซึ่งจะเข้ามาชดเชยค่าใช้จ่ายที่จ่ายให้กับท่าเรือได้

'ธุรกิจขนย้าย' บริษัทตั้งเป้าขยายพื้นที่มากขึ้น โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างศึกษาขยายไปยังพื้นที่ในเขตกรุงเทพตะวันออก เช่น กรุงเทพกรีฑา ซึ่งจะส่งผลให้รายได้เติบโตอย่างมีนัยสำคัญ และธุรกิจจัดเก็บเอกสาร ปีนี้จะขยายการให้บริการไปในประเทศกัมพูชามากขึ้น และอยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ในการขยายธุรกิจไปยังประเทศพม่าเพิ่มเติม

'ชวนินทร์' บอกต่อว่า ยังมองเห็นโอกาสเติบโตของธุรกิจให้บริการขนย้าย โดยขยายการลงทุนขยายพื้นที่ห้องเก็บของให้เช่า (Self-Storage) และบริการรับฝากสินค้ารายกล่อง (Box-Storage) เนื่องจากปัจจุบันพบเทรนด์ของพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป หันมาพักอาศัยในคอนโดมิเนียม หรือเช่าอพาร์ตเมนต์ ซึ่งอาจมีพื้นที่จัดเก็บสิ่งของไม่เพียงพอ หรือเป็นผู้ประกอบการธุรกิจ อาทิ ธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่ต้องการพื้นที่จัดเก็บสต็อกสินค้า

โดยบริษัทมีแผนขยายพื้นที่ห้องเก็บของให้เช่าในพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นในอีก 3-5 แห่ง ภายในระยะเวลา 2-3 ปีข้างหน้า เพิ่มเติมจากปัจจุบันที่มีจำนวน 1 แห่ง ตั้งอยู่บนถนนกรุเทพกรีฑา จำนวน 80 ห้อง โดยคาดว่าลูกค้าจะเลือกใช้บริการบริษัทรับขนย้ายสิ่งของ เพราะว่าบริษัทมีความเชี่ยวชาญเข้ามาดำเนินการเพื่อความสะดวกสบายให้

นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างการพัฒนาแอพพลิเคชั่นเพื่อให้ลูกค้าติดต่อขอใช้บริการ ชำระเงิน การขอรับสินค้า ซึ่งมั่นใจว่าด้วยแนวทางการดำเนินงานดังกล่าวในปีนี้ จะทำให้ลูกค้าเข้ามาใช้บริการเพิ่มขึ้นและช่วยผลักดันการเติบโตได้ตามเป้าหมายที่วางไว้

'เราไม่หยุดนิ่งในการเสนอบริการใหม่ๆ และพยายามขยายฐานลูกค้าเดิมเพื่อให้ได้รับการเซอร์วิสจากเราให้มากขึ้น ซึ่งก็มาชดเชยในธุรกิจที่ไม่เติบโต แต่เรามีรายได้ส่วนอื่นๆ ที่เราขยายออกไปเข้ามา' 

รวมทั้ง กำลังศึกษาขยายงานด้านโลจิสติกส์เข้าไปด้านอื่นๆ เช่น บริหารท่าเรือ ,ธุรกิจ Oil & Gas ซึ่งเป็นธุรกิจที่ต้องการความเชี่ยวชาญและชำนาญ บริษัทต้องหาธุรกิจประเภทดังกล่าวเข้าไปลงทุน เพราะว่าเป็นตลาดที่หากมีต่างชาติเข้ามาลงทุนจะเสียเปรียบ

นอกจากนี้ บริษัทพยายามขยายธุรกิจเข้าไปในธุรกิจที่อยู่ในเทรนด์ของพฤติกรรมผู้บริโภคมากขึ้น ยกตัวอย่าง ธุรกิจอีคอมเมิร์ซกำลังเติบโตระดับสูง บริษัทก็เข้าไปด้วยการบริการขนส่งทางมอเตอร์ไซด์ชนิดเร่งด่วน เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้รวดเร็วและสะดวกสบาย

ตามแผนของบริษัทในการเพิ่มจำนวนรถขนส่งปีนี้เพิ่มเป็น 60 คัน และเพิ่มรถยนต์เล็ก จำนวน 30-40 คัน รวมถึงรถจักรยานยนต์เพื่อขยายบริการใหม่ๆ ซึ่งเริ่มดำเนินการได้ในไตรมาส 2/2560 วางงบลงทุนไว้ราว 300-500 ล้านบาท

'เราต้องปรับหารายได้เสริมทางใหม่ในช่วงที่ตลาดธุรกิจหลักอย่างตลาดรถยนต์หดตัวมากว่า 5 ปี'

เขาวิเคราะห์ทิศทางผลประกอบการปีนี้ ว่า บริษัทตั้งเป้ารายได้เติบโต 7% จากปีก่อนที่มีรายได้ 2,250 ล้านบาท โดยไตรมาส 2 ปี 2560 แนวโน้มเติบโตต่อเนื่องจากไตรมาสแรก ซึ่งเป็นการเติบโตทั้งธุรกิจคลังสินค้าห้องเย็น, ธุรกิจรับบริหารจัดการยานยนต์และชิ้นส่วน ,ธุรกิจรับฝากและบริหารสินค้าอันตราย และธุรกิจรับขนส่งสินค้า

ด้านปีหน้า (2561) จะเป็นปีที่ผลการดำเนินงานกลับมา 'เทิร์นอะราวด์' โดยรายได้จะเติบโตเป็นตัวเลข 'สองหลัก' จากการขยายการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ โดยผลของการลงทุนจะเริ่มเก็บเกี่ยวเต็มที่แล้ว “ปีหน้าเราจะไม่ขาดทุนแล้ว”

สุดท้าย 'ชวนินทร์' ทิ้งท้ายว่า หากมัวแต่นั่งรอโครงการลงทุนของรัฐ เป้ารายได้ปีนี้คงไม่เติบโต 7% ปีนี้หวังรายได้จากต่างประเทศมาช่วยให้ผลประกอบการเติบโต